MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: 6 เรื่องที่แม่ให้นมลูกต้องรู้! พร้อมวิธีนำลูกเข้าเต้าอย่างถูกวิธี

Add this post to favorites

6 เรื่องที่แม่ให้นมลูกต้องรู้! พร้อมวิธีนำลูกเข้าเต้าอย่างถูกวิธี

คุณแม่มือใหม่อาจกังวลเมื่อต้องให้นมลูก เรามี 6 เรื่องที่คุณแม่ให้นมลูกต้องรู้! วิธีให้นมลูกที่ถูกต้อง พร้อมขั้นตอนการอุ้มลูกและนำลูกเข้าเต้าอย่างถูกวิธี

2นาที อ่าน

เขียนและตรวจทานความถูกต้องโดย อ.ปิยวรรณ วงศ์วสุ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาด้านอาหารและโภชนาการ

สำหรับคุณแม่ที่ใกล้คลอด หรือใกล้จะออกจากโรงพยาบาลเพื่อกลับมาเลี้ยงเจ้าตัวเล็กเองที่บ้านแล้ว คงจะประหม่าไม่เบาใช่ไหมคะเมื่อนึกถึงตอนที่ต้องให้นมลูกเอง ไม่ต้องกังวลไปค่ะ วันนี้เราได้รวบรวม การเตรียมตัว ข้อปฏิบัติ และวิธีให้นมลูกอย่างถูกวิธีมาไว้ที่นี่แล้ว จะมีอะไรบ้างนั้นลองไปดูกันเลยค่ะ

 

6 วิธีให้นมลูกอย่างถูกวิธีสำหรับแม่มือใหม่เป็นมือโปร

 


1. เตรียมสถานที่ อุปกรณ์ และตัวเราให้พร้อมก่อนให้นม

 

ก่อนเริ่มการให้นมลูก อย่าลืมตรวจเช็คอุปกรณ์และของรอบกายให้พร้อมก่อนเสมอ เลือกบริเวณให้นมที่มีอากาศถ่ายเทและเงียบสงบ หากจะให้นมในท่านั่งให้เลือกเก้าอี้ที่นั่งสบาย มีที่วางแขน และพนักพิงหลัง เตรียมหมอนรองให้นม ผ้าคลุมหรือเสื้อคลุมให้นม ผ้าสำหรับเช็ดทำความสะอาด หากตั้งใจให้นมในท่านอนอย่าลืมเบาะนอนสำหรับทารกและหมอนหนุนสำหรับคุณแม่ด้วยค่ะ

ที่สำคัญต้องเตรียมด้านความสะอาดของตัวเรา อย่าลืมล้างมือให้สะอาด และเตรียมบริเวณเต้านมทั้งสองข้างให้สะอาด โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วหรือน้ำดื่มจากขวดปิดสนิทเช็ดบริเวณเต้านมก่อนเสมอ วิธีเช็ดให้คุณแม่เช็ดจากหัวนมหมุนออกไปยังลานนม หากจะเช็ดด้วยทิชชู่เปียกก็ควรเป็นรุ่นที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือน้ำหอมค่ะ ขั้นตอนทำความสะอาดนี้อย่าลืมทำอีกครั้งเมื่อให้นมเสร็จด้วยนะคะ


2. ให้นมลูกด้วยวิธีอุ้มที่ถนัดและสบาย

 

ให้นมลูกด้วยวิธีอุ้มที่ถนัดและสบาย

 

วิธีอุ้มระหว่างให้นมลูกนั้นมีได้หลายแบบ คุณแม่สามารถเลือกและปรับท่าให้รู้สึกว่าตัวเองสบายที่สุดได้เลยค่ะ จะได้ไม่เกร็งและทำให้ลูกน้อยได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอ โดยท่าให้นมที่คุณแม่ควรศึกษาเอาไว้มี 4 ท่าดังนี้

  1. ท่าอุ้มนอนขวางบนตัก (Cradle hold position) เป็นท่านั่งให้นมที่คุณแม่จะวางเจ้าตัวเล็กไว้บนตัก ใช้มือและแขนข้างเดียวกับเต้าที่จะให้นมประคองลูกเอาไว้ ส่วนมืออีกข้างประคองเต้านมระหว่างให้นม
  2. ท่าประยุกต์ลูกนอนขวางบนตัก (Modified/cross hold position) เป็นท่านั่งให้นมที่คล้ายท่าแรกแต่เปลี่ยนสลับมือกันค่ะ ใช้มือและแขนข้างเดียวกับเต้าที่จะให้นมประคองเต้านมไว้ ส่วนมืออีกข้างประคองท้ายทอยของลูก โดยเป็นท่าที่สามารถใช้มือช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะลูกน้อยได
  3. ท่าอุ้มด้านข้าง (Clutch hold หรือ Football hold position) เป็นท่านั่งให้นมที่อุ้มลูกไว้ตรงสีข้างคุณแม่ ให้เท้าคุณลูกชี้ไปด้านหลัง จะเหมือนคุณแม่กำลังถือลูกฟุตบอลอยู่ ท่านี้เหมาะกับคุณแม่ที่ผ่าคลอดทางหน้าท้อง คุณแม่ที่มีลูกแฝด ลูกตัวเล็ก หรือคุณแม่ที่มีเต้านมใหญ่ค่ะ
  4. ท่านอน (Side lying position) เป็นท่าให้นมที่คุณแม่และลูกนอนตะแคงเข้าหากัน คุณแม่นอนหนุนหมอน ดันตัวแม่เองขึ้นด้วยศอก แล้วประคองต้นคอลูกด้วยมืออีกข้าง เหมาะกับคุณแม่ที่เกิดอาการเพลียหลังคลอด หรือให้นมลูกตอนกลางคืน

ท่าให้นมเหล่านี้จัดเป็นท่ามาตรฐาน หากคุณแม่ท่านไหนยังไม่เคยได้รับการสอนมาก่อนสามารถหาภาพหรือคลิปเคลื่อนไหวมาลองศึกษาเพิ่มและซักซ้อมตามก่อนได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะทำไม่ถูกนะคะ เพราะในการให้นมที่โรงพยาบาลต้องมีพยาบาลมาช่วยสอนคุณแม่อีกทีแน่นอนค่ะ
 

3. รู้จักการนำลูกเข้าเต้าอย่างถูกวิธี

 

การนำลูกเข้าเต้า หมายถึง การทำให้ลูกอมหัวนมและลานนมเพื่อดูดนมได้นั่นเอง หากทำได้อย่างถูกวิธี นอกจะทำให้ลูกของคุณแม่ดูดนมได้ดีแล้ว ยังป้องกันตัวคุณแม่จากปัญหาเต้านมคัด หัวนมแตก และลดการเกิดเต้านมอักเสบด้วยค่ะ

สำหรับวิธีนำลูกเข้าเต้านั้น หลังจากอุ้มลูกให้อยู่ในท่าที่ต้องการแล้ว ให้เอามือประคองเต้านมตัวเองโดยใช้นิ้วโป้งอยู่ด้านบน ส่วนนิ้วที่เหลือช้อนเต้านมด้านล่างเพื่อยกเต้านม จากนั้นให้จำง่ายๆ เป็น 3 จังหวะตามนี้ค่ะ

จังหวะที่ 1 : ให้ลูกอ้าปาก เมื่อเราอุ้มลูกมาตรงเต้านมโดยจมูกของลูกอยู่ระดับเดียวกับหัวนมและคางอยู่ชิดเต้านมส่วนล่างแล้ว ลูกจะเริ่มอ้าปากเอง แต่ถ้าน้องไม่อ้าปากเองก็ไม่เป็นไรนะคะ ให้ใช้หัวนมเขี่ยริมฝีปากของน้องเบาๆ เพื่อกระตุ้นให้อ้าปากได้ค่ะ

จังหวะที่ 2 : เคลื่อนหัวลูกมาให้ปากอมถึงลานนม รอจนลูกอ้าปากกว้างก่อนแล้วเคลื่อนหัวของเค้าเข้ามาที่เต้านมจนเค้าอมหัวนมเข้ามาถึงบริเวณลานนม จำไว้ว่า! ให้เลื่อนหัวลูกมาที่เต้านมเรา อย่าโน้มตัวเองเพื่อเอาเต้านมเข้าปากลูก และอย่าให้ลูกดูดเฉพาะหัวนม เพราะจะไม่มีแรงกระตุ้นน้ำนมค่ะ

จังหวะที่ 3 : ปรับตำแหน่งให้เข้าที่ โดยให้ปากของลูกอมลานนมส่วนล่างมากกว่าส่วนบน และคางอยู่ชิดกับเต้าส่วนล่าง เป็นตำแหน่งจะที่ทำให้น้องดูดนมได้ดี หายใจสะดวก และคุณแม่ไม่เจ็บหัวนมด้วยค่ะ พอลูกน้อยเริ่มดูดนมแล้ว ให้ลองสังเกตดูการดูดที่จะเป็นจังหวะและมีเสียงเบาๆ ขณะกลืนน้ำนม ถ้าได้แบบนี้แสดงว่ามีน้ำนมออกมาแล้วค่ะ

 

การให้นมที่ดีควรให้ลูกดูดนมได้บ่อย

 

การให้นมที่ดีควรให้ลูกดูดนมได้บ่อยตามเค้าต้องการค่ะ ความถี่ที่ดีควรจะอยู่ที่ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง หรือประมาณ 8-12 ครั้งต่อวันในช่วง 6 สัปดาห์แรก จากนั้นเด็กจะดูดน้อยครั้งลงเอง การให้นมแต่ละครั้งปล่อยให้เค้าดูดนมจนหมดเต้าแล้วเปลี่ยนให้ดูดอีกข้างจนหมดหรือนานเท่าที่ลูกต้องการค่ะ
 

4. อุ้มลูกให้เรอหลังการให้นม

 

หลังการให้นมลูกน้อย คุณแม่ต้องอุ้มไล่ลมให้ลูกเรอทุกครั้ง โดยควรทำทันทีหลังจากให้ลูกดูดนมเสร็จหรือก่อนที่จะเปลี่ยนให้น้องดูดนมอีกข้าง เนื่องจากระหว่างที่ทารกดูดนมจะมีการกลืนลมเข้าไปด้วย ทำให้รู้สึกแน่น อึดอัด จนไปถึงเกิดอาการท้องอืด และปวดท้องได้ค่ะ โดยวิธีอุ้มลูกให้เรอนั้นทำได้ 2 ท่าดังนี้

ท่าอุ้มเรอโดยการเอาลูกพาดบ่า ทำได้โดยให้คุณแม่อุ้มน้องให้คางของน้องอยู่ที่บ่าของแม่ จากนั้นใช้ฝ่ามือลูบหลังโดยลูบขึ้นจนได้ยินเสียงเรอ

ท่าอุ้มเรอโดยเอาลูกนั่งบนตัก ทำได้โดยการให้ลูกนั่งบนตัก แล้วโน้มตัวน้องมาด้านหน้าเล็กน้อย ใช้ฝ่ามือหนึ่งประคองใต้คางลูก อีกมือหนึ่งลูบหลังเบาๆ จนได้ยินเสียงเรอ

วิธีอุ้มและท่าสำคัญที่เกี่ยวกับการให้นมเหล่านี้ หากคุณแม่มือใหม่ยังไม่แน่ใจควรให้พยาบาลสอนและฝึกซ้อมให้คล่องก่อนกลับมาทำเองที่บ้านนะคะ เพื่อป้องกันการทำผิดพลาดจนทำให้ลูกเราดูดนมผิดวิธีค่ะ
 

5. คอยสังเกตว่าลูกน้อยดูดนมพอไหม เมื่อไรลูกหิว

 

นอกจากการให้นมแล้ว คุณแม่ยังจำเป็นต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของลูกด้วยค่ะ ว่าเค้าได้รับปริมาณนมต่อวันเพียงพอไหม พฤติกรรมที่บ่งบอกว่าลูกดูดนมเพียงพอ ได้แก่ น้องฉี่ออกอย่างน้อย 6 ครั้งต่อวัน รวมถึงอึอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน มีท่าทางพอใจเมื่อใกล้ดูดเสร็จ ตัวคุณแม่เองรู้สึกว่าเต้านมนิ่มขึ้น และน้องมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ค่ะ

อีกพฤติกรรมที่คุณแม่ต้องคอยสังเกตคือเมื่อไรที่ลูกหิว ดูได้จากพฤติกรรมของน้อง เช่น มีอาการส่ายหน้าไปมาคล้ายมองหาเต้านม ทำปากเหมือนกำลังดูดนมอยู่ เอามือถูปาก ดูดปากตัวเอง จนไปถึงร้องไห้ แต่อย่ารอจนเค้าร้องไห้แล้วค่อยให้นมนะคะ เพราะจะทำให้การดูดนมของน้องลำบากขึ้น
 

6. ช่วง 6 เดือนแรก ต้องให้นมแม่เท่านั้น

 

ทารกควรได้รับแต่นมแม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นตลอด 6 เดือนแรกของชีวิต ไม่ควรให้น้ำ นมผง หรืออาหารเสริมใดๆ นอกจากจะมีความจำเป็นจริงๆ และอยู่ในความดูแลของแพทย์ค่ะ ทั้งนี้เพราะนมแม่มีทั้งสารอาหารและน้ำที่ครบถ้วนเพียงพอแล้วสำหรับลูก นอกจากสารอาหารหลักอย่างคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันแล้ว ยังมีสารอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อทารก เช่น แอนติบอดี สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน แร่ธาตุ รวมทั้งโพรไบโอติกส์ เช่น จุลินทรีย์ LPR ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อการทำงานของสมอง ระบบทางเดินอาหาร และระบบภูมิคุ้มกันของทารกอีกด้วย
 

เอกสารอ้างอิง
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.(2562). ตั้งครรภ์คุณภาพและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. สืบค้นจาก https://multimedia.anamai.moph.go.th/ebooks/hp-ebook_06_mini/
ผกากรอง วนไพศาล.(2559). น้ำนมแม่ ประโยชน์อเนกอนันต์. สืบค้นจาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article
โรงพยาบาลแมคคอร์มิค. (ม.ป.ป.). ท่าในการให้นมแม่ที่ถูกต้องและการอุ้มเรอ. สืบค้นจาก https://www.mccormickhospital.com/web/articles/blogs
วนิชา ปัญญาคำเลิศ.(ม.ป.ป.).8 วิธีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ. สืบค้นจาก https://www.bangkokhospital.com/content/8-ways-to-successfully-breastfeed
วสันต์ นันทสันติ.(2563). ให้นมแม่อย่างปลอดภัย สบายใจยิ่งขึ้น ด้วยหลัก “1 2 3”. สืบค้นจาก https://www.phyathai.com/article_detail/3201/
หทัยทิพย์ ชัยประภา.(2562). ปัญหาและวิธีแก้ กับเรื่อง “นมแม่” ที่ต้องอ่าน. สืบค้นจาก