MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ ดูแลครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่
บทความ

PLAYING: คุณแม่ตั้งครรภ์ 6 เดือน เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 6 เดือน

Add this post to favorites

คุณแม่ตั้งครรภ์ 6 เดือน เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 6 เดือน

เมื่อตั้งครรภ์เดือนที่ 6 เท่ากับคุณแม่ได้อุ้มท้องลูกน้อยเข้าสู่โค้งสุดท้ายของไตรมาส 2 แล้ว ในช่วงเดือนที่ 6 นี้คุณแม่จะได้สัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการเปลี่ยนแปลงของคุณแม่เองในด้านสรีระที่ท้องโตขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น และอาการต่าง ๆ รวมถึงทารกในครรภ์ที่เติบโตมากขึ้น พร้อมกับพัฒนาการความเฉลียวฉลาด ที่ทำให้คุณแม่รู้สึกได้ว่าลูกน้อยกำลังสื่อสารกับคุณแม่

3นาที อ่าน

สรุป

  • การตั้งครรภ์เดือนที่ 6 เท่ากับการอุ้มท้องครบไตรมาส 2 แล้ว คุณแม่จะสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสรีระที่ชัดเจน และสัมผัสกับพัฒนาการของทารกในครรภ์ที่มีการเติบโตขึ้นและเฉลียวฉลาดมากขึ้น
  • ช่วงเดือนนี้น้ำหนักคุณแม่อาจเพิ่มขึ้นได้อีก 1-1.5 กิโลกรัม เพราะลูกน้อยในท้องเริ่มมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น และคุณแม่อาจต้องพบกับอาการต่าง ๆ ที่ตามมา เช่น อาการปวดบริเวณหลัง สะโพก และอุ้งเชิงกราน ขาบวม ข้อเท้าบวม หรือเป็นตะคริวที่ขาและข้อเท้า
  • เข้าสู่การตั้งครรภ์เดือนที่ 6 พัฒนาการทารกในครรภ์เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสมอง ที่สมองส่วนนอก (Cortex) เซลล์ประสาทกำลังเริ่มแตกแขนงเป็นรูปร่าง อาจเรียกได้ว่าระบบประสาทใกล้สมบูรณ์แล้ว

อาการคนตั้งครรภ์ 6 เดือน เป็นอย่างไร

การตั้งครรภ์เดือนที่ 6 ร่างกายคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ อาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • ท้องผูกบ่อยขึ้น เมื่อทารกในท้องเติบโตมากขึ้น ทำให้มดลูกขยายใหญ่ขึ้นจนส่งผลไปกดทับอวัยวะใกล้เคียงอย่างลำไส้ใหญ่ได้ ระบบขับถ่ายของคุณแม่จึงทำงานได้ไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนก็ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน คุณแม่จึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง พร้อมกับการดื่มน้ำให้เยอะขึ้น และออกกำลังกายอย่างเหมาะสมทุกวัน พร้อมกับการสร้างนิสัยในการขับถ่ายที่ดี
  • มีอาการปวดบริเวณหลัง สะโพก และอุ้งเชิงกราน อาการนี้พบได้ทั่วไป เพราะเมื่อตั้งครรภ์ได้ 6 เดือน ขนาดท้องโตขึ้น มดลูกมีขนาดโตขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องยืดขยายตัว น้ำหนักของท้องจะถ่วงไปด้านหน้า จนต้องแอ่นหลังเพื่อพยุงตัว ทำให้จุดศูนย์ถ่วงร่างกายเปลี่ยนแปลงไป และเกิดอาการปวดหลัง สะโพก และอุ้งเชิงกรานได้ คุณแม่จึงควรยืดเหยียดและบริหารกล้ามเนื้อตามคำแนะนำของคุณหมอ และเอาใจใส่ต่ออิริยาบถต่าง ๆ ระหว่างวันให้ถูกต้อง
  • มีอาการคันที่บริเวณหน้าท้อง อาการคันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนที่ 6 ซึ่งอาจเกิดจากผิวหนังที่ยืดขยายออกจากการที่ท้องคุณแม่โตมากขึ้น โดยอาจมีรอยแตกร่วมด้วย คุณแม่อาจป้องกันและบรรเทาอาการนี้ได้โดยดื่มน้ำให้เยอะขึ้น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของผิว ไม่อาบน้ำอุ่นจัด รวมถึงเลือกใช้เบบี้ออยล์ทาผิวบริเวณท้องอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่ขนาดท้องขยายไว แต่หากเป็นผื่นคันหรือผื่นแพ้ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้อง
  • วิงเวียนศีรษะ อาการวิงเวียนศีรษะในช่วงตั้งครรภ์ ส่วนมากเกิดกับคุณแม่ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ที่ทำให้ความดันต่ำได้ หรืออัตราการหายใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากมดลูกขยายตัวไปเบียดปอดและกระบังลม รวมถึงการที่มดลูกขยายตัวใหญ่ขึ้น จนหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายส่วนล่างมากขึ้นกว่าเดิม คุณแม่จึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ และระมัดระวังในการลุกเดินหรือนั่งให้ช้าลง
  • ขาบวม ข้อเท้าบวม หรือเป็นตะคริวที่ขาและข้อเท้า อาการขาบวม ข้อเท้าบวม มักเกิดจากการที่มดลูกขยายตัวไปกดทับหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่ดี และคั่งอยู่บริเวณส่วนล่างของร่างกาย ได้แก่ ขา และเท้า และเกิดเป็นอาการตะคริวได้เช่นกัน เพราะเมื่อเลือดไหลเวียนไม่สะดวก ของเสียคั่งอยู่ที่น่อง ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวได้ คุณแม่จึงควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ไม่นั่งหรือยืนนานเกินไป และยืดเหยียดขาให้บ่อยขึ้น

อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 6 เดือน คุณแม่ควรรับมืออย่างไร

ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 6 เดือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อใกล้เข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้าย มดลูกจะขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ คุณแม่อาจรู้สึกแน่นตึงที่ท้อง หรืออาจมีอาการเจ็บแปลบร่วมด้วย เนื่องจากกล้ามเนื้อหน้าท้องที่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น หรืออาจเกิดจากภาวะการมีแก๊สในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน โดยส่วนมากอาการท้องแข็งจะเกิดเป็นระยะเวลาไม่กี่วินาทีแล้วหาย หรืออาจเกิดได้นานเป็นชั่วโมง เมื่อเกิดจากการลุกนั่งอย่างรวดเร็ว หรือเกิดจากการไอ จาม

สำหรับวิธีรับมือกับอาการท้องแข็ง คุณแม่สามารถทำได้

นอนพัก หรือนั่งพักนิ่ง ๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น และระวังไม่เปลี่ยนอิริยาบถเร็วเกินไป

  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม อาหารรสจัด ที่อาจทำให้เกิดมีแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • อาบน้ำอุ่นเพื่อให้ผ่อนคลายและบรรเทาอาการปวดเกร็ง
  • ไม่ควรทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากเกินไป เช่น ยกของหนัก หรือออกกำลังกายหนัก ๆ

หากอาการท้องแข็งมีความผิดปกติ เช่น ปวดบีบอย่างรุนแรง ปวดถี่ทุก 5 นาทีใน 1 ชั่วโมง และมีเลือดไหลจากช่องคลอด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

สำหรับวิธีรับมือกับอาการท้องแข็ง คุณแม่สามารถทำได้

เข้าใจลักษณะหน้าท้องของคนท้อง 6 เดือน

อายุครรภ์ 6 เดือน หน้าท้องของคุณแม่จะโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะตอนนี้ลูกน้อยในครรภ์มีขนาดตัวเท่ามะละกอ น้ำหนักของคุณแม่ก็เพิ่มขึ้นด้วย คุณแม่จะเห็นเส้นสีดำเป็นทางยาวไปถึงกลางท้อง ไล่จากสะดือไปถึงหัวหน่าว เพราะเกิดจากการที่ระดับฮอร์โมนสูงขึ้น นอกจากนี้คุณแม่บางคนอาจเริ่มเห็นหน้าท้องลายจากการที่ยืดขยายของมดลูกและทารกในครรภ์

ท้อง 6 เดือน น้ำหนักควรเพิ่มขึ้นกี่กิโลกรัม

อายุครรภ์ 6 เดือน เท่ากับอยู่ในช่วงสุดท้ายของไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ช่วงเดือนนี้น้ำหนักคุณแม่อาจเพิ่มขึ้นได้อีก 1-1.5 กิโลกรัม เพราะลูกน้อยในท้องเริ่มมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยรวมแล้วคุณแม่จะมีน้ำหนักขึ้นจากเดือนแรกประมาณ 4-5 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจะขึ้นอยู่กับดัชนีมวลกายของคุณแม่ก่อนตั้งครรภ์ด้วย

สำหรับค่าเฉลี่ยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของคุณแม่ในแต่ละไตรมาส

  • ไตรมาส 1 โดยมากแล้วน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นน้อยมาก หรืออาจมีน้ำหนักลง เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายมีการปรับตัว รวมถึงมีอาการแพ้ท้องร่วมด้วย ช่วงนี้น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 กิโลกรัม
  • ไตรมาส 2 เมื่อเข้าสู่ไตรมาสนี้ คุณแม่จะมีอาการแพ้ท้องลดน้อยลง เริ่มรับประทานอาหารได้เป็นปกติ น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นเดือนละ 1-1.5 กิโลกรัม ซึ่งรวมแล้วในไตรมาสที่ 2 จะมีน้ำหนักเพิ่มอีก 4-5 กิโลกรัม
  • ไตรมาส 3 เข้าสู่ไตรมาสที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระอย่างชัดเจน เพราะทารกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีขนาดตัวใหญ่ขึ้น น้ำหนักคุณแม่จะเพิ่มประมาณ 2-2.5 กิโลกรัม ซึ่งรวมแล้วในไตรมาสที่ 3 จะมีน้ำหนักเพิ่มอีก 5-6 กิโลกรัม

อัลตราซาวด์ท้อง 6 เดือน คุณแม่จะเห็นอะไรบ้างนะ

การอัลตราซาวด์ในไตรมาสที่ 2 นี้ เป็นการตรวจหาความผิดปกติ คำนวณน้ำหนักทารกในครรภ์ และสามารถตรวจอวัยวะต่าง ๆ ของทารก รวมถึงดูตำแหน่งรก และเพศของทารกได้

  • ขนาดและน้ำหนักทารกในครรภ์ 6 เดือน ทารกจะมีความยาวประมาณ 33 เซนติเมตร โดยมีน้ำหนักประมาณ 600 กรัม
  • รูปทารกในครรภ์ 6 เดือน จะมีขนาดเท่ากับผลมะละกอ แต่มีรูปร่างเหมือนกับเด็กทารกตอนคลอดออกมาแล้ว
  • ท้อง 6 เดือน ทารกอาจอยู่ส่วนไหนก็ได้ เช่น อยู่ในแนวตามขวาง ก้นเฉียง หรือด้านข้าง แต่ยังไม่กลับหัวเตรียมคลอด

พัฒนาการทารกในครรภ์ 6 เดือนแรก ที่คุณแม่ควรรู้

เข้าสู่การตั้งครรภ์เดือนที่ 6 พัฒนาการทารกในเดือนนี้ มีเรื่องน่าตื่นเต้นให้คุณแม่ได้สัมผัสมากมาย เพราะการพัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนี้

  • ผิวของทารกเป็นสีชมพู มีไขมันสะสมใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวเริ่มเรียบเนียนขึ้น
  • กล้ามเนื้อมือและขามีการพัฒนา โดยสามารถยืดเหยียด ผลักและเตะให้คุณแม่สัมผัสผ่านหน้าท้องได้
  • สมองกำลังพัฒนาได้ดี สมองส่วนนอก (Cortex) เซลล์ประสาทกำลังเริ่มแตกแขนงเป็นรูปร่าง
  • ทารกสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ผ่านประสาทสัมผัสได้แล้ว เช่น การรับรสชาติ การได้กลิ่น และเสียงภายนอก
  • เปลือกตาเริ่มเปิด จอประสาทตาเริ่มพัฒนา กระดูกหูเริ่มแข็งและเริ่มได้ยินเสียงต่าง ๆ
  • ทารกเริ่มจดจำสิ่งต่าง ๆ เช่น เสียงของคุณแม่ คุณพ่อ และเสียงดนตรี รวมถึงมีการตอบสนองในบางครั้งผ่านการดิ้นให้คุณแม่รู้สึกได้

อายุครรภ์ 6 เดือน สมองของลูกในครรภ์ มีพัฒนาการอย่างไร

ในช่วงนี้ เซลล์ประสาทภายในสมองของทารกในครรภ์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว สมองส่วนนอก (Cortex) เซลล์ประสาทกำลังเริ่มแตกแขนงเป็นรูปร่าง อาจเรียกได้ว่าระบบประสาทใกล้สมบูรณ์แล้ว เมื่อสมองมีความซับซ้อนมากขึ้น ลูกน้อยในครรภ์ก็จะแสดงความเฉลียวฉลาดและตอบโต้กับคุณแม่ได้มากขึ้นด้วย

อาหารที่คุณแม่ท้อง 6 เดือน ควรรับประทาน

การตั้งครรภ์เดือนที่ 6 ร่างกายคุณแม่ต้องการพลังงานมากเป็นพิเศษ เนื่องจากลูกน้อยในครรภ์เติบโตและเริ่มสร้างชั้นไขมันแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องรับประทานอาหารมากขึ้นเพื่อมอบพลังงานให้กับทั้งคุณแม่และทารก แต่ก็ควรควบคุมปริมาณการรับประทานให้พอดี เพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวของคุณแม่เพิ่มขึ้นมากเกินไป และควรรับประทานอาหารที่ป้องกันภาวะโลหิตจาง และภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยรับประทานอาหาร 4 กลุ่มเหล่านี้เป็นพิเศษจากอาหารหลัก 5 หมู่

  • ไขมันและพลังงาน นอกเหนือจากให้พลังงานแล้ว ยังมีส่วนช่วยระบบย่อยอาหารของแม่และทารกในครรภ์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ปลา เห็ด ถั่วชนิดต่าง ๆ งา และธัญพืช
  • วิตามินบี 12 สร้างเม็ดเลือดแดงและบำรุงปลายประสาท เช่น ปลาซาร์ดีน ปลากะพง ปลาแซลมอน นม ชีส และไข่
  • ธาตุเหล็ก บำรุงเลือดของคุณแม่ ป้องกันโลหิตจาง พบมากใน เนื้อสัตว์ ตับ เลือด และไข่แดง
  • อาหารที่มีไฟเบอร์สูง มีส่วนช่วยป้องกันน้ำหนักเกิน รวมถึงครรภ์เป็นพิษ เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต อะโวคาโด ธัญพืช ผัก และผลไม้สดต่าง ๆ

อาหารที่คุณแม่ท้อง 6 เดือน ควรรับประทาน

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 6 เดือน

คุณแม่อาจมีความสงสัยในเรื่องการดูแลครรภ์ในระยะนี้ สามารถดูสรุปข้อมูลได้ ดังนี้

ข้อห้ามคนท้อง 6 เดือน มีอะไรบ้าง

ช่วงเดือนนี้คุณแม่ควรระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของสรีระและจุดศูนย์ถ่วงร่างกาย จึงไม่ควรทำกิจกรรมที่ออกแรงหรือก้มเงยบ่อย ๆ เพราะอาจทำให้ปวดหลัง และเสี่ยงต่อการหน้ามืดวิงเวียน ซึ่งกระทบกระเทือนต่อครรภ์ ที่สำคัญคือ ห้ามใส่รองเท้าส้นสูง เพราะเสี่ยงต่อการหกล้มได้

นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง เช่น สถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่ การทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี เพราะเมื่อหายใจเข้าไป หรือดูดซึมผ่านผิวหนัง จะทำให้เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

อาหารและกิจกรรมที่คุณแม่ตั้งครรภ์ 6 เดือน ควรหลีกเลี่ยง

  • ไม่ควรรับประทานอาหารที่ไม่ปรุงสุก และหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ เพราะอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้ามาในร่างกาย
  • ห้ามดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
  • ห้ามหายาต่าง ๆ มารับประทานเอง แม้จะเป็นยาสามัญประจำบ้านทั่วไป เพราะยาบางชนิดอาจส่งผลข้างเคียงต่อทารกได้ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • ห้ามเครียด เพราะความเครียดอาจกระตุ้นให้เกิดสารเคมีหรือฮอร์โมนที่ส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ และอาจเสี่ยงต่อการแท้งได้อีกด้วย

เรียกว่าช่วงอายุตั้งครรภ์ 6 เดือน มีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้คุณแม่ได้ชื่นใจ พร้อมจบไตรมาสที่ 2 และเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ที่คุณแม่ใกล้ได้พบหน้าลูกน้อยในครรภ์เข้าไปทุกที

อ้างอิง:

  1. ท้องผูก เรื่องอึดอัดของว่าที่คุณแม่, โรงพยาบาลเปาโล
  2. คุณแม่ตั้งครรภ์กับอาการปวดหลัง, โรงพยาบาลสมิติเวช
  3. อาการคันของคนท้อง ผื่นตั้งครรภ์ เรื่องคัน คัน ของแม่ตั้งครรภ์, theasianparent
  4. 4 อาการคันของคนท้อง ลุกลามแย่แน่ถ้าไม่ท้องไม่รีบรักษาและป้องกัน, รักลูก
  5. คนท้องเวียนหัว หน้ามืด เกิดจากอะไร มีวิธีแก้อาการวูบบ่อยไหม, theasianparent
  6. มือบวม เท้าบวมขณะตั้งครรภ์ เกิดจากเหตุใด?, โรงพยาบาลพญาไท
  7. คุณแม่ตั้งครรภ์ ทำไมชอบเป็นตะคริว, โรงพยาบาลเปาโล
  8. ท้องแข็งระหว่างตั้งครรภ์เกิดจากอะไร และวิธีรับมือสำหรับคุณแม่, Pobpad
  9. คำแนะนำ คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 2 (อายุครรภ์ 4 - 6 เดือน), โรงพยาบาลเปาโล
  10. คุณแม่ตั้งครรภ์ คุมน้ำหนักอย่างไรให้พอดี, โรงพยาบาลบางปะกอก
  11. ตั้งครรภ์ 6 เดือน, 9 ย่างเพื่อสร้างลูก สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย
  12. ข้อควรระวัง คนท้อง 6 เดือน และการเจริญเติบโตของทารกที่เหมาะสม, Amarin Baby & Kids
  13. ข้อห้ามคนท้อง6เดือน เกินครึ่งทางแล้ว ต้องระวังอะไรบ้าง, theasianparent
  14. พัฒนาการของทารกในครรภ์ตลอด 9 เดือน เป็นอย่างไรบ้างนะ, โรงพยาบาลพญาไท

อ้างอิง ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2566