ตรวจทานความถูกต้องโดย ศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์
ลูกร้องไห้เป็นเวลานานทำอย่างไรดี? เช็กสัญญาณเตือนอาการโคลิคในทารกวัยแรกเกิด พร้อมวิธีรับมือลูกน้อยเมื่อมีอาการโคลิค
โคลิค หรือ อาการร้องไห้โยเยติดต่อกันเป็นเวลานาน 3 ชั่วโมงต่อวันเป็นอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์โดยไม่ทราบสาเหตุ พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดตั้งแต่อายุ 3 สัปดาห์จนถึงวัย 3-4 เดือน ซึ่งอาการร้องไห้มักเกิดขึ้นซ้ำๆ และบางรายอาจจะร้องในเวลาเดียวกันในทุกๆวัน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอาการปวดท้อง หรือไม่สบายท้อง ถึงแม้อาการโคลิคในทารกแรกเกิดจะไม่มีอันตรายและหายไปเองได้ แต่ก่อความกังวลให้คุณพ่อคุณแม่ไม่มากก็น้อย ดังนั้นควรเข้าใจสาเหตุ และรู้จักวิธีรับมืออาการโคลิค เพื่อให้ลูก พ่อแม่ และครอบครัวคลายความกังวลและแฮปปี้มากขึ้น
สาเหตุของอาการโคลิค
อาการโคลิคเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
✔ การเจริญเติบโตไม่เต็มที่ของระบบประสาทและระบบย่อยอาหาร
✔ การที่ทารกรับรู้ถึงความกังวลของคุณพ่อคุณแม่
✔ การกินนมมากเกินไป ท้องอืดเนื่องจากน้ำตาลแลคโตสย่อยไม่หมด ค้างในโพรงลำไส้
✔ การเสียดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้
อาการโคลิค คืออะไร?
อาการโคลิค คือ อาการร้องไห้อย่างหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ ลูกจะร้องไห้กระวนกระวาย (ไม่ยอมหยุดดิ้น) และผายลมควบคู่กัน มักร้องไห้ในช่วงเวลาเดิมๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะเวลาเย็นหรือค่ำ โดยร้องยาวนานกว่าปกติ จากข้อมูลทางสถิติพบว่า 10-20% ของทารกที่มีอายุระหว่าง 2 สัปดาห์ถึง 3-4 เดือน ทั้งในกลุ่มทารกที่กินนมแม่และทารกที่ได้รับนมผงดัดแปลงสามารถมีอาการโคลิคได้เช่นกัน
คุณพ่อคุณแม่อาจะสับสนระหว่าง อาการโคลิคกับท้องร่วง เพราะเวลาทารกร้องปวดท้องโคลิคมักจะมีอาการเกร็งหน้าท้องมากและเบ่งมาก ทำให้มีอาการถ่ายบ่อยในทารกบางราย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องแยกให้ออกระหว่าง อาการโคลิค กับท้องร่วง
โคลิคเป็นอาการ ไม่ใช่ “โรคโคลิค”
คุณพ่อคุณแม่อาจเคยได้ยินคำว่า โรคโคลิค แต่ทางการแพทย์แล้วโคลิคไม่ใช่โรค และเป็นเพียงอาการที่ลูกแสดงออกมาในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตเท่านั้น
อาการโคลิค เกิดจาก ระบบการย่อยอาหารของลูกที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดการเสียดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งเมื่อมีการสื่อสารกับปลายประสาทที่ลำไส้ และส่งสัญญาณไปยังสมอง จะทำให้การบีบตัวของลำไส้ผิดปกติไป ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง ไม่สบายท้อง ลูกจึงร้องไห้โยเย
เมื่อลูกโตขึ้นและมีพัฒนาการของระบบย่อยอาหารและระบบประสาทที่ดีขึ้นแล้ว อาการเหล่านี้ก็จะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปในที่สุด โดยส่วนมากจะดีขึ้นเมื่ออายุประมาณ 3-4 เดือน เพราะฉะนั้น การที่ลูกมีอาการโคลิคไม่ใช่ว่าลูกป่วย แต่เป็นเพราะลูกอยู่ในช่วงกำลังปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ของชีวิต ซึ่งมีหลากหลายวิธีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยบรรเทาอาการโคลิคของลูกน้อยได้
เช็กสัญญาณทั่วไปของอาการโคลิค
สัญญาณทั่วไปของอาการโคลิคที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตลูกได้ด้วยตนเอง ได้แก่
✔ ลูกร้องไห้ตลอดวัน หรือร้องหลายครั้งในเวลากลางคืน โดยไม่ทราบสาเหตุ
✔ ลูกร้องไห้ในช่วงเวลาเดิมๆ เป็นประจำ
✔ ลูกร้องไห้นานกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่าสัปดาห์ละ 3 วัน และยาวนานอย่างน้อย 3 สัปดาห์
✔ ลูกกรีดร้องเสียงแหลมโดยไม่ทราบสาเหตุ
✔ ลูกมีอาการหงุดหงิดกว่าปกติ
✔ ไม่สามารถปลอบหรือทำให้ลูกหยุดร้องได้
เมื่อลูกมีอาการโคลิค ควรดูแลอย่างไร?
เคล็ดลับง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถช่วยลูกได้ มีดังนี้
1. ให้นมแม่อย่างน้อย 6 เดือนหรือนานที่สุดที่สามารถให้ได้
การที่เด็กได้จุลินทรีย์โพรไบโอติก เช่น จุลินทรีย์แอลพีอาร์ (LPR) หรือ แล็กโทบาซิลลัส แรมโนซัส (Lactobacillus rhamnosus) ซึ่งพบได้ในนมแม่ จะช่วยปรับสมดุลจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารและลำไส้ ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารของลูกน้อยให้ทำหน้าที่ปกติ รวมทั้งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ลดอาการโคลิค และท้องผูกอีกด้วย นอกจาก จุลินทรีย์ LPR แล้ว น้ำนมแม่ยังมีสารอาหารมากกว่า 200ชนิด เช่น DHA, แคลเซียม
นอกจากนั้น คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสเผ็ด ผักพวกกะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ กะหล่ำดาว และถั่วต่างๆ เพราะเป็นอาหารที่อาจทำให้ท้องอืด คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมจากเต้าเพียงข้างเดียวในการให้นมแต่ละครั้ง เพื่อให้เขาได้รับ “น้ำนมเข้มข้น” หรือนมส่วนหลัง ซึ่งจะมีไขมันที่มากกว่านมส่วนหน้าที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักและมีแลคโตสสูงกว่า การที่ให้ลูกดูดนมจากเต้าเพียงข้างเดียวจนเกลี้ยงเต้าจะทำให้ลูกได้รับน้ำนมครบทั้ง 2 ส่วน และเป็นการเลี่ยงการได้รับแลคโตสมากเกินไป ลูกจะรู้สึกอิ่มท้อง หลับสบาย และอาจช่วยลดอาการร้องโคลิค
จุลินทรีย์แอลพีอาร์ในนมแม่ ตัวช่วยปรับจุลินทรีย์ในลำไส้ให้สมดุล ลดอาการโคลิค 1
กรณีที่คุณแม่กังวลเรื่องการอักเสบของเต้านม แนะนำคุณแม่ให้นมแบบสลับมื้อ สลับเต้า และถ้าเต้าข้างที่ลูกไม่ได้ดูดในมื้อนั้นคัด ควรปั๊มนมออกไปเก็บไว้ทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เต้านมเกิดการอักเสบ ตัวอย่างเช่น มื้อแรกคุณแม่ให้นมลูกด้วยเต้านมขวาจนเต้ายวบ คุณแม่ต้องปั๊มนมด้านซ้ายออกจนเต้ายวบด้วยเหมือนกัน เพื่อให้น้ำนมถูกระบายออกทั้ง 2 เต้า และมื้อต่อมาคุณแม่ก็ให้น้ำนมลูกที่เต้านมซ้าย
2. หากมีความจำเป็นต้องเลี้ยงลูกด้วยนมผสมจากขวด : ให้ลดปริมาณอากาศที่ถูกดูดเข้าไปทางจุกนมให้มากที่สุด โดยตั้งขวดให้นมในขวดท่วมหัวจุกนม หรือ ลองใช้ขวดนมที่ป้องกันการสำลักซึ่งช่วยลดการกลืนอากาศ พยายามช่วยให้ลูกเรอออกมา ไม่เปลี่ยนสูตรนมผงโดยไม่ได้ขอคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ และตรวจดูให้แน่ใจว่าคุณแม่ชงนมโดยใช้นมผงและน้ำในสัดส่วนที่ถูกต้อง
3. นวดบริเวณท้องของลูกเบาๆ ในทิศทางตามเข็มนาฬิกา จากขวาล่างขึ้นไปชายโครงขวา ผ่านหน้าท้องด้านบนไปทางชายโครงซ้าย วกลงล่างมาที่หน้าท้องด้านล่างซึ่งเป็นตำแหน่งของลำไส้ใหญ่ ลำไส้ใหญ่จะได้เคลื่อนบีบตัวดันให้ลมและอุจจาระลงมาทางทวารหนัก
4. วางขวดน้ำร้อนหรือเยลอุ่นที่หุ้มผ้าไว้แล้วลงบนท้องลูก หรือนำลูกลงแช่ในอ่างน้ำอุ่นที่มีระดับน้ำสูงประมาณ 5 เซนติเมตร ความร้อนจะช่วยลูกผ่อนคลายและบรรเทาอาการปวดได้ดีเยี่ยม
5. ใช้เป้อุ้มเด็ก หรือผ้าอุ้มเด็กให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะการที่ตัวลูกอยู่ตั้งฉากกับพื้นจะช่วยคลายความเจ็บปวดให้กับลูก จากสถิติพบว่า ทารกในหลายประเทศไม่เป็นโคลิค เนื่องจากมีการอุ้มเด็กเกือบตลอดทั้งวัน
6. การดูดช่วยให้ลูกผ่อนคลาย ทารกอาจต้องการดูดนมตลอดเวลา แต่วิธีนี้อาจเกิดความเสี่ยง คือการได้รับนมมากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง ซึ่งจะกลายเป็นวงจรให้เกิดอาการโคลิคได้
หากลูกมีอาการโคลิคตามที่กล่าวมาแล้วนั้น เพื่อคลายความกังวล แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ปรึกษาแพทย์เพื่อจะได้สร้างความมั่นใจและยืนยันว่าลูกเป็นโคลิคจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สบายใจได้คือ อาการโคลิคไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของลูก เมื่อหยุดร้องแล้วลูกกลับเป็นปกติ และอาการโคลิคจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็หายไปเอง
อ้างอิง
Lara-Villoslada F, et al. Br J Nutr. 2007 Oct;98 Suppl 1:S96-100.
Savino F, et al. Nutrients. 2020 Jun 5;12(6):1693.