เคล็ดลับดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ 15สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารกอายุครรภ์ 15สัปดาห์
แม้เจ้าตัวเล็กจะยังอยู่ในท้องแต่ในสัปดาห์ที่ 15 ลูกน้อยจะเริ่มรับรู้ถึงกลิ่นได้แล้ว ในขณะเดียวกันคุณแม่ก็อาจรู้สึกสับสนกับการตั้งครรภ์ พร้อมกับมีอาการท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์ด้วย มารับมือปัญหาเหล่านี้กันเถอะ

พัฒนาการของทารกอายุครรภ์ 15 สัปดาห์
ไตรมาสที่ 2 คุณแม่ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์แล้ว พัฒนาการทารกในสัปดาห์นี้ ทรวงอกของลูกน้อยจะเกิดการกระเพื่อมขึ้นลง เพราะประสาทรับกลิ่นของลูกเริ่มทำงาน โดยลูกน้อยจะเริ่มรับรู้ได้ถึงกลิ่นน้ำคร่ำ อย่างไรก็ตามลูกจะได้กลิ่นจริงๆ ก็เมื่อระบบประสาทเจริญเต็มที่ในการตั้งครรภ์เดือนที่ 7
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์
ตอนนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ อีกประมาณ 24 สัปดาห์ก็จะได้เจอกับเจ้าตัวเล็กแล้ว จึงไม่แปลกเลยหากคุณแม่บางคนจะตื่นเต้นและรู้สึกเหมือนร่างกายนี้ไม่ใช่ร่างกายของตัวเองคนเดียวอีกต่อไป แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปเพราะความรู้สึกสับสนเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากความรู้สึกแบบนี้ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ และรู้สึกเศร้า แนะนำให้ลองปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่สามารถช่วยให้คุณแม่รู้สึกเป็นตัวเองมากขึ้น
สาระน่ารู้! โภชนาการคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อพัฒนาการทารกอายุครรภ์ 15 สัปดาห์
หนึ่งในปัญหาน่าอึดอัดที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเผชิญก็คือ อาการท้องผูก ถ่ายไม่ออกระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถลดอาการท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์ได้ง่ายๆ ด้วยการปรับโภชนาการให้เหมาะสม ดื่มน้ำมากๆ และกินอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ เช่น ผลไม้ ผักสด ขนมปัง ถั่ว และธัญพืช คุณแม่อาจเริ่มจากการลองทานรำข้าวถ้วยเล็กๆ ในมื้อเช้า อาการท้องผูกจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ถ้ายังมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายอยู่แนะนำให้ลองปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม
เคล็ดลับสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ 15 สัปดาห์
ลุกขึ้นขยับตัวกันสักหน่อยจะช่วยลดอาการท้องผูก แถมยังช่วยให้น้ำหนักของคุณแม่เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม สำหรับคุณแม่ที่มีสุขภาพดี การออกกำลังกายระหว่างตั้งครรภ์ด้วยความหนักระดับปานกลางจะยิ่งส่งผลดีขึ้นไปอีก
อ้างอิง:
1. Mennella JA, Jagnow CP, Beauchamp GK: Prenatal and Postnatal Flavor Learning by Human Infants. Pediatrics 2001, 107: -e88.
2. Seron-Ferre M, Torres-Farfan C, Forcelledo ML, Valenzuela GJ: The development of circadian rhythms in the fetus and neonate. Seminars in Perinatology 2001, 25: 363-370.
3. Swaiman KF: Pediatric neurology: principles & practice, 5th edn. Philadelphia: Elsevier/Saunders; 2012.
4. Weaver LT, Austin S, Cole TJ: Small intestinal length: a factor essential for gut adaptation. Gut 1991, 32: 1321-1323.
5. MedlinePlus [Internet]. Bethesda (MD): National Library of Medicine (US); [updated 2016 Oct 05]. Fetal development; [reviewed 2015 Sept 26; cited 2016 Oct 27]; [about 2 p.]. Available from: https://medlineplus.gov/ency/article/002398.htm