เข้าสู่การตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์ ลูกน้อยตอบสนองต่อเสียงนอกครรภ์ได้ดี น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1 กิโลกรัมแล้ว และยังดิ้นแรงและถี่ขึ้น ทำให้คุณแม่แน่นท้อง มีอาการกรดไหลย้อนตอนท้อง แสบร้อนกลางอกระหว่างตั้งครรภ์

พัฒนาการของทารกในครรภ์
ในช่วงการตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์ ลูกน้อยลืมตาได้แล้ว แต่สีตานั้นยังไม่สามารถเห็นได้ชัดเจน ส่วนร่างกายก็เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เริ่มท้วมขึ้นเรื่อยๆ โดยมีน้ำหนักประมาณ 1,000 กรัม หรือ 1 กิโลกรัม ร่างกายของลูกน้อยเริ่มมีไขมันสะสมมากขึ้น เส้นผม ขน เล็บ เริ่มงอกออกมาต่อเนื่อง และฟันน้ำนมเริ่มสร้างตัวใต้เหงือกแล้ว

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่
ในช่วงกลางคืนคุณแม่จะรู้สึกนอนไม่หลับ ถึงหลับก็หลับไม่สนิท สาเหตุเกิดจากอาการกรดไหลย้อน แสบร้อนกลางอก จุดเสียดท้อง เพราะมดลูกของคุณแม่โตขึ้น จึงไปดันลำไส้และกระเพาะอาหาร ประกอบกับลูกดิ้นแรง เหมือนกำลังเต้นอยู่ในท้องของคุณ ทำให้คุณหาท่านอนที่สบายตลอดคืนได้ยาก คุณแม่ท่านไหนชอบนอนหงาย อาจจะทำให้อึดอัดและหายใจไม่สะดวก ท่านอนคนท้องที่เหมาะสมในช่วงนี้คือ นอนตะแคง รองหมอนข้างระหว่างหัวเข่า หรือหาหมอนมาหนุนหน้าท้องเพื่อลดความอึดอัด จะช่วยทำให้หลับสบายขึ้น

โภชนาการคุณแม่ที่ควรได้รับ
ระหว่างที่ตั้งครรภ์นี้หากคุณแม่มีอาการแสบร้อนกลางอก หรือมีอาการของกรดไหลย้อนในเวลากลางคืน แนะนำให้รับประทานอาหารย่อยง่าย ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมื้อเย็น ระวังการทานอาหารที่มีไขมันสูงๆ เนื่องจากทำให้ย่อยยากซึ่งส่งผลรบกวนการนอนหลับ หากการทานอาหารปริมาณลดลงในมื้อเย็นทำให้หิวในตอนกลางคืน แนะนำให้คุณแม่ทานอาหารว่างเล็กน้อยก่อนเวลาเข้านอนประมาณ 1 ชั่วโมง
เคล็ดลับสำหรับคุณแม่ยิ่งร่างกายของลูกน้อยโตขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดิ้นรุนแรงมากเท่านั้น อย่างในการตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์ คุณแม่จะรู้สึกเหมือนว่าลูกน้อยกำลังตีลังกาเล่นในน้ำคร่ำ หรือชกมวยอยู่ในท้องของคุณแม่เลยทีเดียว หากคุณแม่มีอาการจุดเสียดที่ท้อง มีอาการกรดไหลย้อน และแสบร้อนกลางอกระหว่างตั้งครรภ์ เราขอแนะนำให้คุณแม่เพิ่มหมอนให้สูงขึ้นจะทำให้หายใจสะดวกและนอนสบายขึ้น แต่หากลูกน้อยดิ้นรุนแรง และมีอาการรุนแรงอยู่ในระดับที่ทนไม่ไหว นอนไม่ได้ แนะนำให้ไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจเช็คอาการโดยละเอียด
อ้างอิง:
1. Mennella JA, Jagnow CP, Beauchamp GK: Prenatal and Postnatal Flavor Learning by Human Infants. Pediatrics 2001, 107: -e88.
2. Seron-Ferre M, Torres-Farfan C, Forcelledo ML, Valenzuela GJ: The development of circadian rhythms in the fetus and neonate. Seminars in Perinatology 2001, 25: 363-370.
3. Swaiman KF: Pediatric neurology: principles & practice, 5th edn. Philadelphia: Elsevier/Saunders; 2012.
4. Weaver LT, Austin S, Cole TJ: Small intestinal length: a factor essential for gut adaptation. Gut 1991, 32: 1321-1323.