การนอนหลับอย่างปลอดภัย
ไม่มีอะไรสวยงามและสงบสุขไปกว่าการได้ดูลูกของคุณนอนหลับ ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ลูกจะใช้เวลาส่วนใหญ่ทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อการนอน แต่ลูกของคุณอาจเสี่ยงกับภาวะบางอย่างในขณะที่อยู่ในดินแดนแห่งความฝัน
โรคไหลตายในทารก หรือเอสไอดีเอส (SIDS หรือ Sudden Infant Death Syndrome)
“เอสไอดีเอส และการนอนหลับอย่างปลอดภัยของเด็ก เป็นโครงการรณรงค์ด้านสุขภาพที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับให้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลเด็ก คุณแม่มือใหม่และหญิงที่ต้องการมีบุตร คุณพ่อคุณแม่ และบุคลากรต่างๆ ที่ดูแลเด็กและทารก ตั้งแต่เริ่มการรณรงค์ในช่วงปี 2523-2532 อุบัติการณ์ของการเกิด เอสไอดีเอส ได้ลดลงไปถึง 80% ช่วยรักษาชีวิตของเด็กไว้ได้ถึง 7,500 คน” - http://www.sidsandkids.org/safe-sleeping/
ข้อมูลในเว็บไซด์ของ เอสไอดีเอส ด้านบนได้ระบุว่า ลูกของคุณเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายขณะนอนหลับถ้าอยู่ในสถานการณ์ดังต่อไปนี้
• หายใจไม่ออกเพราะถูกกดทับจากเครื่องนอน
• สำลักหรือหายใจเอาอาเจียนเข้าไป
• ร้อนเกินไป
• สำลักเพราะของเล่นหรือสิ่งของชิ้นเล็กๆ
• ติดอยู่ระหว่างข้างเตียงเด็กกับที่นอน
• ถูกพันด้วยสายผ้าม่าน เครื่องนุ่งห่ม เชือกผูกจุกนมปลอม และริบบิ้น
ลูกของคุณอาจอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้เพราะว่าเขา:
• ไม่สามารถควบคุมสถานที่และสภาพแวดล้อมของที่นอน
• ไม่สามารถหนีจากอันตรายได้
• เอาสิ่งของเข้าปากหรือนำไปพันไว้รอบคอตัวเองโดยไม่รู้ตัว
คำแนะนำของเอสไอดีเอส เกี่ยวกับกลยุทธ์การนอนหลับที่ปลอดภัยของลูก ได้ให้คำแนะนำต่อไปนี้:
• ให้ลูกนอนเตียงเด็กของเขาเองดีที่สุด โดยวางลูกนอนบนเตียงเด็กที่วางไว้ข้างเตียงคุณเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุด
• ให้ลูกนอนหงายตั้งแต่เกิดโดยให้เท้าชี้ไปที่ปลายเตียงนอนเด็ก ทันทีที่ลูกพลิกตัวได้คุณจะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
• เตียงเด็กควรจะราบเรียบและไม่มีตัวค้ำยัน ทำให้แน่ใจว่าฟูกที่เจ้าตัวน้อยนอนแข็งพอที่จะทำให้อากาศไหลเวียนได้ดี และมีช่องว่างระหว่างฟูกกับข้างเตียงและปลายเตียงไม่เกิน 20 มิลลิเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกติดอยู่ระหว่างฟูกกับข้างเตียงเด็ก หมอนหนุน หมอนกันกระแทก หรือหมอนบีนแบกไม่ใช่ที่นอนที่ปลอดภัย
• กำจัดของเล่นที่ไม่ปลอดภัย หมอนหนุน และผ้าปูที่นอนที่หลุดลุ่ยอยู่ในเตียงนอนเด็ก ควรวางเตียงนอนเด็กให้อยู่ใกล้เตียงนอนของพ่อแม่ในช่วงที่ลูกอายุ 6-12 เดือน
• ถ้าคุณห่อหรือพันตัวลูกของคุณ คุณต้องไม่คลุมบริเวณศีรษะหรือใบหน้าของลูก คุณอาจหยุดห่อตัวลูกเมื่อเขาสามารถพลิกตัวจากนอนหงายเป็นนอนคว่ำ แล้วพลิกกลับเป็นนอนหงายได้แล้ว
• ถุงนอนสำหรับเด็ก เมื่อเด็กอายุมากกว่า 4 เดือน คุณอาจเลือกใช้ถุงนอนเด็กที่ปลอดภัย โดยถุงนอนควรมีช่องที่เหมาะสมกับคอและแขนแต่ไม่มีหมวกคลุมศีรษะ
• ต้องแน่ใจว่าไม่มีอะไรคลุมศีรษะและใบหน้าในขณะนอนหลับ และงดใช้หมวกคลุมศีรษะ หมวกไหมพรม หมวกรูปทรงมงกุฎ หรือหมวกผ้าที่มีสายรัดบริเวณคาง
• ใช้เครื่องนอนเท่าที่จำเป็นสำหรับให้ความอบอุ่นแต่อย่าให้ร้อนเกินไป การใช้ถุงนอนเด็กจะช่วยป้องกันไม่ให้มีอะไรมาปิดหน้าลูกของคุณ แต่ถ้าคุณใช้ผ้าห่ม ควรเลือกผ้าห่มที่เบาและแบ่งเป็นชั้นๆ เพื่อให้เพิ่มหรือลดชั้นของผ้าห่มได้ง่ายตามอุณหภูมิห้อง ให้สอดปลายผ้าห่มทั้งหมดไว้ใต้ที่นอน ไม่ปล่อยผ้าปูที่นอนที่ไม่ได้ใช้ไว้ในเตียงนอนเด็ก เพราะอาจไปพันกับตัวลูก ผ้าห่มและผ้าปูที่นอนที่หลุดลุ่ยยังอาจไปขัดขวางการถ่ายเทอากาศและอาจทำให้หายใจไม่ออกได้
• ไม่ควรให้ลูกดูดจุกนมปลอมที่มีเชือกติดอยู่ ถ้าจุกนมหลุดจากปากลูกตอนที่เขาหลับ คุณก็ไม่ควรนำกลับไปให้เขาดูดอีก
• ไม่ให้ลูกสัมผัสกับควันบุหรี่ ทั้งตอนก่อนและหลังคลอด และไม่ควรนอนร่วมเตียงเดียวกันกับลูก ถ้าคุณสูบบุหรี่
• ควรหลีกเลี่ยงการนอนร่วมเตียงเดียวกันกับลูก ในกรณีต่อไปนี้
o ถ้าคุณสูบบุหรี่ อยู่ภายใต้ฤทธิ์ยาและ/หรือแอลกอฮอล์
o เวลาที่คุณรู้สึกเหนื่อยมาก เพราะเครื่องนอนของผู้ใหญ่อาจไปปิดคลุมเด็ก
o ถ้ามีเด็กคนอื่นหรือมีสัตว์เลี้ยงนอนร่วมเตียงเดียวกัน
o ถ้าคุณให้ลูกนอนบนโซฟา หมอนที่มีลักษณะยืดหยุ่น (beanbag) เตียงน้ำ หรือที่นอนที่อ่อนนุ่ม
o ถ้าเด็กอาจไปติดอยู่ระหว่างผนังกับเตียง หรือตกลงไป หรืออาจถูกกลิ้งทับ
o ถ้าลูกของคุณคลอดก่อนกำหนด หรืออายุน้อยกว่า 3 เดือน หรือตัวเล็กเมื่อแรกคลอด
• วางเตียงเด็กให้พ้นจากวัตถุอันตราย ต้องแน่ใจว่าเตียงเด็กไม่ได้อยู่ใต้หน้าต่างที่มีสายม่านอยู่ในระยะที่เอื้อมถึง โมบายแบบแขวนต้องติดตั้งให้แน่นหนาและอยู่ในระยะที่เอื้อมไม่ถึง ไม่วางเตียงเด็กอยู่ใกล้กับจุดที่มีสีหลุดล่อน
• เตียงเด็กควรสูงเท่ากับเตียงนอนของคุณ เพราะมันสะดวกมากขึ้น เมื่อเตียงเด็กและเตียงนอนคุณสูงเท่ากัน
• ดึงด้านข้างของเตียงเด็กขึ้น ตรวจดูให้แน่ใจว่าผนังด้านข้างเตียงเด็กถูกดึงขึ้นจนสุด เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกปีนข้ามออกมา ถ้าลูกของคุณรู้ว่าจะปีนออกมาได้อย่างไร มันก็ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนเตียงของเขาแล้ว
แบบแผนการนอนของเด็กทารก
การนอนหลับจะเกิดขึ้นเป็นวงจรที่ประกอบด้วย การนอนหลับแบบตื้น (active-light sleep) และการนอนหลับแบบลึก (passive-deep sleep) ในช่วงวันแรกๆ ลูกของคุณอาจต้องการให้คุณกล่อมเขานอน เพราะถ้าลูกนอนไม่พอเขาก็อาจงอแง และอาจ
• เหม่อลอย
• งอแง
• หงุดหงิด
• ใจร้อน
• สั่น
• ระเบิดอารมณ์ออกมาบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น
• ซนมากกว่าปกติ หรืออยู่ไม่นิ่ง
• การมีสมาธิสั้นลง
การนอนเป็นเรื่องของแต่ละคน และมันยังขึ้นอยู่กับกิจกรรมทางกาย สุขภาพทั่วไป และปัจจัยทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเวลานอนอาจแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน และการนอนแต่ละครั้ง จึงควรใช้อาการเหนื่อยล้าและพฤติกรรมของลูกเป็นแนวทาง
เด็กเกิดใหม่ส่วนใหญ่จะนอนหลับแบบตื้นสลับกับนอนหลับแบบลึกตามวงจรการหลับ และเขาก็อาจตื่นขึ้นมาเป็นช่วงสั้นๆ ลูกของคุณอาจนอนหลับสนิทหรืออาจสะดุ้งตกใจ เพราะเขาผ่านการนอนหลับแบบต่างๆ ตามวงจรการนอน มันจึงไม่ใช่ปัญหาการนอนของเด็กทารก แต่กลับเป็นเรื่องปกติ
การนอนของเด็กเกิดขึ้นเป็นวงจรซึ่งมีได้สองแบบ – การนอนแบบหลับตื้น หรือระยะที่มีการกรอกลูกตาแบบเร็ว (REM phase - rapid eye movement phase) และการนอนหลับแบบลึก
การนอนหลับแบบตื้นเกิดขึ้นตอนที่ลูกหลับใหม่ๆ อาจกินเวลาประมาณ 10-20 นาที คุณอาจเห็นลูกขยับตัว กล้ามเนื้อกระตุก และฝัน ซึ่งไม่ใช่ปัญหาการนอนหลับ เป็นสิ่งปกติของการนอนหลับแบบตื้น
การนอนหลับแบบลึกจะเงียบ ไม่รู้สึกตัว และผ่อนคลาย เชื่อกันว่าเวลาที่นอนหลับแบบลึกคือเวลาที่เราฟื้นฟูและเจริญเติบโต ระดับความลึกตอนนอนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอาจช่วยให้ลูกนอนหลับฝันดีต่อไปหรือตื่นขึ้นมา และมันยังส่งผลต่ออารมณ์ของเขาเมื่อตื่นขึ้นมา ไม่ว่าจะอารมณ์ดีหรืองอแง การนอนของเด็กแรกเกิดจะต่างกับผู้ใหญ่เพราะสมองของเขากำลังพัฒนาอยู่
วงจรการนอนจะเปลี่ยนไปอย่างมากและต่อเนื่องกันไปในแต่ละช่วงอายุ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้รวมทั้งแบบแผนการนอนเป็นสิ่งสำคัญที่ควรรู้ โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก เด็กแรกเกิดมักจะนอนประมาณ 2-4 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง แล้วตื่นเป็นเวลาสั้นๆ ซึ่งมักจะตื่นมาเพื่อกินนม ในช่วงเช้าลูกของคุณมักจะตื่นง่ายกว่าปกติ เพราะเขาได้ผ่านวงจรการนอนต่างๆ มาแล้ว เด็กทารกส่วนใหญ่ต้องการให้กล่อมเพื่อช่วยให้กลับไปนอนต่อ แต่เมื่อโตขึ้น เขาจะกลับไปนอนต่อเองได้เก่งขึ้น การที่ลูกของคุณตื่นนอนเป็นเรื่องปกติ ปัญหาการนอนของเด็กส่วนใหญ่ก็คือจะช่วยให้เขากลับไปนอนต่อได้อย่างไร
วงจรการนอนจะขึ้นอยู่กับอายุและมักแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน วงจรการนอนในเด็กทารกจะกินเวลาประมาณ 30-50 นาที แล้วค่อยๆ ยาวขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยเด็ก ลูกของคุณอาจขยับตัวตอนแรกๆ ก่อนที่เขาจะหลับลึก มันเป็นเรื่องปกติและเป็นส่วนหนึ่งของการนอนที่ดี ปัญหาการนอนของเด็กทารกอาจเกิดขึ้นเมื่อลูกของคุณตื่นขึ้นมาแล้วไม่สามารถหลับต่อ หรือไม่ยอมกลับไปนอนต่อ ถ้าลูกของคุณมีแบบแผนการนอนโดยนอนหลับแค่เพียงรอบเดียวในการนอนแต่ละครั้ง หรือที่มักถูกเรียกว่าการหลับนก หรือการงีบหลับ (power napping) เมื่อลูกคุณอายุ 3-6 เดือน วงจรการนอนของเขามักยาวขึ้นเป็น 20-50 นาที ในขณะที่ผู้ใหญ่มีวงจรการนอน 90 นาที นั่นหมายความว่าเด็กจะนอนหลับตื้นกว่า และตื่นเป็นช่วงสั้นๆ มากกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเด็กโตขึ้น เวลานอนหลับแบบตื้นจะลดลง และเมื่อเด็กอายุได้ 3 ขวบ จะมีการนอนหลับแบบตื้นอยู่ 33%
เมื่อเด็กเครียดหรือมีแบบแผนการนอนไม่ดี เขาก็อาจกลับไปนอนต่อได้ยากเช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่ เมื่อเขาได้ผ่านช่วงนอนหลับตื้นที่มีการกรอกลูกตาแบบเร็ว (REM phase) ไปแล้ว อาจต้องใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีก่อนที่เด็กทารกจะหลับ และอาจใช้เวลามากขึ้นถ้าเขาเหนื่อยมากเกินไป ก่อนที่ลูกของคุณจะหลับ เขาอาจต้องผ่านรูปแบบการนอนที่มี 4 ช่วงดังต่อไปนี้
1. รูปแบบการนอนของเด็กแรกเกิดช่วงที่หนึ่งคือ ร้องไห้หรือแสดงอาการเหนื่อย เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่ง เพราะเราจะต้องทำให้เด็กรู้สึกสบายเมื่อเขาเริ่มรู้สึกง่วงนอน
2. รูปแบบการนอนของเด็กแรกเกิดช่วงที่สองคือ การเหม่อมอง อาจสังเกตเห็นได้ง่ายแต่ก็มักถูกตีความและเข้าใจผิดว่าลูกทำตาโต และยังคงตื่นอยู่ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ลูกของคุณเกือบจะหลับแล้ว
3. รูปแบบการนอนของเด็กแรกเกิดช่วงที่สามคือ ตาปรือ ลูกของคุณมักร้องไห้ออกมาเพราะยังไม่อยากนอน แต่แล้วก็เงียบไป ตอนนี้ลูกของคุณอาจต้องการให้อุ้มและกล่อมให้รู้สึกสบาย หรืออาจเพียงต้องการให้ตีก้นเบาๆ ในขณะที่นอนอยู่บนเตียงเด็ก
4. รูปแบบการนอนของเด็กแรกเกิดช่วงที่สี่คือช่วงที่เด็กนอนหลับ เป็นช่วงที่ลูกของคุณปิดตาลงแล้วก็นอนหลับ
มีหลายปัจจัยที่มีส่วนทำให้ลูกของคุณไม่ได้พัฒนาแบบแผนการนอนที่ดี ขอให้คุณใจเย็นและทำใจให้สงบ คุณอาจขอให้มืออาชีพช่วยเหลือหากลูกของคุณไม่ยอมนอน เพราะอาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้
อาการเหนื่อย
รับรู้และจัดการกับลูกเมื่อเขาบอกใบ้ว่าเขารู้สึกเหนื่อย มันช่วยให้เขาสงบได้เร็วกว่าและง่ายกว่า แต่ถ้าลูกไม่ยอมนอนและเริ่มเหนื่อยมากเกินไป การปลอบให้เขาสงบเพื่อให้นอนมักจะทำได้ยากกว่ามาก และอาจต้องใช้เวลานานกว่าปกติ
สัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าเด็กทารกรู้สึกเหนื่อย
• หน้าบึ้ง
• หาว
• สะอึก – การง่วงนอนเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้น
• เหม่อมองหรือตาเหล่ – จะเป็นมากขึ้นเมื่อรู้สึกเหนื่อย
• ไม่สบตา
• แขนขากระตุก
• กำมือแน่น
• ร้องไห้
สัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าเด็กเล็ก รู้สึกเหนื่อย
• ถูตา
• ส่งเสียงคราง หรือร้องเสียงสะอื้น
• ขอให้อุ้ม
• ไม่ยอมกินนมหรืออาหาร
• หาว
• งอแงตอนให้ดูดนมแม่
• ไม่ยอมเล่นเองคนเดียว
เมื่อคุณสังเกตเห็นอาการ หรือคำบอกใบ้จากลูกของคุณว่าเขารู้สึกเหนื่อย คุณควรช่วยให้เขารู้สึกสบายแล้วค่อยให้นอน มีหลายสิ่งที่คุณอาจทำเพื่อช่วยให้ลูกรู้สึกสบายและนอนหลับ แต่สิ่งสำคัญคือการเข้าใจว่าอาจต้องใช้กลยุทธ์และการช่วยเหลือแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน มันขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะตัว สิ่งแวดล้อม และความสบายที่มีอยู่หลายแบบ
การเตรียมตัวลูกก่อนจะให้นอน
โดยทั่วไปแล้ว เด็กแรกเกิด-4 เดือนจะนอนครั้งละประมาณ 2-4 ชั่วโมง ตื่นขึ้นมากิน แล้วก็กลับไปนอนใหม่ เมื่อลูกของคุณอายุได้ 3 เดือน แบบแผนการนอนจะเปลี่ยนเป็นนอนกลางวัน 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งอาจนานถึง 2 ชั่วโมง เขาอาจตื่นนอนตอนกลางคืนอย่างน้อยหนึ่งครั้ง หลังอายุครบ 6 เดือน ลูกของคุณมักนอนครั้งละ 6 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้นในตอนกลางคืน และตื่นนอนน้อยลง เด็กส่วนใหญ่ยังคงงีบหลับตอนกลางวัน โดยอาจหลับครั้งละ 1-2 ชั่วโมง ลูกของคุณต้องการนอนวันละประมาณ 16 ชั่วโมง เมื่อเขาเกิดใหม่ๆ และเมื่อเขาอายุครบ 12 เดือน เขาต้องการนอน 12 ชั่วโมงในตอนกลางคืน และอาจต้องการงีบหลับในตอนกลางวัน คุณสามารถช่วยให้ลูกของคุณหลับสบายในช่วงสัปดาห์แรกๆ ด้วยการเลียนแบบสภาพแวดล้อมเหมือนตอนอยู่ในท้องคุณแม่ และช่วยให้เขากลับไปนอนต่อหลังเขานอนไปได้หนึ่งรอบ แทนที่จะให้เขาตื่นขึ้นมา
ลูกของคุณอาจมีปัญหาบางอย่างที่ทำให้เขานอนหลับได้ไม่ดีในช่วงสัปดาห์แรกๆ สิ่งที่ท้าทายก็คือ การหาว่าปัญหานั้นคืออะไร ถ้าคุณกังวลว่าสุขภาพของลูกจะมีผลกับแบบแผนการนอนของเขา คุณก็ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลคุณ ถ้ามีบางอย่างขัดขวางแบบแผนการนอนของลูก และคุณได้แก้ปัญหานั้นแล้ว มันก็อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าลูกจะนอนหลับได้นานขึ้น ไม่ต้องกังวลเพราะลูกของคุณจะนอนหลับได้ดีขึ้น แม้ว่าคุณยังต้องช่วยเขาบ้างเมื่อเขาโตขึ้น
การนอนหลับสั้นๆ ที่เรียกกันว่าการงีบหลับหรือหลับนก เด็กแรกเกิดมักจะหลับสั้นๆ โดยไม่รู้ตัวอยู่เสมอๆ ทั้งในตอนกลางวันและกลางคืน เมื่อลูกของคุณโตขึ้น หรือจนกระทั่งอายุประมาณ 12 เดือน เขาอาจนอนหลับระหว่าง 2-4.5 ชั่วโมงในตอนกลางวัน แต่เวลานอนหลับกลางวันจะลดลงเมื่อเด็กอายุมากขึ้น และการงีบหลับตอนกลางวันก็อาจมีตั้งแต่วันละ 1-4 ครั้ง นานครั้งละประมาณ 30 นาทีจนถึง 2 ชั่วโมง
เมื่ออายุได้ 6 เดือน ลูกของคุณจะพัฒนาความสามารถแบบใหม่ที่อาจส่งผลกับการนอนของเขา เขาถูกกระตุ้นจากสิ่งรอบตัวมากขึ้น และอาจพบว่ามันปิดกั้นได้ยาก และทำให้นอนหลับได้ยาก การจัดกิจวัตรประจำวันก่อนเข้านอนเพื่อให้ลูกของคุณค่อยๆ ลดกิจกรรมต่างๆ ลงจะช่วยได้ พยายามให้เด็กเล่นเสียงเบาลง เคลื่อนไหวน้อยลง และอ่านนิทานก่อนเข้านอน
ความมืดช่วยให้นอนหลับได้สนิทขึ้น จึงควรงดการเปิดไฟในห้องนอน และแน่ใจว่าคุณได้ปิดม่านหรือคลุมรถเข็นเด็กเมื่อลูกนอนตอนกลางวัน จัดให้มีห้องมืดเพื่อช่วยลดสิ่งกระตุ้น ช่วยให้เด็กนอนหลับอย่างปลอดภัย ช่วยสร้างแบบแผนการนอน และการเตรียมลูกเข้านอน
เลียนแบบสภาพแวดล้อมภายในท้องคุณแม่
เด็กแรกเกิดต้องการเวลา และความช่วยเหลือเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่นจากสภาพที่อบอุ่นและปลอดภัยในท้องคุณแม่ เป็นความรู้สึกสบายและปลอดภัยในโลกภายนอก การเลียนแบบสภาพแวดล้อมในมดลูกในช่วงเวลาหนึ่งจะช่วยให้ลูกของคุณรู้สึกว่าการเปลี่ยนผ่านนี้ง่ายขึ้นอย่างมาก ถ้าลูกของคุณคลอดก่อนกำหนด เขาอาจต้องการความรู้สึกสบายและปลอดภัยมากขึ้น ด้วยการนอนหลับอยู่ในเป้อุ้มเด็กที่อยู่ติดกับคุณนานๆ ช่วยให้เขารู้สึกอบอุ่นและสบายใจ คุณอาจเลียนแบบได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
• เลียนแบบความอบอุ่นและความสบายเมื่ออยู่ในมดลูกด้วยการห่อตัวเด็กด้วยผ้าและการกอดอย่างแนบชิด
• เลียนแบบการเคลื่อนไหวอย่างเป็นจังหวะด้วยเป็นการโยก และการโยกตัวเบาๆ
• เลียนแบบเสียง การเต้นของหัวใจ และการเคลื่อนไหวของลำไส้ด้วยการฮัมเพลง เสียงเพลงที่ดังอย่างสม่ำเสมอโดยมีระดับความถี่ที่หลากหลาย เสียงร้องเพลง และเสียงเต้นของหัวใจคุณ
ในช่วงวันแรกๆ สิ่งสำคัญคือการให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและอยู่ติดกับคุณเมื่อเขากำลังจะหลับ การห่อตัวด้วยผ้าเป็นวิธีปฏิบัติมาแต่โบราณในการห่อตัวเด็กให้สบายอยู่ในวัสดุธรรมชาติที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของแขนขา ลูกของคุณเกิดมาพร้อมกับปฏิกิริยาสะท้อนกลับ ซึ่งเรียกว่าปฏิกิริยาสตาเติล (startle reflex) ที่ทำให้เกิดการนอนผวาเมื่อได้ยินเสียงดัง และอาจทำให้เขาตื่นเมื่อเขาอยู่ในช่วงการนอนหลับแบบตื้น การห่อตัวเด็กด้วยผ้าจะช่วยป้องกันไม่ให้ปฏิกิริยาอัตโนมัตินี้เกิดขึ้น เด็กจะได้นอนหลับนานขึ้น
การห่อตัวเด็กด้วยผ้า
ปัจจุบันนี้ ความรู้เรื่องโรคไหลตายในทารก (เอสไอดีเอส) แสดงให้เห็นว่า การให้เด็กนอนหงายจะปลอดภัยกว่าการให้เด็กนอนคว่ำ แม้ว่าการนอนหงายอาจทำให้เด็กบางคนรู้สึกโล่งๆ และไม่ปลอดภัย เขาจึงนอนหลับได้ไม่นาน การห่อตัวเขาให้กระชับด้วยผ้าในช่วงเดือนแรกๆ เป็นวิธีที่ช่วยให้ลูกของคุณรู้สึกปลอดภัยเมื่อเขานอนหลับในท่านอนหงาย การห่อตัวเด็กเป็นเทคนิคที่มีประโยชน์ มันช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับในท่านอนหงายได้ดีขึ้น เทคนิคการห่อตัวที่ทำให้เด็กรู้สึกสบายทำได้โดยการวางมือเด็กให้อยู่ในตำแหน่งธรรมชาติ โดยวางมือไว้บนหน้าอกของเขา เพื่อป้องกันการสะดุ้งตกใจ และการกระตุกที่อาจเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาใกล้จะนอนหลับ การห่อตัวเด็กยังช่วยให้มั่นใจว่าอาการนอนผวาจากปฏิกิริยาสตาเติล (startle reflex) จะไม่ทำให้เขาสะดุ้งตื่นขึ้นมา มันช่วยให้ลูกคุณนอนหลับได้นานขึ้นและผ่อนคลายมากขึ้น ถ้าลูกของคุณอายุเกิน 3 เดือน คุณอาจปล่อยให้แขนของเขาเป็นอิสระ โดยหุ้มเฉพาะลำตัวและขาของเขา วิธีนี้จะช่วยให้ลูกของคุณขยับมือและนิ้วได้ ซึ่งอาจเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เขารู้สึกสงบ
วิธีการห่อตัวลูกมีขั้นตอนดังนี้
1. วางผ้าลงบนพื้นราบ
2. พับมุมด้านบนลงมาเพื่อสร้างบริเวณวางไหล่ของลูก
3. วางลูกลงบนผ้า โดยให้ไหล่ของลูกอยู่ในระดับเดียวกับด้านบนสุดของผ้า
4. งอแขนลูกขึ้นโดยให้มือไปวางไว้บนอก พับผ้าด้านนี้เข้ามา และสอดเก็บชายผ้าไว้ด้านหลัง ให้ผ้าห่มกระชับตัวลูก
5. คลี่ผ้าด้านล่างให้แผ่ออก แล้วพับขึ้นมาวางไว้บนหน้าอก คลี่ผ้าออกแล้วนำไปห่อรอบตัวและหลังของเด็กให้กระชับ
6. ทำเหมือนเดิมกับแขนอีกข้าง
การห่อตัวลูกช่วยให้เขารู้สึกผ่อนคลายตอนก่อนนอน เหมาะกับเด็กอายุไม่เกิน 6 เดือน แต่ถ้าลูกของคุณโตกว่านี้ แต่เขายังชอบให้ห่อตัวและเขาก็นอนหลับได้ดี คุณก็ไม่ต้องกังวล คุณยังสามารถห่อตัวเขาตอนนอนไปจนกว่าเขาจะไม่ต้องการให้ห่อตัว คุณอาจช่วยให้ลูกนอนหลับโดยไม่จำเป็นต้องห่อตัวโดยปล่อยให้แขนข้างหนึ่งของเขาไม่ถูกห่อ หรือเอาแขนทั้งสองข้างออกมา คุณยังสามารถห่อตัวเขาต่อไปด้วยการห่อตั้งแต่ใต้แขนลงมา จากนั้นคุณก็อาจเปลี่ยนให้เขานอนในถุงนอนเด็ก การปล่อยให้มือข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างเป็นอิสระ ช่วยให้เด็กสามารถดูดมือหรือนิ้วเพื่อช่วยให้ตัวเองสงบก่อนจะเข้านอน
การตื่นตอนกลางคืน
ลูกของคุณอาจตื่นตอนกลางคืนจากหลายสาเหตุ และสาเหตุก็มักจะขึ้นกับอายุ และความแตกต่างของแต่ละคน ตั้งแต่เกิดจน 6 เดือน ลูกของคุณจะนอนประมาณ 2-4 ชั่วโมง สลับกับการตื่นช่วงสั้นๆ ซึ่งการตื่นแบบนี้จะเกิดขึ้นตลอดคืน เมื่อลูกของคุณโตขึ้น (ตั้งแต่ประมาณ 6 เดือนขึ้นไป) เขาจะนอนหลับได้นานขึ้น ซึ่งอาจนานถึง 6 ชั่วโมง หรือมากกว่า และการนอนนานๆ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตอนกลางคืน ในอายุเท่านี้ลูกของคุณจะอยู่กับตัวเองอย่างสงบได้นานขึ้นเมื่อเขาตื่นนอน
ส่วนใหญ่แล้วเด็กแรกเกิดจะตื่นตอนกลางคืนเพื่อกินนมหรือเมื่อเขารู้สึกไม่สบาย เด็กบางคนอาจนอนได้นานต่อเนื่องกัน 4-6 ชั่วโมงตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ ในขณะที่เด็กจำนวนมากไม่สามารถทำได้จนกระทั่งอายุ 6 เดือน หรือโตกว่านั้น
ลูกของคุณยังไม่สามารถแยกกลางวัน-กลางคืนได้จนกว่าเขาจะอายุประมาณ 3 เดือน นั่นหมายความว่าลูกอาจนอนได้นานในตอนกลางวัน แล้วก็ต้องการดื่มนมเพิ่มในตอนกลางคืน คุณอาจต้องช่วยปรับนาฬิกาชีวิตภายในตัวลูกด้วยการปลุกให้เขาตื่นมากินนมทุกๆ 3-4 ชั่วโมง ในตอนกลางวัน และปล่อยให้เขาตื่นเองในตอนกลางคืน ปล่อยให้ลูกของคุณนอนหลับตอนกลางวันในช่วงสัปดาห์แรกๆ และลดความสว่างลงตอนคุณดูแลเขาในตอนกลางคืน ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้ตื่นตอนกลางคืน อาจรวมไปถึง
• การควบคุมอุณหภูมิ
เด็กแรกเกิดยังไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณจึงไม่ควรใส่เสื้อผ้าให้ลูกมากเกินไป เพราะจะทำให้เขาร้อนเกินไป หรือในทางตรงกันข้าม ใส่เสื้อผ้าน้อยเกินไปจนทำให้เขาหนาว ไม่ควรใช้ชุดนอน หรือผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนที่ทำด้วยเส้นใยสังเคราะห์ เพราะมันมักจะกักเก็บความร้อนเอาไว้ สวมเสื้อผ้าที่ช่วยให้ความอบอุ่นกับลูก เขาจะได้อบอุ่นโดยไม่ต้องใช้ผ้าห่ม และคอยดูอุณหภูมิภายในห้อง ให้อุ่นสบายและไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป
• ปฏิกิริยาสตาเติล (startle reflex)
ในช่วงเดือนแรกๆ ปฏิกิริยาสตาเติลอาจทำให้ลูกของคุณตื่น การห่อตัวลูกช่วยป้องกันไม่ให้แขนสะบัดแล้วทำให้ลูกตื่น จึงช่วยให้นอนได้นานมากขึ้น
• อาการไม่สบายของระบบทางเดินอาหาร
อาการไม่สบายของระบบทางเดินอาหารทำให้ลูกนอนหลับยาก อาการไม่สบายเช่น ท้องอืด หรือมีลมในลำไส้ส่วนล่าง ทำให้ลูกของคุณนอนหลับยาก ถ้าลูกยังคงไม่สบายอยู่ หรือคุณรู้สึกกังวลเรื่องลูก ควรปรึกษาแพทย์
• ความหิว
กิจกรรมและการเคลื่อนไหวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ลูกของคุณต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้น ควรให้ลูกกินนมและอาหารเสริมตามวัย (เมื่อถึงวัยที่เหมาะสม) เพิ่มขึ้นในตอนกลางวัน เพื่อตัดปัญหาว่าความหิวจะทำให้ลูกตื่นตอนกลางคืน
• อาการไม่สบายเพราะฟันงอกก็อาจทำให้ลูกนอนหลับยาก
• ความเจ็บป่วย
การเจ็บป่วยเช่นการติดเชื้อในช่องหู หรือไข้หวัดอาจทำให้ลูกของคุณรู้สึกไม่สบาย ถ้าเด็กไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดมากในตอนกลางวัน และไม่มีไข้ การติดเชื้อในช่องหูก็มักจะไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ยอมนอน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้มั่นใจว่าลูกของคุณมีสุขภาพดี
เมื่อลูกของคุณมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และชีวิตของเขาเป็นระเบียบมากขึ้น กิจวัตรประจำวันจะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัย ลูกของคุณจะได้รับประโยชน์จากสิ่งบอกใบ้ต่างๆ ที่บอกให้เขารู้ว่าถึงเวลาเข้านอนแล้ว การมีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอนจะช่วยให้ลูกไม่หิว หรือเหนื่อยเมื่อถึงเวลานอน
ศีรษะแบน
ศีรษะของลูกคุณจะเกิดส่วนที่แบนราบได้อย่างรวดเร็ว เมื่อมีแรงกดอย่างต่อเนื่องที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของศีรษะ กะโหลกศีรษะของเด็กเกิดใหม่จะบางและยืดหยุ่นทำให้มันเปลี่ยนรูปได้ง่าย มันอาจเป็นเรื่องทั่วไปที่เด็กเกิดใหม่จะมีศีรษะที่มีรูปทรงผิดปกติ แต่มันมักจะกลับไปมีรูปร่างปกติหลังจากคลอดได้ประมาณ 6 สัปดาห์ บางครั้งศีรษะของเด็กทารกอาจไม่กลับไปมีรูปร่างตามปกติ แต่อาจกลายเป็นศีรษะแบน ถ้าคุณกังวลเรื่องรูปร่างศีรษะของลูก คุณควรพูดคุยกับแพทย์หรือพยาบาล
3 เหตุผลที่อาจทำให้ศีรษะของลูกแบน
1. การนอนในท่าเดียวกัน หรือการมองไปที่เดียวกันซ้ำๆ หรือเป็นเวลานานๆ
2. นั่งในท่าที่มีตัวหนุนเป็นเวลานาน มันอาจเกิดขึ้นเมื่อลูกของคุณไม่สบายจากอาการที่เกี่ยวข้องกับกรดไหลย้อน (Gastro Eosophageal Reflux Disease (GERD))
3. ความเจ็บปวดที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของกล้ามเนื้อคอผิดปกติ หรือกล้ามเนื้อคอหดตัว ความเจ็บปวดนี้อาจทำให้ลูกของคุณชอบอยู่ในท่าที่ไม่ทำให้เจ็บ ซึ่งมันอาจทำให้คอเคลื่อนไหวน้อยลงทั้งสองด้าน และอาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและมีแรงต้านในการหันเพิ่มขึ้น
ด้านล่างนี้คือ 8 ขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้กล้ามเนื้อมีพัฒนาการที่สมดุล ช่วยลดความเสี่ยงที่บางส่วนของศีรษะจะแบน
1. ปรับเปลี่ยนตำแหน่งศีรษะตอนวางลูกลงนอน
2. ให้ลูกนอนที่ปลายเตียงเด็กสลับกันไปทีละด้าน เมื่อถึงเวลานอน
3. ให้ลูกสลับไปนอนคว่ำบ้างบางเวลาในทุกครั้งที่ลูกตื่น
4. เปลี่ยนตำแหน่งของเล่นเมื่อลูกอยู่บนพื้น เพื่อกระตุ้นให้ลูกเคลื่อนไหวศีรษะ เพื่อมองของเล่นในมุมต่างๆ
5. ประคองและอุ้มลูกด้วยท่าทางต่างๆ
6. เปลี่ยนด้านที่คุณใส่เป้อุ้มเด็ก ถ้าคุณให้ลูกอยู่ในเป้นานๆ
7. เมื่อคุณอุ้มลูกของคุณ ให้เปลี่ยนข้างอุ้มบ้าง
8. ไปพบหมอโรคกระดูก ไคโรแพรคเตอร์ หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อประเมินการเรียงตัวของกระดูกสันหลัง ถ้าคุณใช้เวลาคลอดนาน หรือคลอดยาก ใช้คีมช่วยในการคลอด หรือคลอดด้วยวิธีการผ่าท้อง การไปพบนี้ยังอาจมีประโยชน์ถ้าลูกของคุณไม่ยอมดูดนมเมื่อคุณอุ้มเขาให้อยู่ในบางตำแหน่ง ไม่ชอบเวลาให้นอนคว่ำ นอนหลับได้ไม่ดี หรือไม่สบายเพราะมีลมในท้อง ให้ขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพ “ตั้งแต่เนิ่นๆ” ถ้าศีรษะของลูกเริ่มแบน หรือเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจน หรือชอบหันหน้าไปด้านใดด้านหนึ่งเสมอ