MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ ดูแลครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่
บทความ

PLAYING: คุณแม่ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 34 สัปดาห์

Add this post to favorites

คุณแม่ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 34 สัปดาห์

อีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะได้เจอหน้าลูกน้อย ที่คุณแม่อุ้มท้องมาอย่างยาวนาน การตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ จึงเกือบจะเป็นโค้งสุดท้ายแล้ว มีความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นในอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์เจริญเติบโตไปมาก เกือบจะสมบูรณ์เต็มที่แล้ว ช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม พยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นประจำ

2นาที อ่าน

สรุป

  • ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณแม่จะรู้สึกอึดอัดมากขึ้น เพราะท้องใหญ่มาก และรู้สึกอยากเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ
  • อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ในไตรมาสสุดท้าย ร่างกายของแม่ต้องการโปรตีนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ลูกน้อยพัฒนาเซลล์สมอง โดยเฉพาะอาหารประเภท ปลาที่มี DHA มีโอเมก้า 3
  • ทารกในครรภ์ 34 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 45 เซนติเมตร น้ำหนักราว ๆ 2 กิโลกรัม

ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลานี้

อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ลูกในท้องตัวใหญ่ ขนาดของมดลูกที่ใหญ่ขึ้น ทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว ไม่ว่าจะเป็นตอนตื่น ก็ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ลำบาก จึงต้องค่อย ๆ ลุกอย่างช้า ๆ ไม่ควรเร่งรีบ แต่ต้องหมั่นเปลี่ยนท่าทางให้บ่อย ส่วนเวลานอน คุณแม่ก็จะนอนหลับได้ไม่เต็มอิ่ม ต้องลุกไปปัสสาวะบ่อย ๆ ส่วนท่านอนที่ดีสำหรับคุณแม่ ควรนอนตะแคงจะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้

ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ อายุครรภ์กี่เดือน

เมื่ออายุครรภ์ 34 สัปดาห์ จะเท่ากับตั้งครรภ์ 8 เดือน อยู่ในไตรมาสที่ 3 หรือไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ ลูกน้อยในครรภ์อยู่ตรงไหนแล้ว

เจ้าตัวน้อยจะเคลื่อนไหวมาอยู่ใกล้ ๆ กับอุ้งเชิงกราน เพื่อเตรียมตัวเคลื่อนสู่ช่องคลอด ในช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 34 สัปดาห์ เป็นอย่างไร

1. ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ ทารกมีขนาดตัวเท่าใด

ทารกจะมีความยาวประมาณ 45 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัมแล้ว

2. ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง

ก่อนหน้านี้ทารกจะดิ้นแรง ดิ้นบ่อย แต่เมื่อเข้าสู่อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณแม่อาจสัมผัสการดิ้นได้น้อยลง เพราะลูกตัวใหญ่ขึ้น แต่คุณแม่ยังต้องนับลูกดิ้นเป็นประจำ ในแต่ละวันลูกควรดิ้นอย่างน้อย 10 ครั้ง หรือช่วงหลังมื้ออาหาร ควรนับได้อย่างน้อย 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมง

3. อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายลูก เป็นอย่างไร

พัฒนาการทารกในครรภ์เติบโตขึ้นอย่างมาก เริ่มมีไขเคลือบผิวตัวมากขึ้น เส้นผมมีมากขึ้นแล้ว

การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 34 สัปดาห์

คุณแม่จะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายมากขึ้น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกเหนื่อยล้าได้ง่าย อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณแม่ควรเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ เวลานั่งให้นั่งตัวตรง ส่วนเวลานอนให้ยกหัวสูง ขณะเดียวกันทางด้านจิตใจ คุณแม่อาจรู้สึกกังวลเรื่องลูกได้ ควรหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด

อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ เป็นแบบไหน

  • รู้สึกดวงตาพร่ามัว คนท้องมักจะมีอาการทางสายตา อาจรู้สึกว่า ดวงตาพร่ามัวได้ แต่ถ้าเกิดอาการพร่ามัวร่วมกับการปวดศีรษะอย่างรุนแรง มีอาการมือเท้าบวม ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของครรภ์เป็นพิษได้
  • อ่อนเพลีย ความรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย อ่อนแรง จะเกิดขึ้นได้ในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เพราะท้องของคุณแม่ใหญ่ขึ้น ทำให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ และรู้สึกหายใจไม่อิ่ม
  • ท้องผูก มดลูกที่ขยายใหญ่ยังไปกดอวัยวะสำคัญอย่างลำไส้ใหญ่ ประกอบกับฮอร์โมนของคนท้อง

ทำให้คุณแม่รู้สึกท้องผูกได้ง่าย ควรเลือกอาหารที่มีกากใยสูง โดยเฉพาะผักและผลไม้ หมั่นจิบน้ำบ่อย ๆ ตลอดทั้งวัน และลุกเดินไปมาให้บ่อย เมื่อร่างกายได้เคลื่อนไหวเป็นประจำ การขับถ่ายก็จะดีขึ้นด้วย

  • ริดสีดวงทวาร เมื่อเกิดอาการท้องผูก ในอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ อาการริดสีดวงทวารก็มักจะตามมาด้วย เพราะมดลูกที่ขยายจะไปกดทับอวัยวะในร่างกาย การกดทับหลอดเลือดดำภายในท้อง อาจเกิดเลือดคั่งมากขึ้น วิธีบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร คุณแม่ไม่ควรเบ่งอุจจาระแรงเกินไป หากมีอาการท้องผูก อุจจาระแข็ง อาจทำให้เกิดเลือดออกตอนขับถ่าย และไม่ควรอั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ เมื่อรู้สึกปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำ ควรเข้าในทันที
  • แรงกดในช่องท้อง เจ้าตัวน้อยเคลื่อนที่มายังอุ้งเชิงกราน ทำให้คุณแม่รู้สึกได้ถึงแรงกดในช่องท้อง อาจอึดอัด ไม่สบายตัวได้
  • เจ็บเตือนหรือเจ็บหลอก เมื่ออายุครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณแม่ควรทราบถึงอาการเจ็บเตือนหรือเจ็บหลอก เพื่อตรวจเช็คร่างกายว่า ควรไปพบแพทย์หรือไม่ อาการเจ็บเตือนนั้นจะเกิดขึ้นบริเวณหน้าท้อง เจ็บแล้วหายไป ไม่ปวดถี่ ไม่ปวดอย่างสม่ำเสมอ การเจ็บปวดจะเจ็บคล้ายเดิม ไม่รุนแรง และไม่เจ็บเพิ่มขึ้น

โภชนาการและอาหารคนท้อง 34 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง

อาหารคนท้อง 34 สัปดาห์ ควรเลือกอาหารคนท้องที่มีโปรตีนสูง โดยเฉพาะปลาที่มี DHA โอเมก้า 3 สูง เพราะกรดไขมันจำเป็น จะมีบทบาทต่อโครงสร้างของสมองทารกและระบบประสาท ส่วนสารอาหารสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ไอโอดีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก

นอกจากนี้ ความต้องการพลังงานของคุณแม่จะเพิ่มขึ้น ควรบริโภคเพิ่มให้ได้ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน หรือตามที่แพทย์แนะนำ ให้เจ้าตัวน้อยมีสุขภาพที่แข็งแรง ร่างกายเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ ส่วนคุณแม่ก็ต้องมีสารอาหารอย่างเพียงพอเพื่อไปสร้างน้ำนมด้วย

อัลตราซาวด์เมื่ออายุครรภ์ 34 สัปดาห์

อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณแม่จะได้เห็นเจ้าตัวน้อยที่กลับหัวแล้วอยู่บริเวณอุ้งเชิงกราน

ข้อห้ามและคำแนะนำเมื่อตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์

อาหารและกิจกรรมที่คุณแม่ท้อง 34 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยง

  • คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ หรือของหมักดอง
  • ห้ามยกของหนัก หรือไม่ควรออกกำลังกายหักโหม
  • การมีเพศสัมพันธ์ในอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ไม่ควรสูบบุหรี่ หรืออยู่ใกล้ควันบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการอั้นปัสสาวะและอั้นอุจาระ

อาการแบบไหนบ่งชี้ความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ

ภาวะแทรกซ้อนสำคัญของการตั้งครรภ์ คือ อาการครรภ์เป็นพิษ อันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกในท้องถึงขั้นเสียชีวิตได้ อาการครรภ์เป็นพิษมักจะเกิดในอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป มี 3 ระดับ

  • ครรภ์เป็นพิษระดับไม่รุนแรง มีความดันโลหิตสูง อาการบวมในร่างกายปานกลาง
  • ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง มีอาการปวดศีรษะมาก ตาพร่ามัว รู้สึกจุกเสียดบริเวณลิ้นปี เกล็ดเลือดต่ำ เสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมปอด หรือเลือดออกในสมอง
  • ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงจนเกิดอาการชัก จะมีอาการชัก เกร็ง หรือหมดสติ

การดูแลรักษาครรภ์เป็นพิษจึงควรทำทันที คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการคนท้อง หากมีอาการมือบวม เท้าบวม ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นท้อง ควรรีบพบแพทย์

อ้างอิง:

  1. สัญญานอันตรายที่แม่ตั้งครรภ์ต้องรีบไปพบแพทย์ : พบหมอรามาฯ, RAMA CHANNEL
  2. คู่มือ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต, มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิตเขตสุขภาพที่ 9
  3. คู่มือโรงเรียนพ่อแม่, ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา กรมอนามัย
  4. ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายของคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช

อ้างอิง ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2566