MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ ดูแลครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่
บทความ

PLAYING: พัฒนาการทารกในครรภ์ - 40 สัปดาห์ ลูกโตแค่ไหนแล้วนะ

Add this post to favorites

พัฒนาการทารกในครรภ์ - 40 สัปดาห์ ลูกโตแค่ไหนแล้วนะ

ตลอดเวลาที่ทารกอยู่ในครรภ์ ลูกมีพัฒนาการอะไรบ้างนะ ชวนคุณแม่มาดูพัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ ตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าตั้งครรภ์จนถึง 40 สัปดาห์กันดีกว่าค่ะ

4นาที อ่าน

เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษหน่อยนะคะ แม้ว่าช่วงแรกของการตั้งครรภ์อาจจะดูไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่จริงๆ แล้ว ลูกในครรภ์เติบโตอยู่ตลอด มาดูพัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์กันดีกว่าค่ะ ว่าทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตไปถึงไหนแล้ว

 

พัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์

 

พัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์

 

เรียนรู้พัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ เดือนที่ 1 ของการตั้งครรภ์ (สัปดาห์ที่ 1-4)

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 1 – 2

ในสัปดาห์ที่ 1 - 2 ของการตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า กำลังเริ่มตั้งครรภ์ เพราะยังไม่มีสัญญาณหรืออาการใดๆ ที่จะบ่งบอกว่าตั้งครรภ์ แต่ความจริงแล้วพัฒนาการทารกในช่วงนี้ ขนาดของทารกยังเหมือนวุ้นไข่ฝังตัวที่ผนังมดลูก ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นคุณแม่ต้องดูแลร่างกาย ให้มีสุขภาพแข็งแรงนะคะ เพราะมีอีกหนึ่งชีวิตน้อยๆ ในครรภ์แล้ว

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 3

ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์จะมีขนาดเล็กกว่าเม็ดเกลือ แต่มีพัฒนาการด้วยการฝังตัวอยู่ในผนังมดลูกของแม่ มีการพัฒนาระบบประสาทและสมอง เริ่มมีหัวใจ และเริ่มมีแขนขา ซึ่งจะสามารถเห็นชัดเจนขึ้นในสัปดาห์ต่อไป

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 4

ตัวอ่อนจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีขนาดความยาว 4-6 มม.หรือประมาณใหญ่กว่าเมล็ดงาดำ และจะเริ่มมีถุงน้ำคร่ำทำหน้าที่ป้องกันตัวอ่อนจากสิ่งแวดล้อม เช่น จากการกระทบกระเทือน และช่วยควบคุมอุณหภูมิครรภ์ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตน้อยๆ สามารถเคลื่อนไหว และสามารถพัฒนาอวัยวะสำคัญต่างๆ ได้

 

เรียนรู้พัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ เดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์ (สัปดาห์ที่ 5-8)

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 5

ช่วงนี้เจ้าตัวน้อยกำลังมีการเจริญเติบโตของกลุ่มเซลล์ให้กลายเป็นเนื้อเยื่อ 3 ชั้น คือ เนื้อเยื่อชั้นนอกหรือที่เรียกว่า Ectoderm จะสร้างระบบประสาท เริ่มจากที่สมอง เส้นประสาทที่สันหลัง กระดูกสันหลัง ต่อมต่างๆ และค่อยๆเจริญเติบโตเป็นผิวหนัง เส้นผม เล็บ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง และฟัน เนื้อเยื่อชั้นกลางหรือที่เรียกว่า Mesoderm จะสร้างหัวใจ ระบบหมุนเวียนเลือด ระบบกล้ามเนื้อ อวัยวะสืบพันธุ์ และระบบขับถ่าย เนื้อเยื่อชั้นในที่เรียกว่า Endoderm ทำหน้าที่สร้างส่วนต่างๆ ของร่างกายให้ครบสมบูรณ์ เช่น พัฒนาเป็นระบบย่อย อวัยวะหายใจ ตับ และตับอ่อน นั่นเอง

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 6

ทารกมีพัฒนาการเติบโตอย่างรวดเร็ว ลูกอาจมีขนาด 5-6 มิลลิเมตร หรือขนาดเท่ากับเมล็ดถั่ว ช่วงนี้ จมูก ปาก หูก็เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างคร่าวๆ บ้างแล้ว หัวใจของเจ้าตัวน้อยจะเต้นถี่ถึง 100-160 ครั้งต่อนาที ซึ่งเร็วกว่าคุณแม่ถึงสองเท่า

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 7

ทารกมีขนาดเท่าผลบลูเบอร์รี่ หรือมีความยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร กระดูกบริเวณมือและขาจะพัฒนาพอให้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง แต่ยังไม่เจริญเติบโตออกมาเป็นแขนขาให้เห็นชัดเจน

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 8

ทารกจะมีขนาดตัวเท่ากับผลราสป์เบอร์รี่ มีใบหน้า และรูปร่างที่ชัดเจนขึ้น นิ้วมือและนิ้วเท้าเล็กๆ เริ่มโผล่ออกมาจากแขนและขาบ้างแล้ว

 

เรียนรู้พัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ เดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ (สัปดาห์ที่ 9-13)

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 9

ทารกน้อยจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อาจมีความยาวตั้งแต่ 16 – 22 มิลลิเมตร หรือมีขนาดเท่าผลเชอร์รี่ ช่วงนี้หัวใจของทารกแบ่งออกเป็น 4 ห้องเรียบร้อยแล้ว ลิ้นกับฟันเล็กๆ ก็เริ่มงอกมาใต้เหงือกบ้าง กล้ามเนื้อและระบบประสาทต่างๆ เริ่มประสานต่อกัน อวัยวะเพศเริ่มขึ้นมา แต่ยังไม่สามารถเช็กได้ว่าเป็นเด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิง

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 10

ทารกมีขนาดเท่าผลสตรอว์เบอร์รี่ หรือมีความยาวประมาณ 30 มิลลิเมตร ช่วงนี้เล็บจะเริ่มงอกขึ้นมาบนนิ้วมือและนิ้วเท้า และมีเส้นผมบางๆ รวมทั้งขนอ่อนๆ กระดูกสันหลังก็เริ่มพัฒนาขึ้นมาเป็นสันบางๆ รวมทั้งระบบประสาทแถวกระดูกสันหลังก็เริ่มแตกกิ่งก้านมากขึ้น หน้าผากก็เริ่มนูนขึ้น เตรียมพร้อมสำหรับสมองที่ค่อยๆ โตขึ้นทุกวัน

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 11

ขนาดตัวของทารกสัปดาห์นี้ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร หรือมีขนาดประมาณลูกมะนาว ช่วงนี้ฟันซี่เล็กๆ กำลังงอกขึ้นมาใต้เหงือก ส่วนกระดูกก็เริ่มแข็งแรงมากขึ้น ทารกจะเริ่มเตะ เริ่มยืดแขนขาเหมือนบิดขี้เกียจได้ บ้าง แต่คุณแม่ยังไม่สามารถรู้สึกได้นะคะว่าลูกดิ้นแล้ว

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 12

ในสัปดาห์ที่ 12 ทารกจะมีขนาดเท่าลูกพลัม หรือประมาณ 5 -7 เซนติเมตร มีอวัยวะครบ ช่วงนี้มือเล็กๆ ของทารกกำลังกำ-แบได้แล้ว มีพัฒนาการของระบบไหลเวียนเลือด มีการขับถ่าย ระหว่างนี้ระบบประสาทในสมองก็จะเริ่มเชื่อมโยงหากันมากขึ้น

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 13

ทารกจะมีขนาดเท่าผลเลมอน หรือมีความยาวประมาณ 7.5 – 9.5 เซนติเมตร และหนักราว 1 ออนซ์ เริ่มมีลายนิ้วมือ และสามารถเคลื่อนไหวไปรอบๆ ถุงน้ำคร่ำได้อย่างอิสระ อวัยวะต่างๆ ก็เริ่มมองเห็นชัดขึ้นผ่านผิวหนังบางๆ แม้ว่าจะมองเห็นอวัยวะต่างๆ ได้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถสังเกตเพศลูกได้นะคะ

 

เรียนรู้พัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ เดือนที่ 4 ของการตั้งครรภ์ (สัปดาห์ที่ 14-17)

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 14

ในสัปดาห์ที่ 14 นี้ มีการเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้น ลูกจะมีขนาดประมาณ 8.5 -10 เซนติเมตร หรือขนาดเท่าลูกพีช สมองพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลูกเริ่มกระพริบตา ขมวดคิ้ว และดูดนิ้วได้แล้วด้วย

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 15

ช่วงนี้ลูกจะมีขนาดประมาณ 10 -12 เซนติเมตร หรือขนาดเท่าผลลูกแพร์ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไปอัลตราซาวน์ก็จะรู้เพศของเจ้าตัวน้อยได้แล้วนะคะ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าตัวน้อยของเราจะหันมุมไหนออกมาอวดคุณแม่คุณพ่อ ถ้าเจ้าตัวเล็กขี้อาย คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องอดใจรอต่อไปค่ะ

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 16

ทารกขนาดพอๆ กับผลอะโวคาโด หรือประมาณ 11.5 -13.5 เซนติเมตร ดวงตาที่เคยอยู่ด้านข้างก็จะเคลื่อนมาด้านหน้าขึ้นเรื่อยๆ หูเริ่มอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง รวมทั้งแสดงสีหน้าได้ชัดเจนขึ้น เช่น หรี่ตา หรือขมวดคิ้ว เป็นต้น

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 17

ทารกจะมีขนาดเท่าผลทับทิม หรือขนาดประมาณ 12 – 14 เซนติเมตร กระดูกอ่อนกำลังแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ มีการเชื่อมต่อระบบต่างๆ กับรกมากขึ้น สามารถขยับข้อต่อต่างๆ ได้ และต่อมเหงื่อก็เริ่มสร้างขึ้นแล้ว

 

เรียนรู้พัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ เดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์ (สัปดาห์ที่ 18-22)

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 18

ทารกจะมีขนาดเท่าแตงกวา หรือขนาดประมาณ 14 – 16 เซนติเมตร แขนและขาเริ่มขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้มากขึ้นกว่าเดิม คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวในครรภ์ได้แล้ว ถ้าทารกเป็นผู้หญิงร่างกายก็จะเริ่มสร้าง มดลูกขึ้นมา แต่ถ้าเป็นเด็กผู้ชายอวัยวะเพศของเขาก็จะเริ่มเห็นเป็นรูปร่างชัดเจนขึ้น

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 19

ทารกจะมีขนาดเท่าผลมะม่วง หรือขนาดประมาณ 15 – 17 เซนติเมตร ระบบประสาทของทารกเริ่มพัฒนามากขึ้น เช่น การดมกลิ่น การลิ้มรส การได้ยิน และการมองเห็น ทำให้ช่วงนี้ทารกมีการตอบสนองกับเสียงพูด หรือเสียงดนตรีจากภายนอก

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 20

ทารกจะมีขนาดเท่าผลกล้วยหอม หรือขนาดประมาณ 26 เซนติเมตร ช่วงนี้ทารกจะมีการเคลื่อนไหวอยู่บ่อยครั้ง อาจมีการถีบ ชก แตะท้องคุณแม่เบาๆ หากอัลตราซาวน์คุณแม่จะเห็นทารกดูดนิ้ว นั้นเป็นการเตรียมกล้ามเนื้อสำหรับดูดนมแม่ในอนาคตนะคะ

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 21

ทารกจะมีขนาดเท่าหัวผักกาดขาว หรือขนาดประมาณ 26 - 27 เซนติเมตร ช่วงนี้ลูกจะสามารถได้ยินเสียงพูดและเสียงเพลงที่คุณแม่ร้องเพลงได้ คุณแม่จึงควรพูดคุยกับลูก ลูกอาจมีการตอบสนองด้วยการเตะหน้าท้องเบาๆ อีกด้วยนะคะ

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 22

ทารกจะมีขนาดเท่าลูกมะพร้าวแล้วนะคะ หรือขนาดประมาณ 27 - 28 เซนติเมตร รูปร่างหน้าตาค่อนข้างสมบูรณ์ ริมฝีปาก เปลือกตา คิ้วเห็นชัดเจนขึ้น ฟันซี่เล็กๆ ขึ้นเป็นตุ่มๆ ใต้เหงือกแล้ว

 

เรียนรู้พัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ เดือนที่ 6 ของการตั้งครรภ์ (สัปดาห์ที่ 23-27)

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 23

ทารกจะมีขนาดเท่าผลเกรปฟรุต หรือขนาดประมาณ 28 - 29 เซนติเมตร ช่วงนี้คุณแม่จะรับรู้ได้ว่าทารกขยับตัวบ่อยขึ้น อาจเพราะกล้ามเนื้อของทารกมีการพัฒนาและแข็งแรงมากขึ้น การที่ทารก ถีบ แตะ ต่อย บ่อยๆ ก็เป็นสัญญาณที่ดีว่าลูกน้อยมีสุขภาพที่แข็งแรงนะคะ

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 24

ทารกจะมีขนาดเท่าผลแคนตาลูป หรือขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร สมองของทารกกำลังเติบโตก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว สามารถรับรู้รสชาติต่างๆ ได้แล้ว ปอดกำลังแบ่งเซลล์ต่างๆ แตกกิ่งก้านออกไปเหมือนต้นไม้ ซึ่งทำให้ถุงลมของทารกพร้อมสำหรับการก้าวออกไปสู่โลกในอนาคต

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 25

ทารกจะมีขนาดเท่าดอกกะหล่ำ หรือขนาดประมาณ 31 - 34 เซนติเมตร ช่วงนี้รูปร่างหน้าตาจะเริ่มใกล้เคียงกับทารกแรกเกิดแล้ว ผิวหนังที่เคยเหี่ยวย่นของเขาก็ค่อยๆ เรียบตึงขึ้น

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 26

ทารกจะมีขนาดประมาณ 35 - 36 เซนติเมตร ระบบประสาทต่างๆ ภายในหู เริ่มพัฒนาดีขึ้น จนสามารถแยกแยะเสียงคุณแม่ หรือเสียงคุณพ่อเวลาคุยกันได้ และยังสามารถใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ในการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น คุณแม่ต้องเตรียมพร้อมรับมือลูกดิ้นบ่อยขึ้นแล้วนะคะ

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 27

สัปดาห์นี้ทารกจะมีขนาดความยาวประมาณ 37 เซนติเมตร และหนักประมาณเกือบ 1 กิโลกรัม ทารกสามารถหลับตา และลืมตาเองได้แล้ว เนื้อเยื่อในสมองเริ่มพัฒนามากขึ้นและค่อนข้างจะรับรู้สิ่งต่างๆ รวดเร็วขึ้นด้วย รู้จักเรียนรู้ที่จะหายใจทางปอดได้แล้ว

 

เรียนรู้พัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ เดือนที่ 7 ของการตั้งครรภ์ (สัปดาห์ที่ 28-31)

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 28

สัปดาห์นี้ทารกจะมีขนาดความยาวประมาณ 37 เซนติเมตร และหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ทารกจะเริ่มมองเห็นได้ลางๆตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ผม ขนคิ้ว ขนตา จะเริ่มหนาขึ้น รวมไปถึงการสะสมไขมันมากขึ้นทำให้ผิวหนังเต่งตึง

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 29

สัปดาห์นี้ทารกจะมีขนาดความยาวประมาณ 38 เซนติเมตร และหนักประมาณ1.3 กิโลกรัม ร่างกายของทารกจะเริ่มต้องสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะโปรตีน วิตามินซีกรดโฟลิค และธาตุเหล็ก เพราะกระดูกของเขาจะเริ่มมีการสะสมแคลเซียม เพื่อให้กระดูกแข็งแรงมากขึ้น เพราะฉะนั้นคุณแม่อย่าลืมดื่มนมที่มีส่วนผสมของแคลเซียมให้เพียงพอด้วยนะคะ

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 30

สัปดาห์นี้ทารกจะมีขนาดความยาวประมาณ 38 - 40 เซนติเมตร และหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม ดวงตาพัฒนาจนเกือบสมบูรณ์ สมองเริ่มสร้างรอยหยักเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของเนื้อเยื่อสมอง ไขกระดูกเริ่มผลิตเม็ดเลือดแดงแล้วด้วย

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 31

สัปดาห์นี้ทารกจะมีขนาดความยาวประมาณ 39 - 40 เซนติเมตร และหนักประมาณ 1.6 กิโลกรัม หากคุณแม่อัลตราซาวด์ จะเห็นว่า ทารกสามารถใช้มือสัมผัสจมูก เท้า สายสะดือ และผนังถุงน้ำคร่ำ ของตัวเองได้แล้ว ทารกจะเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายได้คล่องแคล่วมากขึ้น ซึ่งอาจจะกวนเวลานอนของคุณแม่ไปบ้าง แต่ให้คุณแม่คิดว่ายิ่งลูกดิ้นมากแค่ไหนก็แปลว่าเขาแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้นนะคะ

 

เรียนรู้พัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ เดือนที่ 8 ของการตั้งครรภ์ (สัปดาห์ที่ 32-35)

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 32

สัปดาห์นี้ทารกจะมีขนาดความยาวประมาณ 40 - 41 เซนติเมตร และหนักประมาณ 1.7 กิโลกรัม ตอนนี้ เล็บมือ เล็บเท้า และเส้นผมเริ่มขึ้นอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังคงอ่อนนุ่มอยู่ ผิวหนังก็เริ่มพัฒนาให้มีความทึบแสง และเรียบเนียนขึ้น

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 33

สัปดาห์นี้ทารกจะมีขนาดความยาวประมาณ 42 เซนติเมตร และหนักประมาณ 2 กิโลกรัม กระดูกแข็งแรง และเชื่อมต่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนต่างๆ ในสมอง และเนื้อเยื่อต่างๆ ก็พัฒนาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 34

สัปดาห์นี้ทารกจะมีขนาดความยาวประมาณ 43 - 44 เซนติเมตร และหนักประมาณ 2.3 กิโลกรัม ตอนนี้ไขมันเริ่มสะสมอยู่ใต้ผิวหนังมากขึ้น เพื่อให้ทารกอบอุ่น และเตรียมพร้อมออกไปเจอโลกภายนอก

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 35

สัปดาห์นี้ทารกจะมีขนาดความยาวประมาณ 45 เซนติเมตร และหนักประมาณ 2.4 กิโลกรัม ช่วงนี้ไตพัฒนาจนสมบูรณ์แล้ว และตับก็สามารถขับถ่ายของเสียออกมาได้แล้วเช่นกัน เรียกว่าตอนนี้ร่างกายของทารกค่อนข้างสมบูรณ์แล้วค่ะ

 

เรียนรู้พัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ เดือนที่ 9 ของการตั้งครรภ์ (สัปดาห์ที่ 36-40)

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 36

สัปดาห์นี้ทารกจะมีขนาดความยาวประมาณ 47 เซนติเมตร และหนักประมาณ 2.5 กิโลกรัม เส้นผมขึ้นมาทั่วศีรษะ ระบบไหลเวียนเลือดพัฒนาจนสมบูรณ์ รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันก็พร้อมใช้งาน เรียกได้ว่าในช่วงนี้ทารกมีระบบต่างๆ ที่เติบโตครบสมบูรณ์แล้วนั่นเอง

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 37

ทารกจะมีขนาดความยาวประมาณ 48 เซนติเมตร และหนักประมาณ 2.7 กิโลกรัม สัปดาห์นี้อวัยวะทุกส่วนของทารก พร้อมสมบูรณ์ออกมาสู่โลกภายนอกแล้วค่ะ ทารกจะเปลี่ยนการเคลื่อนไหวจากการถีบ แตะ ต่อย เป็นการบิดตัวไปมา และช่วงนี้ทารกจะกลับหัวลงมาอยู่ในอุ้งเชิงกรานแล้ว

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 38

ทารกจะมีขนาดความยาวประมาณ 49 เซนติเมตร และหนักประมาณ 2.9 กิโลกรัม สัปดาห์นี้ถือว่าอวัยวะภายในส่วนใหญ่ได้พัฒนาจนสมบูรณ์ และพร้อมทำงานเต็มประสิทธภาพแล้ว ซึ่งถ้าลูกคลอดออกมาในช่วงนี้ ก็ไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใดนะคะ

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 39

ทารกจะมีขนาดความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร และหนักประมาณ 3 กิโลกรัม กระดูกกะโหลกของลูกพร้อมสำหรับการคลอด ทารกจะเอาศีรษะลงไปในอุ้งเชิงกราน พร้อมสำหรับการออกมาเจอโลกภายนอกแล้ว

 

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 40

ในที่สุดก็ถึงสัปดาห์กำหนดคลอด แม้จะใกล้คลอดแล้ว ทารกก็ยังมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ร่างกายพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตนอกครรภ์ ซึ่งสัปดาห์สุดท้ายนี้ กระดูกของทารกจะแข็งตัวและมีความสมบูรณ์ ยกเว้นช่วงกะโหลกศีรษะที่ยังมีความนุ่มอยู่ เมื่อคลอดออกมา ลูกจะสามารถมองเห็นได้ในระยะ 1 นิ้ว และสามารถจำเสียงคุณพ่อคุณแม่ได้นะคะ
 

เมื่อใกล้ถึงกำหนดคลอด คุณแม่หลายคนเริ่มเตรียมตัวเพื่อให้นมลูกน้อย ทั้งนี้ขอสนับสนุนให้คุณแม่ให้นมแม่เพียงอย่างเดียว อย่างน้อย 6 เดือนหรือนานที่สุดที่จะให้ได้ค่ะ เพราะนมแม่มีสารอาหารกว่า 200 ชนิดรวมทั้งจุลินทรีย์มีประโยชน์ LPR หรือที่เรียกกันว่า โพรไบโอติกส์ ที่เป็นจุลินทรีย์สายพันธุ์ที่มีงานวิจัยรองรับมากที่สุด และมีผลการศึกษาที่มีความน่าเชื่อถือสูงรองรับว่าช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และมีคุณสมบัติโดดเด่นที่สามารถเกาะติดเยื่อบุลำไส้ได้ดี ซึ่งการรักษาสมดุลจุลินทรีย์ให้เป็นปกติ มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์มากกกว่าจุลินทรีย์ก่อโรคเป็นสิ่งที่มีผลดีต่อสุขภาพของระบบทางเดินอาหาร และภูมิคุ้มกันของลูก
 

 


อ้างอิง
อาจารย์รภัทร เอกนิธิเศรษฐ, การพัฒนาการของมนุษย์ในครรภ์, 26 เมษายน 2564, เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3vt0Lot
โรงพยาบาลแมคคอร์มิค, การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์และพัฒนาการทารกในครรภ์, 26 เมษายน 2564, เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/2S8pIqN
Nestlé Mom & Me, การเปลี่ยนแปลงของการตั้งครรภ์แต่ละสัปดาห์, 26 เมษายน 2564, เข้าถึงได้จาก https://www.nestlemomandme.in.th/pregnancy-weekly-development
Lara-Villoslada F, et al. Br J Nutr. 2007 Oct;98 Suppl 1:S96-100.