อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ และพัฒนาการทารกในครรภ์
คุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นแรงขึ้นบ้างไหม นอกจากการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนขึ้นสัปดาห์นี้ลูกน้อยจะมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด อดใจรอให้ถึงการอัลตร้าซาวด์ครั้งที่สองไม่ไหวแล้ว
พัฒนาการของทารกอายุครรภ์ 18 สัปดาห์
ไตรมาสที่ 2 คุณแม่ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์แล้ว สัปดาห์นี้การเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์จะชัดเจนมาก เพราะกล้ามเนื้อเริ่มแข็งแรงขึ้น คุณแม่ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้สึกว่าลูกดิ้นมาก่อนก็จะเริ่มสัมผัสได้ เรื่องน่ายินดีอีกอย่างคือร่างกายของลูกน้อยกำลังสร้างเซลล์สมองหลายพันล้านเซลล์แบบทวีคูณ เช่นเดียวกับนิ้วมือของลูกน้อยที่กำลังพัฒนา โดยทั้งเล็บและลายนิ้วมือจะเริ่มปรากฎในสัปดาห์นี้
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์
คุณแม่คนไหนเคยลูบท้องแล้วจินตนาการถึงลูกน้อยในครรภ์บ้าง คุณแม่คงอยากรู้ว่าลูกเป็นเพศอะไร มีหน้าตาแบบไหน อดใจรออีกนิด เพราะใกล้ถึงเวลาสำหรับการอัลตร้าซาวด์ครั้งที่สองแล้ว โดยการอัลตร้าซาวด์ครั้งนี้ นอกจากแพทย์จะสามารถตรวจพัฒนาการเด็กในครรภ์ยังดูได้ด้วยว่าเจ้าตัวเล็กเป็นเพศอะไร แต่คุณแม่ต้องลุ้นให้ลูกน้อยนอนถูกท่าด้วยเพื่อให้คุณหมอดูเพศได้ง่าย ไม่อย่างนั้นอาจจะได้รู้เพศของลูกในวันคลอดเลยก็ได้
โภชนาการที่คุณแม่อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ควรได้รับ
คุณแม่บางคนอาจมีปัญหาขับถ่ายยากระหว่างท้อง แต่ไม่ต้องกังวลมากจนเกินไป เพราะอาการเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการปรับโภชนาการให้เหมาะสม โดยควรเลือกทานอาหารที่อุดมไปด้วยเส้นใยอย่างผักผลไม้สด ธัญพืช และพืชตระกูลถั่ว คุณแม่อาจจะลองดื่มน้ำส้ม หรือลูกพรุนที่แช่น้ำไว้จนนิ่มกินกับโยเกิร์ตในมื้อเช้า เพราะอาหารเหล่านี้เป็นเหมือนยาระบายตามธรรมชาติที่ปลอดภัยและช่วยในการขับถ่ายให้คุณแม่รู้สึกสบายท้องขึ้น อย่าลืมดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 2 ลิตร ควบคู่กับการออกกำลังกาย อย่างการเดินหรือทำกิจกรรมเบาๆ แต่ถ้าคุณแม่คนไหนยังกังวลอยู่ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ และอย่าซื้อยาระบายทานเองโดยเด็ดขาด
เคล็ดลับสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 18 สัปดาห์
เพื่อให้ลูกในครรภ์และคุณแม่ได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ จึงควรเลือกทานอาหารที่ให้โภชนาการคุณแม่อย่างเหมาะสมและอุดมไปด้วยแคลเซียมอย่างนม สำหรับคุณแม่บางคนที่มีภาวะการย่อยแลคโตสผิดปกติ แนะนำให้ทานชีส หรือโยเกิร์ตทดแทน เพราะแลคโตสในอาหารกลุ่มนี้ บางส่วนจะถูกกำจัดออกไปด้วยกรรมวิธีการหมัก นอกจากนี้ยังมีนมแลคโตสฟรี และนมลดแลคโตสเป็นอีกตัวเลือกที่คุณแม่สามารถทานได้ รวมถึงอาหารอื่นๆ ที่มีแคลเซียมสูง เช่น ขนมปังชนิดที่ไม่ใช้นมเป็นส่วนผสม ผักใบเขียว ผลไม้ สาหร่ายทะเล หรือถั่วแห้งก็ได้เช่นกัน
อ้างอิง:
1. Seron-Ferre M, Torres-Farfan C, Forcelledo ML, Valenzuela GJ: The development of circadian rhythms in the fetus and neonate. Seminars in Perinatology 2001, 25: 363-370.
2. Swaiman KF: Pediatric neurology: principles & practice, 5th edn. Philadelphia: Elsevier/Saunders; 2012.
3. Weaver LT, Austin S, Cole TJ: Small intestinal length: a factor essential for gut adaptation. Gut 1991, 32: 1321-1323.
4. MedlinePlus [Internet]. Bethesda (MD): National Library of Medicine (US); [updated 2016 Oct 05]. Fetal development; [reviewed 2015 Sept 26; cited 2016 Oct 27]; [about 2 p.]. Available from: https://medlineplus.gov/ency/article/002398.htm