MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ ดูแลครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่
บทความ

PLAYING: เคล็ดลับดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ 23 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารกอายุครรภ์ 23 สัปดาห์

Add this post to favorites

เคล็ดลับดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ 23 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารกอายุครรภ์ 23 สัปดาห์

ลูกน้อยเจริญเติบโต เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น เคล็ดลับการปฏิบัติตัว และรับมือกับความเครียด เพื่อลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานในคุณแม่ตั้งครรภ์ 23 สัปดาห์ พร้อมโภชนาการที่ถูกต้อง

2นาที อ่าน

ในช่วงตั้งครรภ์ 23 สัปดาห์ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงลูกน้อยมากขึ้น เพราะพัฒนาการเด็กในครรภ์เริ่มเติบโตจนจำแนกเสียงได้หลากหลาย และยังมีปฏิกิริยากับเสียงต่างๆ สามารถตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของคุณแม่ได้แล้ว

Pregnant woman looking at her baby

พัฒนาการของทารกอายุครรภ์ 23 สัปดาห์

ไตรมาสที่ 2 เท้าของลูกน้อยยาว 4.5 - 5 ซม. ลูกมีน้ำหนักมากกว่า 700 กรัม เด็กในครรภ์จะเริ่มมีพัฒนาการของอวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น
• หูชั้นในจะเริ่มสมบูรณ์จึงทำให้ลูกน้อยได้ยิน และแยกแยะความแตกต่างของเสียงได้
• ตับ และตับอ่อน เริ่มสร้างเอนไซม์สำหรับกำจัดของเสียในเซลล์เม็ดเลือดแดงของตัวเองได้
• ปอดจะมีการพัฒนาเพื่อพร้อมรับการหายใจ และในช่วงนี้คุณแม่สามารถทราบเพศของลูกน้อยได้แล้ว หากลูกของคุณเป็นเด็กผู้หญิง เธอมีช่องคลอดและรังไข่ แต่ถ้าลูกเป็นเด็กผู้ชาย เขามีอวัยวะเพศชาย และต่อมลูกหมาก แม้ว่าลูกอัณฑะของเขาจะสร้างตั้งแต่เดือนที่ 2 แต่มันยังคงอยู่ในช่องท้องของเขา โดยจะเคลื่อนลงมาตอนแรกเกิดหรือในช่วงสองสามเดือนแรกเกิดนั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตั้งครรภ์อาจทำให้คุณแม่เกิดความเครียด และสำหรับคุณแม่บางท่านอาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเบาหวานในขณะกำลังตั้งครรภ์ มักพบหลังจากการตั้งครรภ์ได้ 23-28 สัปดาห์ หากคุณไม่ได้เป็นเบาหวานมาก่อน แต่ขณะครรภ์ 23-28 สัปดาห์มีระดับกลูโคสหรือน้ำตาลในเลือดสูง จะถือว่าเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สาเหตุเป็นเพราะว่า ‘อินซูลิน’ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายของคุณสร้างขึ้นนั้นไม่เพียงพอต่อการนำกลูโคสจากในเลือดไปยังเซลล์ที่อยู่ในร่างกาย เพราะเมื่อตั้งครรภ์ รกจะสร้างฮอร์โมนบางชนิดที่มีฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนอินซูลินที่คอยคุมระดับน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ถ้าภาวะนี้ไม่ได้รับการควบคุม จะทำให้เกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และส่งผลกระทบต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ แต่คุณแม่ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะคุณแม่สามารถป้องกันได้ นอกจากการดูแลรักษาจากคุณหมออย่างใกล้ชิดแล้ว ตัวคุณแม่เองก็สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้โดยการควบคุมอาหาร และพักผ่อนให้เพียงพอ เท่านี้ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงภาวะโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้แล้ว

โภชนาการที่คุณแม่อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ควรได้รับ

เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถดูแลโภชนาการได้ด้วยตนเอง เพียงใส่ใจในเรื่องการกินมากขึ้นเช่น
• พยายามควบคุมปริมาณอาหารจำพวกแป้ง หรือน้ำตาล เปลี่ยนมารับประทานข้าวซ้อมมือแทนข้าวขาว
• เพิ่มอาหารพวกโปรตีน เนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ โดยเลือกทานเนื้อสัตว์ส่วนที่ไม่ติดมันและหนัง
• รับประทานผักหลากหลายชนิดในอาหารแต่ละมื้อ โดยเน้นผักผลไม้ที่มีกากใยสูง ควรหลีกเลี่ยงผลไม้สุกมากๆ ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้ตากแห้ง ผลไม้กระป๋อง เช่น มะม่วงสุก ทุเรียน อินทผาลัม ผลไม้ในน้ำเชื่อมกระป๋อง เป็นต้น เนื่องจากให้น้ำตาลมากกว่าผลไม้สดทั่วไป
• ควรเลือกทานผลไม้สดเป็นมื้อว่าง ปริมาณที่เหมาะสมสำหรับช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดคือประมาณ 1 จานรองกาแฟ หรือ 1 กำปั้น
• ควรหลีกเลี่ยงอาหารทานเล่นประเภทขนมถุงกรุบกรอบ มันฝรั่งทอด หรือการปรุงอาหารแบบหนักมือ เพราะอาหารเหล่านี้มักมีเกลือสองถึงสามเท่าของปริมาณที่ร่างกายคุณแม่ต้องการ แต่ถึงแม้ว่าคุณแม่จะถูกให้จำกัดการทานเกลือ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ทานเกลือเลย เพราะโซเดียมเป็นสิ่งจำเป็นต่อความสมดุลของน้ำในร่างกาย ซึ่งความสมดุลนี้มักจะถูกรบกวนจากฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์ ฉะนั้นคุณแม่ต้องทานโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้มีความสมดุล

เคล็ดลับสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 23 สัปดาห์

เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงทั้งคุณแม่และลูกน้อย คุณแม่ควรหมั่นไปพบแพทย์ตามใบนัด เพื่อตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นออกกำลังกายเพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และการออกกำลังกายที่ถูกวิธีจะช่วยบรรเทาอาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ตัวบวม ท้องผูก และนอนไม่หลับได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และต้องได้รับอนุญาตจากแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและลูกน้อยในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการตั้งครรภ์ใกล้จะถึงไตรมาสสุดท้าย ท้องคุณแม่จะใหญ่ขึ้นทำให้เดินไม่สะดวก ทางที่ดีคุณพ่อควรจะพาคุณแม่ไปตรวจตามที่คุณหมอนัดพร้อมกัน หรือหากเป็นไปได้คุณพ่อควรเข้าคอร์สอบรมก่อนคลอดกับคุณแม่ด้วย เพื่อช่วยกันเตรียมความพร้อม และฝึกทักษะที่จำเป็นก่อนลูกจะเกิด อีกทั้งยังได้ใช้เวลากับคุณแม่ด้วยเป็นการเชื่อมความผูกพันทั้งครอบครัว

อ้างอิง:
1. Mennella JA, Jagnow CP, Beauchamp GK: Prenatal and Postnatal Flavor Learning by Human Infants. Pediatrics 2001, 107: -e88.
2. Seron-Ferre M, Torres-Farfan C, Forcelledo ML, Valenzuela GJ: The development of circadian rhythms in the fetus and neonate. Seminars in Perinatology 2001, 25: 363-370.
3. Swaiman KF: Pediatric neurology: principles & practice, 5th edn. Philadelphia: Elsevier/Saunders; 2012.
4. Weaver LT, Austin S, Cole TJ: Small intestinal length: a factor essential for gut adaptation. Gut 1991, 32: 1321-1323.
5. MedlinePlus [Internet]. Bethesda (MD): National Library of Medicine (US); [updated 2016 Oct 05]. Fetal development; [reviewed 2015 Sept 26; cited 2016 Oct 27]; [about 2 p.]. Available from: https://medlineplus.gov/ency/article/002398.htm