MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: พัฒนาการเด็ก 10 เดือน พร้อมวิธีดูแลและกระตุ้นพัฒนาการเด็กทารก 10 เดือน

Add this post to favorites

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน พร้อมวิธีดูแลและกระตุ้นพัฒนาการเด็กทารก 10 เดือน

เมื่อลูกน้อยเข้าสู่เดือนที่ 10 มีเรื่องอะไรน่าตื่นเต้นบ้างที่ควรรู้เพื่อพัฒนาการเด็ก 10 เดือน พร้อม 4 กิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการลูกที่คุณพ่อคุณแม่ทำตามได้ง่ายๆ

2นาที อ่าน

เหนื่อยแต่มีความสุข คงเป็นความรู้สึกของคุณพ่อคุณแม่ในช่วงนี้เลยใช่ไหมคะ ก็เพราะในช่วง 10 เดือน นอกจากลูกน้อยจะไม่อยู่นิ่งแล้ว ยังเริ่มปีนป่ายบันได โต๊ะ เก้าอี้ ตามจับกันไม่ทันเลยล่ะค่ะ ถ้าลูกชอบเล่นขนาดนี้ เราก็มี 4 กิจกรรมสนุกๆ ช่วยปลุกพัฒนาการเด็ก 10 เดือน มาฝากคุณพ่อคุณแม่กัน มีอะไรบ้าง อ่านกันเลย

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน ด้านร่างกาย

 

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน ด้านร่างกาย

 

ลูกน้อยเติบโตขึ้น โดยมีน้ำหนักและส่วนสูงตามที่สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปี 2564 ได้ให้ข้อมูลไว้คือ
• น้ำหนักเด็ก 10 เดือน เด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 8-10.3 กิโลกรัม เด็กผู้หญิง จะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 7.3-9.6 กิโลกรัม
• ส่วนสูงเด็ก 10 เดือน เด็กผู้ชายจะมีส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 69-77 เซนติเมตร เด็กผู้หญิง จะมีส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 67-76 เซนติเมตร
ในเดือนนี้พัฒนาการทารก 10 เดือนอาจจะไม่มีพัฒนาการด้านร่างกายที่โดดเด่นมากนัก เพราะเป็นช่วงทบทวนและฝึกฝนทักษะเดิมๆ ให้คล่องแคล่วยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การลุกยืนโดยไม่เกาะอะไรเลย แต่ก็ยืนได้เพียงชั่วครู่เท่านั้นก็จะล้มนั่งลงไป เกาะเฟอร์นิเจอร์แล้วเดินไปรอบๆ บ้าน ในเด็กบางคนสามารถยืนโดยไม่เกาะอะไรเลย แต่สักพักก็ล้มลง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหาเบาะนุ่มๆ มาปูทั่วพื้นที่ที่ลูกเล่น เพื่อรองรับสรีระเมื่อลูกล้มลง ในเดือนนี้พัฒนาการเด็ก 10 เดือน จะยังเคลื่อนไหวโดยการคลานเป็นหลัก แถมซนขึ้นจนคุณพ่อคุณแม่ตามจับไม่ทัน เช่น เริ่มคลานขึ้นบันได ปีนลงเก้าอี้ รื้อของเล่น บีบหรือเขย่าของเล่นให้เกิดเสียง ถือสิ่งของต่างๆ พร้อมคลานไปทั่วบ้าน ดึงหมวกออกเอง แกะกระดุมเสื้อด้วยตัวเอง เป็นต้น

 

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน ด้านสติปัญญา

 

ในช่วงเดือนนี้ ลูกน้อยเติบโตและมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เมื่อเจออะไรเขามักจะตื่นตาตื่นใจไปเสียทุกอย่าง จึงเป็นการดีที่คุณพ่อคุณแม่จะเร่งเสริมพัฒนาการเด็ก 10 เดือน ด้านภาษา การสื่อสาร และสติปัญญา ให้กับลูกในวัยนี้
พัฒนาการทารก 10 เดือน จะสามารถใช้ท่าทางพร้อมพูดเพื่อสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่เป็นคำง่ายๆ ได้ดี เช่น ส่ายศีรษะไปพร้อมกับพูดว่า ‘ไม่’ พยักหน้าไปพร้อมกับพูดว่า ‘หม่ำ’ โบกมือไปพร้อมๆ กับพูดว่า ‘บ๊ายบาย’ หรือ เอามือแตะริมฝีปาก พร้อมกับพูดว่า ‘จุ๊บ’ เป็นต้น อีกทั้งตอนนี้ลูกยังเป็นหนูน้อยนักเลียนแบบ ไม่ว่าใครจะพูดหรือแสดงสีหน้าอะไร ลูกจะสามารถทำตามได้ ให้คุณพ่อคุณแม่พยายามพูดเป็นคำช้าๆ ชัดๆ ให้ลูกลองพูดตามบ่อยๆ แต่ในบางครั้งที่ลูกอาจเมินใส่ เงียบใส่ และไม่ยอมพูดตาม ไม่ควรบังคับนะคะ นั่นเป็นเรื่องปกติของเด็กวัยนี้ ควรเว้นให้เวลาผ่านไป และค่อยๆ สอนใหม่

 

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน ด้านอารมณ์ และจิตใจ

 

ลูกน้อยยังแสดงอาการติดคุณพ่อคุณแม่แจ และไม่ชอบคนแปลกหน้าเท่าไหร่ เวลาเจอคนไม่คุ้นเคยมาอยู่ใกล้ๆ ลูกจะรู้สึกกลัว และคอยมองหาคุณพ่อคุณแม่อยู่ตลอดเวลา เด็กในวัยนี้จะเริ่มแสดงอารมณ์ ชอบดนตรี หรือจังหวะเพลงประเภทใดประเภทหนึ่งชัดเจน สามารถแสดงอารมณ์ต่างๆ ด้วยใบหน้าได้อย่างชัดเจนเช่นกัน เช่น โกรธ โมโห ดีใจ หรือปฏิเสธ แนะนำว่าในช่วงนี้ให้สอนเขาแสดงอารมณ์ความรู้สึกให้เยอะๆ เช่น ‘รักกัน’ ให้คุณพ่อคุณแม่พูดแล้วทำท่ากอดกันให้ลูกน้อยเห็น หรือ ‘เก่งมาก’ ให้คุณพ่อคุณแม่พูด พร้อมยิ้มและปรบมือ เป็นต้น

 

เคล็ด (ไม่) ลับ ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 10 เดือน

 

เคล็ด (ไม่) ลับ ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 10 เดือน

 

เรามีเคล็ดลับดีๆ กับ 4 กิจกรรม เพื่อเสริมพัฒนาการเด็ก 10 เดือน ให้เติบโตสมวัยในทุกๆ ด้าน คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ง่ายๆ ตามนี้เลย

 

1. ลูกจ๋า มาฝึกเดินกันเถอะ

 

โดยคุณพ่อคุณแม่จับมือทั้งสองข้างของลูกน้อยเอาไว้ แล้วหัดให้ลูกก้าวเท้าเดินไปข้างหน้า เพื่อความสร้างความสนุกและความอบอุ่นภายในครอบครัว สำหรับรถหัดเดิน สามารถให้ลูกฝึกด้วยด้วยเองได้ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ว่าง แต่ไม่แนะนำให้ใช้บ่อยๆ เนื่องจากหากที่บ้านมีพื้นที่ไม่กว้างพออาจเกิดอุบัติเหตุ และยังทำให้กระดูกส่วนขาของลูกอาจผิดรูปได้ กิจกรรมนี้จะสามารถช่วยเสริมพัฒนาการเด็ก 10 เดือน ด้านร่างกายได้เป็นอย่างดี

 

2. ต่อบล็อกปลดล็อกจินตนาการ

 

เพื่อเสริมพัฒนาการเด็ก 10 เดือน ด้านสติปัญญาให้ดียิ่งขึ้นไป เวลาว่างคุณพ่อคุณแม่ควรชวนลูกเล่นของเล่นเสริมจินตนาการ อย่างกิจกรรมต่อบล็อก เพราะทั้งเป็นการฝึกการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกสมาธิให้ลูกสามารถจดจ่อกับสิ่งตรงหน้าได้นานๆ อีกทั้งฝึกให้ลูกรู้จักแก้ไขปัญหา
หากคุณแม่ไม่มีบล็อกของเล่นล่ะก็ สามารถใช้กล่องพลาสติกได้นะคะ โดยให้ลูกเรียงต่อขึ้นไปเรื่อยๆ อย่าให้ล้ม เวลาต่อไปบล็อกหนึ่งก็ให้ปรบมือและชมลูก เพื่อให้เขารู้ว่าตัวเองเก่งและอยากทำต่อไปนั่นเอง

 

3. เล่นกับพี่ๆ หนูแฮปปี้ที่สุด

 

เด็กวัยนี้จะให้ความสนใจและอยากเล่นกับเด็กๆ วัยใกล้ๆ กัน หากที่บ้านมีเด็กหลายคน ควรให้ลูกได้เล่นกับเด็กคนอื่นๆ คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้ลูกได้เล่นกับพี่ๆ บ้าง ก็จะช่วยให้ลูกเรียนรู้การเข้าสังคม เข้าใจถึงการแบ่งปัน เป็นต้น

 

4. หนูน้อยนักสำรวจ ออกไปนอกบ้านกันเถอะ

 

คุณพ่อคุณแม่สังเกตไหมคะว่า ช่วงนี้ลูกน้อยจะเริ่มงอแง และแสดงอาการอยากออกไปนอกบ้าน แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เลือกเวลาที่มีแสงแดดอ่อนๆ เช่น ช่วงเช้าตรู่ หรือช่วงเย็นๆ พาลูกน้อยออกไปเล่น ไปสำรวจนอกบ้าน เช่น สนามเด็กเล่น ส่วนหย่อม ให้ลูกได้สัมผัสหญ้า ดิน ทราย หรือน้ำ เป็นต้น อาจต้องยอมให้ลูกเลอะเทอะบ้าง แต่นั่นหมายถึงจินตนาการการเรียนรู้ของเขาก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และอย่าลืมว่า หลังจากพาลูกออกไปเล่นเสร็จแล้ว ควรล้างมือของเขาให้สะอาดทุกครั้ง

 

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สาระความรู้สำหรับพัฒนาการเด็ก 10 เดือน ที่เรานำมาฝากกัน แอบกระซิบบอกคุณพ่อคุณแม่สักนิดว่า การที่เราต้องทำอะไรซ้ำๆ เช่น พูด หรือแสดงท่าทาง ให้ลูกน้อยได้เห็นบ่อยๆ จะช่วยตอกย้ำให้ลูกจำได้แม่นและทำตามได้เร็วขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงลูกจะมีพัฒนาการที่สมวัย เรียนรู้ได้ไม่สะดุด ถึงแม้เราจะเหนื่อยเพิ่มขึ้น แต่ก็คุ้มค่ามากๆ เลยล่ะค่ะ

นอกจากนี้เรายังอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาเสริมโภชนาการที่ถูกต้องเหมาะสำหรับพัฒนาการเด็ก 10 เดือน ซึ่งควรให้อาหารตามวัยที่เหมาะสม ควบคู่กับนมแม่อย่างต่อเนื่อง เพราะนมแม่ย่อยง่าย และมีสารอาหารสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่างๆ ให้ลูก ได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี แคลเซียม โปรตีนและเกลือแร่ รวมทั้งโอเมก้า 3 และ 6 ดีเอชเอ ที่ช่วยเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาให้ลูกน้อย กรณีที่คุณหมอแนะนำให้คุณแม่เสริมนมผงควบคู่ไปกับนมแม่ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับช่วงวัยของลูกน้อย และชงให้ถูกสัดส่วน ตามข้อมูลที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ นอกจากการเสริมพัฒนาการที่ดีให้ลูกแล้ว อย่างลืมเติมความรักกันในครอบครัว เพื่อให้ลูกเติบโตมาท่ามกลางความรักความอบอุ่นนะคะ

 

อ้างอิง
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กเเรกเกิด - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง, 7 เมษายน 2564, เข้าถึงได้จาก https://www.thaichilddevelopment.com/images/doc/Ebook1.pdf
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, รู้เท่าทันน้ำหนัก-ส่วนสูง แนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จากโครงการพัฒนาเเหล่งน้ำ : ด้านโภชนาการ, 7 เมษายน 2564, เข้าถึงได้จาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/files/AW-WeightHeight.PDF
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, กราฟแสดงเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตเด็ก 0-5 ปี, 7 เมษายน 2564, เข้าถึงได้จาก https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/kidgraph