เด็กในวัยนี้ต้องมีการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมอย่างมากในขณะที่ความสามารถในการควบคุมตนเองและทักษะในการแก้ไขความคับข้องใจยังมีอยู่จำกัด ทำให้วัยนี้ดื้อและต่อต้านแสดงออกด้วยท่าทาง ลูกอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เช่น ตี ทุบ กัด ทำร้ายคุณแม่คุณพ่อ หรือคนรอบข้าง เช่น พี่เลี้ยง เพื่อน หรือทำร้ายตัวเอง หรือขว้างปาข้าวของ ซึ่งการเกิดการก้าวร้าวนั้นเกิดจาก การเลียนแบบพฤติกรรม หรือการที่เด็กเผชิญกับความก้าวร้าวบ่อยๆ (ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม) จะเกิดความกลัวและพยายามต่อสู้เพื่อป้องกันตนเอง และการขาดการเรียนรู้และฝึกฝนให้ควบคุมอารมณ์โกรธด้วยวิธีการที่เหมาะสม พฤติกรรมก้าวร้าวเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นในพัฒนาการของเด็ก แต่เป็นความปกติที่ต้องได้รับการจัดการแก้ไขค่ะ
คุณแม่คุณพ่อผู้เลี้ยงดูต้องไม่ปล่อยให้ลูกแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวดังกล่าว ควรหยุดพฤติกรรมนั้นๆทันที โดยใช้ความจริงจัง สม่ำเสมอ และไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับไปกับลูก ใช้วิธีจับมือ หรือจับตัวลูกเอาไว้และ พูดด้วยเสียงจริงจัง (เสียงเข้ม ดังกว่าปกติ ไม่ใช่เสียงตวาดนะคะ) ว่า “ไม่ตีค่ะ” “ตีแม่ไม่ได้” พร้อมทั้งทำสีหน้าและแววตาเอาจริงด้วยค่ะ พูดให้เหตุผลตรงไปตรงมา พูดง่ายๆ สั้น ไม่ยืดยาว คุณแม่คุณพ่อต้องจัดการด้วยความสงบและจริงจัง เช่น “ถ้าหนูร้องเสียงดังแบบนี้ แม่ฟังไม่รู้เรื่อง ถ้าเงียบแล้วค่อยมาคุยกัน” ห้ามเด็กทุกครั้งที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวเหล่านี้ ทำซ้ำๆ และสม่ำเสมอ ให้ลูกเข้าใจว่าคุณแม่คุณพ่อจริงจังกับเรื่องนี้นะคะ
พร้อมกับสอนให้ลูกมีทักษะในการจัดการกับอารมณ์โกรธของตนเองโดยไม่ก้าวร้าว โดยสอนให้พูดแสดงความรู้สึก และความต้องการแทนการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เมื่อไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าวควรให้ความสนใจกับลูกเพิ่มขึ้น ให้คำชมเชย หรือ ใช้ท่าทางในการชื่นชม เช่น กอด ยิ้ม ในเด็กเล็กวัยนี้ เวลาห้ามไม่ให้ทำอะไร ควรบอกด้วยว่าสิ่งไหนทำแทนได้ เช่น ไม่ขว้างค่ะ หยิบมาให้คุณแม่ดีกว่า บางครั้งการบอกอาจต้องบอกซ้ำหรือทำให้ลูกดูเพราะลูกอาจยังไม่เข้าใจในสิ่งที่เราบอกนะคะ
การป้องกันลูกไม่ให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว โดยการหัดให้ลูกมีการสื่อสารที่เหมาะสม หัดให้รู้จักรอคอย หัดควบคุมอารมณ์โกรธ คุณแม่คุณพ่อผู้ดูแลเด็กต้องเข้าใจธรรมชาติและความต้องการตามวัยของลูกและดูแลลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อฝึกทักษะทางสังคมที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย รวมถึงพัฒนาความสามารถด้าน การเข้าใจอารมณ์ และความต้องการของตนเอง มีการเลี้ยงดูที่เหมาะสมสิ่งแวดล้อมที่ดี
วิธีการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ที่สำคัญคือมีความสม่ำเสมอในการดูแลและมีการวางกฏเกณฑ์ที่เหมาะสมกับวัย เมื่อลูกทำดีควรบอกให้รับรู้สิ่งดีที่ทำ สร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้เกิดขึ้นกับลูกด้วยการชมเชย ยิ้ม กอด ควรให้ลูกได้มีโอกาสตัดสินใจด้วยตัวเองในขอบเขตที่เหมาะสมและไม่บังคับหรือขัดใจโดยไม่จำเป็น สอนจัดการกับความขัดแย้งอย่างเหมาะสม โดยยกตัวอย่างประกอบหรือทำให้ลูกดู คุณแม่คุณพ่อผู้เลี้ยงดูเองก็ต้องไม่ใช้ความรุนแรงก้าวร้าวกับลูกและต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการกับอารมณ์โกรธของตนเองด้วย ควรแสดงออกถึงความรักความอบอุ่นอย่างสม่ำเสมอให้เห็นว่าพ่อแม่รักและเข้าใจเขานะคะ
อ้างอิง
1. A framework for improving children’s mental health and wellbeing. Kids Matter Early Childhood . 2016 Dec 10 ; Available from: URL: https://www.kidsmatter.edu.au/early-childhood/kidsmatter-early-childhoo….
2. ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก. ชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย. ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย, รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์, ชาครียา ธีรเนตร, อดิศร์สุดา เฟื่องฟู, สุรีย์ลักษณ์ สุจริตพงศ์, พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์,บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ:บียอนด์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด; 2554
3. แนะแนวการอบรมเลี้ยงดูเด็ก:จากแรกเกิดถึง5ปี. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. ส่าหรี จิตตินันทน์, ลัดดา เหมาะสุวรรณ ,บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ:กรุงเทพเวชสาร; 2557.