ต่อไปนี้คือเหตุผลบางอย่างที่อาจทำให้ลูกร้องไห้
• หิว
• ไม่สบายตัว (ร้อนเกินไป หนาวเกินไป ป่วย ท้องอืด หรือมีลมในท้อง)
• ถูกกระตุ้นมากเกินไป
• เหนื่อย หรือเหนื่อยมากเกินไป
• ถ่ายอุจจาระ
• ร้องไห้จากปวดท้อง (โคลิก)
ร้องไห้เพราะหิว
• ถ้าคุณเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ลูกที่เกิดใหม่ต้องการให้ป้อนนมทุก 2-3 ชั่วโมงในตอนกลางวัน และเมื่อเขาตื่นในตอนกลางคืน (ยกเว้นแพทย์มีคำแนะนำอย่างอื่น) ในไม่ช้า คุณจะรู้สัญญาณที่ลูกจะบอกคุณตอนที่เขาหิว
• กระตุ้นให้ลูกตื่นในขณะที่ให้นม เพื่อให้มั่นใจว่าลูกได้สารอาหารและดูดนมจนอิ่มแล้ว
• คุณอาจต้องปลุกลูกของคุณให้ตื่นขึ้นมาดูดนม ถ้าลูกนอนหลับนานเกินไป
• ตรวจดูให้แน่ใจว่าลูกอมและดูดนมจากเต้าได้ดี เพราะถ้าไม่ใช่ ลูกอาจรู้สึกเหนื่อยก่อน และดูดนมไม่พอ
• ชั่งน้ำหนักตัวลูกเมื่อเขาอายุหนึ่งถึงสองเดือน เพื่อให้แน่ใจว่าลูกมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม
ร้องไห้เพราะรู้สึกไม่สบายตัว
• การนวดลูกทุกวันจะช่วยให้ลูกสงบลง
• ให้นำลูกไปรับการตรวจว่ามีอาการกรดไหลย้อนหรือไม่ ถ้าลูกมีอาการเหล่านี้:
- ตกใจง่าย และร้องไห้บ่อย
- นอนหงายแล้วไม่สบายตัว
- ร้องเสียงดังหลังจากอาเจียน
- ดื่มและกลืนของเหลวอึกใหญ่ แม้ว่าจะไม่ได้ให้ดูดนม
- สะอึกบ่อยๆ
- มีปัญหานอนหลับยาก
• สังเกตอาหารที่อาจทำให้ลูกแพ้ มีอาการที่เห็นได้ชัดเจนบางอย่าง ที่บุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้ในการประเมินได้ โดยอาการดังกล่าวอาจรวมถึง โรคเรื้อนกวาง การมีผื่นคัน การมีสะเก็ดสีเหลืองเข้มอยู่บนหนังศีรษะ การอาเจียน ท้องเสียสลับกับท้องผูก การมีลมและท้องอืดมากผิดปกติ
• อย่าป้อนนมให้ลูกมากเกินไป
• คำแนะนำเพื่อให้แน่ใจว่าลูกไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป คุณควรสวมเสื้อผ้าที่หนากว่าคุณสัก 1 ชั้นให้กับลูก
• ลองใช้จุกนมปลอม การได้ดูดนมอาจช่วยให้เด็กทารกบางคนรู้สึกดีขึ้น
• ร้องเพลง หรืออ่านหนังสือให้ลูกฟัง เสียงของคุณที่เปล่งออกมาเป็นท่วงทำนองจะช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย คุณไม่ต้องกังวลถ้าคุณจะร้องเสียงผิดคีย์
• สังเกตว่ามีไข้ ง่วงซึม หรือถ่ายปัสสาวะน้อยกว่าวันละ 6 ครั้งหรือไม่ ถ้ามีอาการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ควรนำลูกไปพบแพทย์
ร้องไห้เพราะถูกกระตุ้นมากเกินไป
• หลังให้นมลูกเสร็จแล้ว ควรปล่อยให้ลูกได้เคลื่อนไหวเป็นอิสระไม่ต้องอุ้มเขาไว้ เด็กแต่ละคนมีนิสัยต่างกัน จึงต้องการการสัมผัสที่ไม่เท่ากัน
• ควรระวังว่าลูกอาจพบว่าแสง กลิ่น หรือเสียงในสถานที่ต่างๆ นอกบ้าน ทำให้เขากลัว รู้สึกไม่ปลอดภัยและร้องไห้ เขาอาจร้องไห้ระหว่างที่เดินทาง หรือร้องหลังกลับมาถึงบ้านแล้ว
• พยายามจำกัดเวลาที่ลูกจะถูกคนหลายๆ คนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามากอด เพราะการถูกกอดมากเกินไปจากคนหลายๆ คน ทำให้เขารู้สึกเหนื่อยได้
ร้องไห้เพราะรู้สึกเหนื่อยล้า
• ใส่ใจว่าลูกต้องการนอนนานแค่ไหน และให้ลูกมีโอกาสได้นอนอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะๆ
• ส่งสัญญาณให้ลูกรู้ว่าถึงเวลาเข้านอนแล้ว เช่น การห่อตัว หรือการให้จุกนมปลอม การดูดอาจช่วยให้เด็กบางคนรู้สึกผ่อนคลาย
• คอยสังเกต หรือมองดูสัญญาณแสดงความเหนื่อยล้า เช่น การเขย่าแขนหรือขา หน้าตาบูดบึ้ง การหาว ไม่สบตา และการกำมือ สัญญาณเหล่านี้แสดงว่าลูกของคุณพร้อมจะเข้านอนแล้ว
ร้องไห้เพราะเหนื่อยมากเกินไป
• ไม่ควรละเลยสัญญาณแสดงความอ่อนล้าที่ลูกแสดงออกมา เพราะมันคือโอกาสที่ช่วยให้ลูกนอนหลับได้ง่ายขึ้น ถ้าลูกเหนื่อยมากเกินไปเขาก็มักนอนหลับได้สั้นลง และถ้าเขาตื่นนอนเร็วเกินไป คุณควรกล่อมให้เขาหลับต่อ
• ถ้าลูกของคุณเหนื่อยมากเกินไป เขาจะไม่ค่อยตั้งใจดูดนมจากขวดหรือดูดนมจากเต้า จึงควรป้อนนมให้ลูกทันทีเมื่อเขาตื่น แทนที่จะป้อนนมในขณะที่ลูกกำลังจะหลับ
• ถ้าลูกของคุณร้องไห้ อย่าปล่อยให้ลูกร้องไห้อยู่คนเดียวในเปล คุณควรกอดเขา ช่วยทำให้เขาสงบ และอบอุ่น
ร้องไห้ก่อนการถ่ายอุจจาระ
• ลูกอาจร้องไห้ก่อนจะถ่ายอุจจาระ คุณแม่ควรสังเกตว่ามีเลือด มูก ฟอง หรือแผลที่ก้น หรือไม่ เพราะสัญญาณเหล่านี้ แสดงถึงความจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์
ร้องจากอาการโคลิก (Baby colic cry)
• ร้องจากอาการโคลิก (Baby colic cry) เป็นคำศัพท์ที่ใช้เมื่อทารกร้องไห้เยอะมาก โมโห และร้องไห้เป็นเวลานานๆ ลูกอาจเกร็งหลัง และไม่ต้องการให้อุ้ม ใช้วิธีปลอบตามปกติไม่ได้ผล เขาร้องไห้มากขึ้น จนอาจทำให้คุณรู้สึกสิ้นหวัง คุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการรักษาการร้องโคลิก เพราะมีหลักฐานใหม่ๆ เกี่ยวกับบทบาทของโพรไบโอติกส์ (Probiotics) บางชนิดที่ช่วยลดการร้องไห้ที่มีความเกี่ยวข้องกับอาการโคลิกได้
การรับมือกับความต้องการของลูกเมื่อลูกร้องไห้
• ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ที่เขาเกิดมา คุณควรตั้งความคาดหวังที่สมเหตุสมผลกับลูก – ลูกของคุณจะร้องไห้ และเขาต้องการให้คุณปลอบ
• ยอมรับความช่วยเหลือจากทุกคนเมื่อเขาเสนอให้คุณ
• สร้างเครือข่ายสังคมกับพ่อแม่คนอื่นๆ ที่มีลูกเล็กๆ เหมือนกัน
• ลดจังหวะชีวิตของคุณให้ช้าลง และตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้กับสิ่งที่คุณสามารถทำได้ในแต่ละวัน เพราะช่วงเวลาล้ำค่าที่คุณจะได้ฟูมฟักลูกน้อยมีไม่นาน
• กินอาหารที่มีประโยชน์เป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตมากเกินไป และมีน้ำตาลมากเกินไป
• หาเวลาพักผ่อนทุกวัน โดยควรเป็นเวลาเดียวกันกับที่ลูกของคุณพัก
• ออกกำลังกายกลางแจ้งทุกวัน
• คุณและสามีควรหาเวลาของตัวเอง เพื่อทำอะไรบางอย่างที่ตัวเองมีความสุข
• ถ้าคุณอยู่คนเดียว และเวลาที่ลูกร้องไห้ทำให้คุณรู้สึกวิตกกังวลหรือท้อแท้อย่างมาก ให้คุณวางลูกลงในที่ปลอดภัยบนที่นอนของเขา แล้วออกไปจากห้องจนกว่าคุณจะรู้สึกสงบขึ้น โทรหาใครสักคนเพื่อขอความช่วยเหลือ เพราะถ้าคุณตกใจ คุณอาจทำร้ายลูกได้