ทุกครั้งที่ลูกน้อยเป็นไข้ มักจะสร้างความรู้สึกกังวลและคุณแม่บางคนอาจรับมือกับสถานการณ์นี้ไม่ถูก ก่อนอื่นคุณต้องไม่ตกใจหรือกังวลจนเกินไป เพราะแท้จริงแล้วอาการตัวร้อนเป็นไข้เกิดขึ้นเมื่อร่างกายกำลังต่อสู้กับผู้บุกรุก ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส ซึ่งในบางครั้งการป่วยไข้ของเด็กทารกหรือเด็กเล็กก็อาจไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์เสมอไป
นั่นเพราะ “ไข้” มีส่วนช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงาน เพื่อหยุดการแบ่งตัวของเชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียต่างๆ แต่เมื่อเด็กเล็กเป็นไข้ก็อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่น่ากังวลได้ด้วย นั่นคือ “การชัก” และ “ภาวะขาดน้ำ”
จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกน้อยของคุณกำลังเป็นไข้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการวัดอุณหภูมิของร่างกาย โดยปกติอุณหภูมิของเด็กอยู่ระหว่าง 36-37 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิอาจแตกต่างกันตามตำแหน่งของร่างกายและช่วงเวลาที่ทำการวัดอุณหภูมิ โดยการวัดอุณหภูมิบริเวณทวารหนัก (สำหรับมืออาชีพเท่านั้น) ใต้รักแร้ และหู เป็นบริเวณที่มีความถูกต้องแม่นยำมากที่สุด แม้การวัดที่หน้าผากจะง่ายและสะดวกที่สุดก็ตาม แต่ค่าที่ได้ก็อาจคลาดเคลื่อนเช่นกัน
ถ้าอุณหภูมิร่างกายของลูกน้อยสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียสถือว่า “มีไข้ต่ำ” ไม่ใช่ไข้ในระดับที่เป็นอันตราย โดยปกติแล้วไข้จะขึ้นสูงตอนกลางคืนและลดต่ำลงในตอนเช้า ในกรณีที่ลูกมีไข้ต่ำแต่ยังรับประทานอาหารได้ปกติและยังเล่นซนตามธรรมชาติ นอกจากจะแสดงอาการงอแงหรือไม่สบายตัวบ้าง คุณแม่สามารถดูแลด้วยการเช็ดตัวและให้ยาลดไข้เองเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่หากยังมีความกังวลใจอยู่ก็สามารถพาลูกไปพบคุณหมอได้เช่นกัน
แต่ถ้าลูกของคุณมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส อย่ามัวรีรอ! แนะนำให้รีบพาลูกไปพบคุณหมอโดยทันที เนื่องจากเด็กมีความเสี่ยงที่จะเกิด “อาการชัก” เพราะการที่อุณหภูมิในร่างกายของเด็กสูงขึ้นและลดต่ำลงอย่างรวดเร็วอาจกระตุ้นให้เกิดการชักเพราะไข้สูง และเป็นอันตรายอย่างมาก
วิธีรับมือกับอาการไข้ในเด็กทารก
สิ่งสำคัญคือ การปรับอุณหภูมิของร่างกายให้ลดลงด้วยการเช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง ให้ลูกดื่มน้ำมากๆ ควรให้ลูกนอนหลับพักผ่อน และหลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าหลายชั้น เพราะผิวหนังที่สัมผัสกับอากาศจะช่วยให้ร่างกายเย็นลง หลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็นเพราะอาจทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเสี่ยงต่ออาการชักได้เช่นกัน และควรเปิดหน้าต่างเล็กน้อยเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที หากลูกมีไข้ร่วมกับอาการต่อไปนี้
• กรีดร้องเสียงแหลม
• ซึม
• ไม่กินนมแม่
• ไม่ร่าเริง ไม่เล่นสนุกกับของเล่นชิ้นโปรด
• งอแง อ้อนมากขึ้น
• มีผื่นขึ้นตามตัวผิดปกติ
• รับประทานยาลดไข้แล้วอาการแย่ลงหรือไม่ดีขึ้น
สำคัญที่สุดคุณแม่ต้องหมั่นตรวจวัดอุณหภูมิของลูกน้อยเป็นประจำ หากสัมผัสร่างกายแล้วลูกตัวอุ่นหรือตัวร้อน และเมื่อสังเกตว่า ลูกกินอาหารน้อยลงหรือไม่ร่าเริงสดใสอย่างที่เคย รวมถึงเช็ดตัวให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงและปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์