MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ ดูแลครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่
บทความ

PLAYING: บทบาทสำคัญของกรดโฟลิกที่มีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์

Add this post to favorites

บทบาทสำคัญของกรดโฟลิกที่มีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์

กรดโฟลิก สิ่งที่คุณแม่ขาดไม่ได้ตลอดการตั้งครรภ์ มาดูความสำคัญและแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยกรดโฟลิกกันเถอะ

1นาที อ่าน

กรดโฟลิก จำเป็นต่อร่างกายคุณแม่อย่างมาก เพราะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง และพัฒนาการให้แก่ลูกน้อย ดังนั้นขณะตั้งครรภ์ คุณแม่จึงควรศึกษาแหล่งกรดโฟลิกสำหรับคุณแม่ และเสริมเข้าไปในทุกมื้ออาหาร เพื่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย

Foods rich in folic acid for pregnancy


กรดโฟลิก (Folic Acid) คืออะไร มีความสำคัญต่อคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างไร
 

กรดโฟลิก (Folic Acid) หรือที่เรียกกันว่า วิตามินบี 9 หรือโฟเลต ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงสองเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ความสำคัญของกรดโฟลิก คือ ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาท การพัฒนาการของเซลล์ การสร้างเม็ดเลือดแดง นอกจากนี้ความต้องการกรดโฟลิกในคุณแม่ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ เช่น ร่างกายคุณแม่จะต้องการกรดโฟลิกสูง ในช่วงที่ร่างกายของคุณแม่กำลังสร้างรก หรือตอนที่ร่างกายกำลังเร่งสร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมา เป็นต้น

แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยกรดโฟลิก
 

ในช่วงที่ลูกน้อยเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์ คุณแม่ควรเสริมกรดโฟลิกในทุกมื้ออาหาร เพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการและความแข็งแรงให้เขา โดยปริมาณของกรดโฟลิกที่แนะนำสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณ 400 ไมโครกรัมต่อวัน
แหล่งกรดโฟลิกสำหรับคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็น ผักใบเขียว เช่น บรอกโคลี คะน้า กะหล่ำดาว ผักปวยเล้ง ถั่วชนิดต่างๆ และส้ม เป็นต้น

fresh salad bowl with shrimp for pregnancy


เคล็ดลับสำหรับคุณแม่
 

เพราะกรดโฟลิกสามารถสูญเสียไปง่ายมาก เพียงแค่ถูกแสงหรือความร้อนจัดๆ เท่านั้น ดังนั้นในการปรุงอาหาร คุณแม่ควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยหลีกเลี่ยงกรรมวิธีการปรุงที่ใช้ระยะเวลานานๆ เช่น การตุ๋น เปลี่ยนมาเป็น การนึ่งแทน จะช่วยรักษากรดโฟลิกไว้ในอาหารได้ดีที่สุด การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยกรดโฟลิกให้เพียงพอต่อวันไม่ใช่เรื่องยาก เราขอแนะนำว่า ในทุกมื้อของคุณแม่ควรมีผักใบเขียว หรือทานผลไม้ตบท้ายมื้ออาหารสัก 2-3 ชิ้น อีกทั้งอาหารว่าง หรืออาหารทานเล่น อาจเลือกเป็นถั่ว และธัญพืชแทนของหวานอื่นๆ

อ้างอิง:
1. Danforth DN, Scott JR: Danforth's obstetrics and gynecology, 9th edn. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2003.
2. Womenshealth.gov [Internet]. Washington, D.C.: Office on Women’s Health in the Office of the Assistant Secretary for Health in the US Department of Health and Human Services; [updated 2010 Sept. 27; cited 2016 Nov 3].