MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ ดูแลครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่
บทความ

PLAYING: คุณแม่ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 16 สัปดาห์

Add this post to favorites

คุณแม่ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 16 สัปดาห์

เมื่ออายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ร่างกายของคุณแม่จะสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง เพราะมดลูกขยายใหญ่เพื่อรองรับทารกในครรภ์ที่เจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เจ้าตัวน้อยในตอนนี้มีน้ำหนักประมาณ 125 กรัม คุณแม่ควรหมั่นเปลี่ยนอิริยาบถ ให้ร่างกายขยับเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ลดโอกาสการเกิดตะคริวได้ด้วย

2นาที อ่าน

สรุป

  • อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ลูกน้อยมีลำตัว ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ปอดเริ่มทำงาน
  • แม่ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ อาจมีอาการปวดหลัง ท้องผูก ดวงตาแห้งและคัน

คุณแม่ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

คุณแม่ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 แล้ว จะเริ่มรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อาจสัมผัสได้ถึงช่วงเวลาลูกดิ้นเป็นครั้งแรก ช่วงนี้คุณแม่จะรู้สึกตื่นเต้นเพราะได้รับรู้การเคลื่อนไหวของลูก จากน้อย ๆ และค่อย ๆ รู้สึกชัดเจนขึ้น บ่อยมากขึ้น

ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

การตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ เท่ากับ 4 เดือนแล้ว อาการแพ้ท้องของคุณแม่หลายคนอาจหายไป อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด คลื่นไส้อาเจียน ก็น้อยลงไปด้วย เริ่มรับประทานอาหารได้มากขึ้น คุณหมออาจแนะนำให้ดูแลตัวเอง ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละประมาณ 0.5 กิโลกรัม

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 16 สัปดาห์ เป็นอย่างไร

1. ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ ทารกมีขนาดตัวเท่าใด

อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ลูกน้อยมีลำตัว ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ลักษณะผิวหนังบางใสสีชมพูจนเห็นเส้นเลือดได้ชัดเจน

2. ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง

คุณแม่บางคนอาจสัมผัสลูกดิ้นได้แล้ว อาจเป็นการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็จะรู้สึกได้ คล้ายกับการกระตุก

3. อวัยวะและระบบต่าง ๆ

อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ มีขนตา ขนคิ้ว เล็บเริ่มงอกออกมาแล้ว

การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 16 สัปดาห์

ท้องของคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ จะใหญ่ขึ้น เพราะทารกในครรภ์เติบโตขึ้น ส่งผลต่อร่างกายคุณแม่ โดยเฉพาะมดลูกที่ขยายตัวขึ้นมา ร่างกายของแม่ก็ต้องผลิตเลือดให้มากขึ้น เพื่อไปเลี้ยงมดลูกและอวัยวะต่าง ๆ

อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ เป็นอย่างไรได้บ้าง

  • ปวดหลัง อาการปวดหลังเกิดขึ้นเพราะมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ คุณแม่เองก็มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้คุณแม่ต้องแบกน้ำหนักเพิ่มขึ้น จนอาจทำให้รู้สึกปวดหลังได้
  • หน้าอกขยาย ขนาดของเต้านมคุณแม่จะขยายตัวขึ้น หัวนมและลานนมโตขึ้น สีคล้ำขึ้น อาจรู้สึกเจ็บคัดตึงเต้านมคล้ายกับช่วงก่อนมีประจำเดือน
  • ท้องผูก ฮอร์โมนคนท้องที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการไหลเวียนของหลอดเลือดมากขึ้น ส่งผลต่อการทำงานของลำไส้ อีกทั้งมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นอาจไปกดลำไส้ใหญ่ มีผลต่อการทำงานของระบบขับถ่าย อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุให้คนท้องมีอาการท้องผูก
  • ดวงตาแห้งและคัน ตอนตั้งครรภ์ ร่างกายจะกักเก็บน้ำและเลือดไว้ ฮอร์โมนเปลี่ยน ความดันเลือดผันผวน อาจทำให้เกิดอาการตาแห้งหรือระคายเคืองตาได้ การใช้น้ำตาเทียมหรือยาหยอดตา ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเลือกให้ปลอดภัยกับลูกในครรภ์

อาหารคนท้อง 16 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง

ในช่วงไตรมาสที่ 2 คุณแม่จะมีความต้องการพลังงานและโปรตีนเพิ่มขึ้นราว 300 กิโลแคลอรี่ต่อวัน เน้นโภชนาการที่หลากหลายให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น

  • โฟเลต
  • ธาตุเหล็ก
  • สังกะสี
  • ไอโอดีน
  • โพแทสเซียม

ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ อาหารคนท้อง 16 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง

เนื่องจากการตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ หรือในช่วงไตรมาส 2 ทารกในครรภ์กำลังสร้างเนื้อเยื่อ อวัยวะต่าง ๆ และโครงสร้างของร่างกาย สารอาหารต่าง ๆ จะช่วยเพิ่มขนาดของอวัยวะ ช่วยเรื่องพัฒนาการทางสมองและระบบประสาท

การอัลตราซาวด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 16 สัปดาห์

การอัลตราซาวด์อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ เป็นการยืนยันอายุครรภ์ วัดขนาดทารกในครรภ์ รวมถึงเช็กความผิดปกติของทารกในครรภ์ และสามารถทราบเพศของลูกได้

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์

1. อาหารและกิจกรรมที่คุณแม่ท้อง 16 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยง

  • คุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 16 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก ขนมหวานและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือแม้แต่อาหารรสจัด
  • แม้ว่าการออกกำลังกายจะดีสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่ไม่ควรเล่นกีฬาที่หนักเกินไป หรือออกกำลังกายอย่างหักโหม
  • ไม่ควรนอนหงายเป็นเวลานาน เพราะท้องของคุณแม่จะใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ ควรเลือกท่านอนตะแคงสลับไปมาทั้ง 2 ข้าง พร้อมกับใช้หมอนรองขาให้สูงขึ้นจะช่วยลดอาการบวมของขาได้
  • หลีกเลี่ยงการยืน เดิน หรือนั่งนาน อาจทำให้มีอาการตะคริวได้

2. อาการแพ้ท้องยังไม่หมดไป ทำอย่างไรดี

โดยปกติอาการแพ้ท้องของแม่ตั้งครรภ์จะค่อย ๆ ลดลงเมื่อผ่านพ้นไตรมาสแรก แต่หากคุณแม่ยังมีอาการแพ้ท้องควรหาวิธีบรรเทา เช่น กินของว่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ในช่วงเช้า แบ่งอาหารสำหรับคนท้อง เป็นมื้อเล็กหลายมื้อ เลือกรับประทานอาหารอ่อน ๆ ไม่มีกลิ่น และอาจดื่มน้ำขิงเพื่อบรรเทาอาการแพ้ท้อง หากคุณแม่ยังมีอาการแพ้ท้องรุนแรงต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

อ้างอิง:

  1. การดูแลสตรีในระยะตั้งครรภ์, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
  2. กรมอนามัย แนะอาหารหญิงท้อง เตรียมพร้อมตั้งแต่ตั้งครรภ์จนคลอด, กรมอนามัย
  3. คู่มือโรงเรียนพ่อแม่, ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  4. เคล็ดลับดูแลดวงตา 5 ประการ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน
  5. การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในสตรีตั้งครรภ์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  6. ท้องผูก เรื่องอึดอัดของว่าที่คุณแม่, โรงพยาบาลเปาโล
  7. ไตรมาสที่2 ของการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 14 - 28 สัปดาห์ ), โรงพยาบาลบีเอ็นเอช

อ้างอิง ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566