"น้ำเดิน" ที่จริงแล้วก็คือน้ำคร่ำซึ่งคอยรองรับลูกน้อยขณะอยู่ในท้องของคุณแม่ เมื่อจะคลอดลูกถุงน้ำคร่ำจะแตกออกทำให้น้ำคร่ำไหลออกมาจากช่องคลอด คุณแม่บางคนอาจจะมีน้ำไหลออกมาเพียงเล็กน้อย แต่บางคนก็ออกมามาก สิ่งแรกที่ต้องทำคือตรวจเช็คให้แน่ใจว่าน้ำที่ไหลออกมานั้นเป็นน้ำคร่ำหรือปัสสาวะ หากใส ไม่มีสี และไม่มีกลิ่น แสดงว่าเป็นน้ำคร่ำ แต่หากมีสีเหลืองและมีกลิ่นแอมโมเนีย แสดงว่าเป็นปัสสาวะ
ในภาวะปกติถุงน้ำคร่ำจะแตกช่วงที่ใกล้คลอด หลังจากมีอาการเจ็บครรภ์จะคลอดแล้ว การที่มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนที่มีอาการเจ็บครรภ์จริง (เจ็บครรภ์สม่ำเสมออย่างน้อย 1 ครั้งใน 10 นาทีและมีการเปิดขยายของปากมดลูก) และอายุครรภ์ครบกำหนด (มากกว่าหรือเท่ากับ 37 สัปดาห์จะเรียกว่า “ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด (Premature rupture of membranes : PROM)” หรือเรียกว่า “น้ำเดิน”
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ในไตรมาสสุดท้าย หรืออยู่ในระยะใกล้คลอด เมื่อพบว่ามีอาการน้ำเดินถึงแม้ยังไม่เจ็บครรภ์ก็ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะเมื่อน้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตกจะมีโอกาสทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ช่องคลอดและโพรงมดลูกได้ง่าย ส่งผลให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในโพรงมดลูก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกในครรภ์ โดยระหว่างเตรียมตัวไปโรงพยาบาลหากกลัวน้ำคร่ำจะไหลเลอะเทอะ คุณแม่ควรทำความสะอาดบริเวณช่องคลอดด้วยการเช็ดจากข้างหน้าไปข้างหลัง แล้วจึงใส่ผ้าอนามัยไว้
ป้องกันน้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอดได้อย่างไร?
1. หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุต่างๆ เช่น การเดินทางที่ไม่จำเป็น หรือการถูกกระทบกระแทกโดย เฉพาะบริเวณท้อง
2. หลีกเลี่ยงการทำงานที่หนักเกินไป
3. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง
4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสมทุกวัน
5. รักษาและควบคุมการติดเชื้อในช่องคลอด
6. หมั่นดูแลรักษาฟันไม่ให้ฟันผุ เพราะมีรายงานว่าการมีฟันผุ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่มีความสัมพันธ์กับการที่ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด
ที่มา
หาหมอ.com, ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด (Premature rupture of membranes), รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ, สูตินรีแพทย์, http://haamor.com/th/ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด