MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ ดูแลครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่
บทความ

PLAYING: คุณแม่ตั้งครรภ์ 17 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 17 สัปดาห์

Add this post to favorites

คุณแม่ตั้งครรภ์ 17 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 17 สัปดาห์

เมื่อตั้งครรภ์เข้าสู่สัปดาห์ที่ 17 อาจเรียกได้ว่าเกือบจะเข้าสู่ครึ่งทางของการตั้งครรภ์แล้ว ช่วงเวลานี้คุณแม่จะรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวเองอย่างเห็นได้ชัดจากทางสรีระร่างกาย รวมไปถึงการรับรู้การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์เได้อีกด้วย

2นาที อ่าน

สรุป

  • เมื่ออายุครรภ์ 17 สัปดาห์ ทารกจะมีขนาดเท่ากับหัวผักกาด อวัยวะและระบบต่างๆ ของทารกมีพัฒนาการที่ชัดเจน และมีการเติบโตจนท้องคุณแม่โตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • ช่วงเวลานี้คุณแม่บางรายจะรับรู้ได้ว่าลูกดิ้นเป็นครั้งแรก เพราะทารกในครรภ์เริ่มดิ้นแรงขึ้น
  • ท้องคุณแม่จะเริ่มโตขึ้น จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายจึงเริ่มเปลี่ยนแปลง และน้ำหนักคุณแม่จะเพิ่มขึ้นราวสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม
  • การอัลตราซาวด์ในช่วงอายุครรภ์ 17 สัปดาห์ จะสามารถเห็นเพศของทารกได้แล้ว นอกจากนี้ยังได้ยินเสียงหัวใจทารกได้อีกด้วย

ตั้งครรภ์ 17 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ทารกในครรภ์จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนคุณแม่รู้สึกได้ ท้องคุณแม่จะโตขึ้นเรื่อยๆ จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายจึงเริ่มเปลี่ยนแปลง คุณแม่ต้องระมัดระวังในการเคลื่อนไหวและการเดิน เพื่อช่วยไม่ให้เกิดอาการปวดหลังหรือกล้ามเนื้อตึง ขณะเดียวกันลูกน้อยก็มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ตั้งครรภ์ 17 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

ตอนนี้ทารกในท้องคุณแม่มีอายุเท่ากับ 4 เดือนแล้ว แต่ส่วนมากแล้วคุณหมอจะนับการตั้งครรภ์เป็นรายสัปดาห์มากกว่า เพราะบางเดือนก็มีระยะมากกว่าสี่สัปดาห์ ที่ทำให้การนับเป็นเดือนอาจสับสนได้

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 17 สัปดาห์ เป็นอย่างไร

ตั้งครรภ์ 17 สัปดาห์ ทารกมีขนาดตัวเท่าใด

เมื่ออายุครรภ์ 17 สัปดาห์ ทารกจะมีขนาดเท่ากับหัวผักกาด โดยขนาดตัวมีความยาวประมาณ 5.1 นิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 150 กรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 2 เท่า แต่ก็ยังมีร่างกายที่ผอมบาง เริ่มมีการสร้างไขมันเพื่อปกป้องผิวจากการกระแทกและควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ผิวหนังค่อนข้างใสและบางจนเห็นเส้นเลือดเล็กๆ ของลูกน้อยได้

ตั้งครรภ์ 17สัปดาห์ ลูกดิ้นแล้วหรือยัง

ช่วงเวลานี้คุณแม่จะสามารถรับรู้ได้ว่าลูกดิ้น เพราะทารกในครรภ์เริ่มดิ้นแรงขึ้น จากแขนและขาที่สมบูรณ์มากขึ้น กล้ามเนื้อและกระดูกอ่อนกำลังแข็งแรงขึ้นและมีการเชื่อมต่อ ให้ทารกได้ขยับข้อต่อต่างๆ

อวัยวะและระบบต่างๆ

ทารกมีพัฒนาการที่ชัดเจน ศีรษะได้สัดส่วนกับร่างกายมากขึ้น เริ่มมีขนตา ขนคิ้ว ขนอ่อนปกคลุมทั่วตัวและใบหน้า ลูกตากลอกไปมาได้แต่เปลือกตายังปิดสนิท หูทำงานอย่างเต็มที่โดยเริ่มได้ยินเสียงคุณแม่ และอาจเกิดอาการสะดุ้งเมื่อเสียงดัง ทารกเริ่มฝึกการดูดและการกลืน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการดูดนมครั้งแรก

คุณแม่ตั้งครรภ์ 17 สัปดาห์ อายุครรภ์ 17 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 17 สัปดาห์

คุณแม่อาจรู้สึกว่ากางเกงกับกระโปรงที่เคยใส่สบายก็เริ่มคับขึ้น นั่นเป็นเพราะท้องที่โตขึ้น ประกอบกับระยะนี้น้ำหนักคุณแม่จะเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละประมาณครึ่งกิโลกรัม จึงควรใส่เสื้อผ้าให้หลวมสบาย ไม่ใส่รองเท้าส้นสูง เพื่อให้เดินได้สะดวกยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น ต่อมน้ำนมโตขึ้นเพื่อเตรียมผลิตน้ำนมในอนาคต

อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 17 สัปดาห์ เป็นแบบไหน

แม้อาการแพ้ท้องในไตรมาสแรกจะบรรเทาลง แต่ก็อาจมีอาการอื่นๆ ที่พบได้บ่อยในอายุครรภ์นี้ เช่น

  • ร่างกายผลิตของเหลวมากขึ้น ในช่วงเวลานี้การไหลเวียนเลือดในร่างกายเพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากการที่ลูกน้อยในครรภ์เติบโตขึ้น ทำให้ร่างกายต้องทำงานหนักเ อาจทำให้เกิดอาการตกขาว มีเหงื่อมากเป็นปกติ หรือมีน้ำมูก หรือเหนื่อยง่าย
  • ฝันประหลาด เนื่องจากฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง หรืออาจจะเกิดจากความกังวลของคุณแม่เองก็เป็นได้ ช่วงเวลานี้คุณแม่อาจฝันไปในเรื่องต่างๆ ที่แปลกประหลาด เช่น ฝันว่าคลอดลูกออกมาเป็นสัตว์ต่างๆ เป็นต้น
  • น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อทารกในครรภ์เติบโตเร็วขึ้น คุณแม่อาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 4 กิโลกรัม โดยที่น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัมได้
  • รอยแตก เมื่อคุณแม่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และมีร่างกายที่ขยายเพื่อรองรับการเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ จึงเกิดปัญหารอยแตกที่ผิวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผิวบริเวณหน้าท้อง คุณแม่ควรดูแลทาครีมเพื่อให้ผิวเกิดความยืดหยุ่น รวมถึงดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อให้ผิวชุ่มชื้น

อาหารคนท้อง 17 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง

คุณแม่ควรรับประทานอาหารสำหรับคนท้อง  อย่างเหมาะสมและเพียงพอกับทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ โดยเน้นโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ และถั่ว รวมถึงอาหารที่เพิ่มพลังงานและส่งเสริมการเติบโตของทารกในครรภ์ จากอาหารพวกแป้งและไขมันดีในปริมาณที่เหมาะสมเช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ และถั่ว รวมถึงอาหารที่เพิ่มพลังงานและส่งเสริมการเติบโตของทารกในครรภ์ จากอาหารพวกแป้งและไขมันดี

นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามิน เช่น ผลไม้ เมล็ดทานตะวัน และผักสีเขียวปนเหลือง ที่สำคัญคือ ควรดื่มน้ำให้มากพอเพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ

การอัลตราซาวด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 17 สัปดาห์

การอัลตราซาวด์ในช่วงอายุครรภ์ 17 สัปดาห์ เป็นการตรวจยืนยันอายุครรภ์ โดยมีการวัดความยาวของทารกในครรภ์ และยังสามารถตรวจอวัยวะต่างๆ ได้ และเริ่มเห็นเพศของทารกได้แล้ว นอกจากนี้ยังเริ่มได้ยินเสียงหัวใจของทารกได้ ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์จะอยู่ที่ 140-150 ครั้ง/นาที นอกจากนี้ยังอาจตรวจค้นหาความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ได้อีกด้วย

: วิธีดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ 17 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารกอายุครรภ์ 17 สัปดาห์

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 17 สัปดาห์

คุณแม่อาจมีความสงสัยในเรื่องการดูแลครรภ์ในระยะนี้ สามารถดูสรุปข้อมูลได้ ดังนี้

1. อาหารและกิจกรรมที่คุณแม่ท้อง 17 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยง

  • เลี่ยงใส่รองเท้าส้นสูง เนื่องจากครรภ์ใหญ่ขึ้น ศูนย์ถ่วงร่างกายเปลี่ยนไป อาจทำให้ทรงตัวไม่อยู่
  • ไม่ควรยืนนาน และใช้หมอนหนุนต้นขาเวลานอน
  • ฝึกออกกำลังกายบริเวณเชิงกราน
  • ไม่ควรออกกำลังกายหนักเกินไป เพราะจะทำให้หายใจไม่ทัน เวียนศีรษะได้
  • ไม่รับประทานอาหารรสหวานมากเกินไป หากอยากอาหารหวานให้เลือกรับประทานผลไม้สดที่มีความหวานเล็กน้อย

2. อาการแพ้ท้องยังไม่หมดไป ทำอย่างไรดี

คุณแม่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะความอ่อนล้าอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการแพ้ท้องได้  รวมถึงออกกำลังกายระดับปานกลางจะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้อง ได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี หากคุณแม่ยังมีอาการแพ้ท้องมากและต่อเนื่อง ควรเข้าพบปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาอาการดังกล่าวต่อไป

อ้างอิง:

  1. เทคนิคคุณแม่ดูแลครรภ์ 9 เดือนอย่างมีคุณภาพ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  2. การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์และพัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
  3. ฟังเสียงหัวใจลูกในครรภ์ตอนอายุครรภ์ 17 สัปดาห์ 3 วันไม่ได้ อันตรายไหม, พบแพทย์
  4. เทคนิคคุณแม่ดูแลครรภ์ 9 เดือนอย่างมีคุณภาพ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  5. การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์และพัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
  6. How big is my baby? Week-by-week fruit and veggie comparisons, Baby Center
  7. 17 Weeks Pregnant, The Bump
  8. Can I Feel My Baby At 17 Weeks?, MedicineNet
  9. 17 Weeks Pregnant, what to expect
  10. ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 17, bunne & mamalade
  11. พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 17 ของการตั้งครรภ์, helloคุณหมอ

 

อ้างอิง ณ วันที่ 25 มกราคม 2567