MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ ดูแลครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่
บทความ

PLAYING: คุณแม่ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 24 สัปดาห์

Add this post to favorites

คุณแม่ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 24 สัปดาห์

การตั้งครรภ์เลยมาครึ่งทางแล้วนะคะ ทารกมีขนาดประมาณเท่าแครอท คุณแม่ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์จะรู้สึกถึงการเป็นคุณแม่อย่างเต็มตัว ทั้งรับรู้การดิ้นไปมาของลูกน้อยอย่างชัดเจน ทารกในครรภ์จะเริ่มมีปฏิกิริยาตอบสนองจากภายนอกได้ เนื่องจากเริ่มได้ยินเสียงชัดเจนขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุย เล่านิทานให้ลูกน้อยฟังได้บ่อย ๆ รวมไปถึงการลูบสัมผัสท้องส่งผ่านความรักความห่วงใยแก่ลูกน้อยได้

2นาที อ่าน

สรุป

  • คุณแม่ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์ นับเป็นไตรมาสที่สอง และกำลังเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายแล้วค่ะ คุณแม่อาจมีอาการปวดหลัง ตะคริว และเท้าบวม ซึ่งเป็นอาการปกติที่เกิดจากขนาดของทารกในครรภ์มากขึ้นจนไปกดทับกระดูกสันหลัง และทำให้กล้ามเนื้อหลังรองรับน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น
  • ทารกในครรภ์ช่วงนี้จะเติบโตทางร่างกายลดลง แต่ไปพัฒนาอวัยวะภายในให้มีความสมบูรณ์เตรียมความพร้อมก่อนออกสู่โลกภายนอกมากขึ้น อาทิ ปอด ระบบทางเดินอาหาร และระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ
  • การตรวจอัลตราซาวด์แบบ 4 มิติ จะสามารถทำได้ในช่วงอายุครรภ์นี้ เพื่อให้คุณแม่สามารถเห็นใบหน้าลูกน้อยได้อย่างชัดเจน ดูการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่น การยิ้ม อ้าปากหาว ยกแขนขาได้ รวมไปถึงการตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ก็จะเกิดขึ้นได้ในช่วงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์นี้

ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ในสัปดาห์นี้ คุณแม่จะสามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจนถึงการเคลื่อนไหวไปมาของทารกในครรภ์ คุณแม่จะมีอาการปวดหลังมากขึ้น เนื่องจากท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นมาก อาการตะคริว เท้าบวมยังคงอยู่ การยกเท้าสูง ดื่มน้ำสะอาดและพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ค่ะ

ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

อายุครรภ์ครบ 24 สัปดาห์ เท่ากับคุณแม่ตั้งครรภ์ 6 เดือนเต็มแล้วค่ะ เตรียมตัวเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายแล้ว

ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน

ทารกในครรภ์อายุ 24 สัปดาห์จะเริ่มเติบโตช้าลง แต่จะไปพัฒนาอวัยวะภายในร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปอด เพื่อเตรียมตัวสำหรับการหายใจหลังคลอดแทนการรับออกซิเจนผ่านสายรกเมื่ออยู่ในครรภ์คุณแม่ ในช่วงนี้ทารกอาจจะยังตัวไม่ใหญ่มากนักเพราะไขมันใต้ผิวหนังน้อย

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 24 สัปดาห์ เป็นอย่างไร

1. ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์ ทารกมีขนาดตัวเท่าใด

ทารกมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเกือบ 600 กรัม

2. ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง

ทารกจะเคลื่อนไหวแบบอิสระมากขึ้น จนคุณแม่รับรู้ได้ชัดเจน และมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงหัวใจคุณแม่ หรือเสียงจากภายนอกได้ด้วย หากทารกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้นนานเกิน 2 ชั่วโมง คุณแม่อาจกระตุ้นด้วยการเดินไปมาหรือทานของหวาน แต่หากยังไม่ดิ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ค่ะ

3. อวัยวะและระบบต่าง ๆ

ในช่วงนี้ร่างกายจะพัฒนาอวัยวะภายในให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้ง ปอดเพื่อช่วยในการหายใจหลังคลอด ระบบทางเดินอาหาร และระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ

การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 24 สัปดาห์

คุณแม่ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์บางรายอาจรู้สึกคันที่ท้อง เกิดจากผิวหนังบริเวณดังกล่าวขยายอย่างรวดเร็ว ทำให้สูญเสียความ ชุ่มชื้น แต่ไม่แนะนำให้คุณแม่เกาที่ท้อง เนื่องจากอาจเป็นแผลและเกิดการติดเชื้อได้ ดังนั้นคุณแม่จึงควรหมั่นทาโลชั่นหรือออยล์เพื่ออาการคันดังกล่าว และยังช่วยลดการเกิดท้องลายได้ด้วย

อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์ เป็นแบบไหน

  • เท้าและข้อเท้าบวม อาการบวมที่เท้าและข้อเท้าเพียงเล็กน้อยถือเป็นปกติ คุณแม่อาจหาอะไรหนุนเท้าให้สูงเวลานั่ง หรือลุกขึ้นเดินบ่อย ๆ ก็จะช่วยลดอาการบวมได้ แต่หากอาการบวมมากขึ้น รวมถึงมีการบวมบริเวณใบหน้าและมืออย่างรวดเร็ว รวมถึงมีอาการปวดหัว ตาพร่ามัว ควรรีบพบแพทย์เพราะอาจเป็นอาการครรภ์เป็นพิษได้
  • ตะคริว คุณแม่อาจหมั่นเหยียดเท้า ยืดขาบ่อย ๆ จะช่วยลดอาการตะคริวได้ และอย่าลืมดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพราะร่างกายขาดน้ำก็เป็นสาเหตุหนึ่งให้เกิดตะคริวได้
  • ปวดหลัง เมื่อทารกในครรภ์โตขึ้นจนมดลูกขยายไปกดทับกระดูกสันหลัง ทำให้โค้งงอและตึงมากขึ้น รวมถึงการแบกรับน้ำหนักครรภ์ที่มากขึ้นด้วย จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังหนักขึ้น
  • เส้นดำกลางท้อง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนส่งผลให้เกิดเส้นสีดำบริเวณกลางท้องของคุณแม่ ซึ่งไม่ต้องตกใจนะคะ หลังคลอดแล้วเส้นสีดำดังกล่าวจะค่อย ๆ จางไปเองค่ะ
  • รอยแตกลาย เกิดจากผิวหนังบริเวณท้องมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยส่วนมากจะเริ่มเห็นรอยแตกลายที่ท้องก่อน และเริ่มเกิดบริเวณสะโพกและต้นขา คุณแม่ควรหมั่นทาโลชั่นหรือออยล์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และดื่มน้ำสะอาดเยอะ ๆ และหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นหรือร้อนจัดเกินไปนะคะ

อาหารคนท้อง 24 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง

คุณแม่ควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน เน้นอาหารที่มีกากใยสูง เพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ เพราะหากคุณแม่มีอาการท้องผูก อาจทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารได้ รวมถึงต้องพยายามควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะอาจเสี่ยงต้องภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งในช่วงอายุครรภ์นี้คุณหมอจะเริ่มนัดตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ด้วยการให้คุณแม่รับประทานกลูโคสขนาด 50 กรัม ถ้าผลตรวจของระดับ Plasma glucose มากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรถือว่าผิดปกติ ซึ่งหากผลผิดปกติ คุณหมอจะให้คุณแม่ไปตรวจวินิจฉัยต่อด้วยการทานกลูโคสขนาด 100 กรัมต่อไป

อาหารคนท้อง 24 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง

การอัลตราซาวด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 24 สัปดาห์

เมื่ออายุครรภ์ครบ 24 สัปดาห์ จะเป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับการอัลตราซาวด์แบบ 4 มิติ (4D) เพราะจะสามารถเห็นใบหน้าทารกในครรภ์อย่างชัดเจนมาก ซึ่งการอัลตราซาวด์แบบ 4 มิติ (4D) จะช่วยให้เห็นทารกเสมือนจริง เป็นการนำภาพนิ่งมาแสดงต่อเนื่องกันจนเป็นภาพเคลื่อนไหว คุณแม่จะสามารถเห็นลูกน้อยในครรภ์ยิ้ม อ้าปากหาว หรือลืมตาได้เลยนะคะ

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 24 สัปดาห์

อาหารและกิจกรรมที่คุณแม่ท้อง 24 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยง

คุณแม่ต้องเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยในการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์และการสร้างอวัยวะภายในให้สมบูรณ์แข็งแรง อาทิ โปรตีน ธาตุเหล็ก โฟเลต ไอโอดีน และเน้นแคลเซียม อาหารที่มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงไม่สุก หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ และควรควบคุมปริมาณน้ำตาล เพราะอาจส่งผลต่อภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้

อาการแพ้ท้องยังไม่หมดไป ทำอย่างไรดี

คุณแม่ตั้งครรภ์บางท่าน อาจมีอาการแพ้ท้องจนถึงคลอดได้ แต่อาการควรลดความรุนแรงลงจากช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก เพราะอาจส่งผลต่อการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากยังคงทานได้น้อย หรืออาการขาดน้ำได้ ดังนั้นหากยังคงมีอาการแพ้ท้องอยู่ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีลดอาการแพ้ท้องให้น้อยลง หรือแบ่งอาหารทานเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่มีจำนวนมื้อมากขึ้น หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ท้อง และพักผ่อนให้เพียงพอ

คุณแม่กำลังเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์แล้วนะคะ ทารกในครรภ์ก็เตรียมพร้อมร่างกายและพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ เพื่อเตรียมออกสู่โลกภายนอกด้วยเช่นกัน ดังนั้น คุณแม่ต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และดื่มน้ำสะอาด รวมถึงออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนคลอด และหมั่นฝึกจิตใจคลายกังวลต่าง ๆ คิดแต่สิ่งดี ๆ ที่จะได้พบกับลูกน้อยในอีกไม่นานนี้ค่ะ

อ้างอิง:

  1. 9 เดือน มหัศจรรย์พัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
  2. 9 เดือน กับพัฒนาการของทารกในครรภ์, โรงพยาบาลเปาโล
  3. คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1-3, โรงพยาบาลบางปะกอก
  4. อัลตราซาวด์ 4 มิติ คือ ?, รักษ์นรีคลีนิก
  5. เบาหวานกับการตั้งครรภ์, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  6. พัฒนาการของลูกน้อย เช็คได้จากการตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ, โรงพยาบาลเปาโล
  7. เทคนิคคุณแม่ดูแลครรภ์ 9 เดือนอย่างมีคุณภาพ, โรงพยาบาลกรุงเทพ

อ้างอิง ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2566