MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: พัฒนาการเด็ก 11 เดือน พร้อมวิธีดูแลและกระตุ้นพัฒนาการทารก 11 เดือน

Add this post to favorites

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน พร้อมวิธีดูแลและกระตุ้นพัฒนาการทารก 11 เดือน

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ลูกพร้อมเรียนรู้อะไรแล้วบ้าง ชวนคุณพ่อคุณแม่มาเรียนรู้ 4 เคล็ดลับดีดี กับกิจกรรมเพื่อเสริมพัฒนาการในทุกๆ ด้าน ให้ลูกน้อยเติบโตสมวัย

2นาที อ่าน

ใกล้ 1 ขวบปีเข้าไปทุกที เดือนหน้าคุณพ่อคุณแม่คงต้องเตรียมเค้ก และจัดปาร์ตี้เล็กๆ ให้ลูกน้อยแล้วใช่ไหมล่ะคะ งั้นเรามาดูพัฒนาการเด็ก 11 เดือน กันดีกว่าว่า ในเดือนนี้ร่างกายลูกน้อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง และเคล็ดลับดีๆ ที่เรานำมาฝากคุณพ่อคุณแม่ มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ด้านร่างกาย

 

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ด้านร่างกาย

ลูกน้อยเติบโตขึ้น โดยมีน้ำหนักและส่วนสูงตามที่สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปี 2564 ได้ให้ข้อมูลไว้คือ
• น้ำหนักเด็ก 11 เดือน เด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 8-10.5 กิโลกรัม เด็กผู้หญิง จะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 7.5-10 กิโลกรัม
• ส่วนสูงเด็ก 11 เดือน เด็กผู้ชายจะมีส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 70-78 เซนติเมตร เด็กผู้หญิง จะมีส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 68-77 เซนติเมตร
ในเดือนนี้นอกจากเจ้าตัวเล็กจะคลานเก่ง นั่งได้อย่างมั่นคง ชอบปีนป่าย ยืนด้วยตัวเองได้ ก้าวเดินโดยการจับเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านได้แล้ว พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ในเรื่องของกล้ามเนื้อมัดเล็กยังพัฒนาอย่างโดดเด่น ในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกขีดเขียนเพิ่มจินตนาการ โดยการยื่นดินสอ หรือดินสอสี ให้ลูกจับแบบกำ แล้วให้ลูกขีดเขียนลงบนกระดาษ แต่การเล่นนี้ควรดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเอาดินสอเข้าปาก หรือถือดินสอแล้วคลาน ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ และเพื่อช่วยลูกพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กขึ้นไปอีก แนะนำให้คุณแม่ป้อนอาหารลูกให้น้อยลง และให้เขาเปลี่ยนจากการใช้มือหยิบทานเหมือนเดือนที่ผ่านมา เป็นการใช้ช้อนตักอาหารเข้าปาก ซึ่งจะช่วยฝึกการทำงานของอวัยวะร่างกายให้สอดประสานกัน ได้แก่ กล้ามเนื้อมือและสายตานั่นเอง ระยะนี้คุณแม่อาจเหนื่อยเพิ่มขึ้นอีกหน่อย เพราะลูกสามารถเล่นของเล่นได้หลากหลายอย่าง เริ่มชอบปาสิ่งของไปในระยะไกลๆ เทน้ำในแก้วทิ้ง ดึงหรือถอด เสื้อผ้า ถุงเท้า ที่คุณแม่เพิ่งใส่ให้ออก เนื่องจากพฤติกรรมเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งในพัฒนาการเด็ก 11 เดือน คุณแม่จึงไม่ควรดุลูก แต่ควรพูดด้วยน้ำเสียงธรรมดา และสอนเขาว่า ทำแบบนี้ไม่ดีนะลูก

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ด้านสติปัญญา

ลูกน้อยในวัย11 เดือน จะมีพัฒนาด้านสติปัญญา ค่อนข้างโดดเด่นเลยทีเดียว โดยลูกจะเข้าใจ และเรียนรู้ที่จะสื่อสารได้มากขึ้น เช่น เมื่อคุณแม่บอกให้ถอดเสื้อ เขาก็จะทำท่าดึงๆ หากคุณแม่ชี้และบอกให้หยิบของเล่นชิ้นนั้นมาให้แม่ เขาก็จะไปหยิบมาให้ นอกจากพูดคำง่ายๆ 1-2 พยางค์ได้แล้ว ยังเริ่มที่จะพูดยาวๆ ด้วยการบ่นพึมพํากับตัวเองหรือของเล่น ซึ่งยังจับใจความไม่ได้ อีกทั้งสติปัญญาด้านความจำของลูกพัฒนาขึ้นมาก ในช่วงนี้จึงเป็นการดีที่คุณพ่อคุณแม่จะสอนคำศัพท์ใหม่ๆ กระตุ้นให้ลูกฝึกพูดคำอื่นๆ อีกทั้งการพาไปเล่นนอกบ้านและสอนคำศัพท์ใหม่ๆ จะยิ่งทำให้ลูกจดจำได้ดี เช่น คุณแม่ชี้ให้ลูกดูบนท้องฟ้า และพูดว่า ‘นก’ ต่อไปเวลาคุณแม่ถามเขาว่า ‘นกอยู่ไหน’ ลูกก็จะชี้ไปบนฟ้า เป็นต้น

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ด้านอารมณ์ และจิตใจ

ลูกในวัยนี้ ยังคงติดคุณพ่อคุณแม่ ต้องการการยอมรับ ให้คนที่เขารักสนใจ หากคุณพ่อคุณแม่เมินเฉย ลูกจะเริ่มแสดงอาการประท้วงและเรียกร้องความสนใจ อีกทั้งในช่วงนี้ลูกเริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเอง เริ่มดื้อ และรู้จักปฏิเสธในสิ่งที่ไม่อยากทำ เช่น เวลาแม่ให้กินข้าว ลูกมักจะตอบว่า ‘ไม่’ คำแนะนำคือคุณแม่ต้องจัดการกับคำว่า ‘ไม่’ ของลูก อย่าปล่อยให้เป็นนิสัย ควรสอนเขาด้วยน้ำเสียงจริงจัง เพื่อให้เขารู้ว่า สิ่งนี้คือกิจวัตรประจำวันที่เขาต้องทำ แต่เวลาอารมณ์ดี ลูกจะชอบทำในสิ่งที่คิดว่าแม่จะยอมรับและพึงพอใจ เช่น ดื่มนมหมดขวด กินข้าวหมดถ้วย แล้วชูภาชนะขึ้น เพื่อให้แม่ยิ้ม ปรบมือ หรือเอ่ยคำชมเชยนั่นเอง

เคล็ด (ไม่) ลับ ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 11 เดือน

 

เคล็ด (ไม่) ลับ ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 11 เดือน

คุณพ่อคุณแม่มาเรียนรู้เพิ่มเติมกันดีกว่าว่า เคล็ดลับที่ช่วยเสริมพัฒนาการเด็ก 11 เดือน ให้เติบโตสมวัย พร้อมมีพัฒนาการที่ดีนั้น มีอะไรกันบ้าง

1. รู้จักปล่อยบ้าง

จริงอยู่ที่คุณพ่อคุณแม่ควรเล่นกับลูกน้อยบ่อยๆ เพื่อเป็นการใช้เวลาร่วมกัน และมอบความรัก ความอบอุ่นให้แก่ลูก แต่รู้หรือไม่ว่า การได้ปล่อยให้เขาเล่นคนเดียวบ้าง จะเป็นการให้เขาได้รู้จักการหัดเล่นของเล่น รวมถึงรู้จักการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เจอด้วยตัวเอง เช่น การหาปุ่มเปิด เพื่อให้ของเล่นมีเสียงเพลง แกะตุ๊กตาออกจากถุงผ้าที่ผูกไว้ เป็นต้น

2. คุยบ่อยๆ ลูกพูดเป็นเร็ว

ถ้าอยากให้ลูกเป็นเด็กพูดเก่ง แนะนำให้สอนคำศัพท์ลูกเยอะๆ ในช่วงนี้ เพราะลูกน้อยในช่วงนี้เป็นเด็กช่างจำ ดังนั้นแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่หมั่นคุยกับลูกบ่อยๆ สอนคำในภาษาต่างๆ เช่น ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เช่น พูดว่า ‘Hair’ แปลว่า ‘เส้นผม’ พร้อมชี้ไปที่ผมของลูก หรือพูดว่า ‘Cat’ แปลว่า ‘แมว’ พร้อมชี้ไปที่เจ้าแมวที่เดินอยู่ในบ้าน เป็นต้น การสอนแบบนี้จะทำให้เขาเข้าใจได้ง่าย

3. นิทานพาเพลิน

ถึงเวลาที่คุณแม่จะเปลี่ยนจากนิทานผ้า ที่มีรูปเพียงเล็กน้อย มาเป็นนิทานแบบเล่ม ที่มีทั้งภาพ ตัวหนังสือ และเสียง แบบจัดเต็มแล้วล่ะค่ะ เพราะเด็กวัยนี้ชอบฟัง ชอบดู และมีสมาธิอยู่นิ่งกับสิ่งตรงหน้าได้นาน ให้คุณแม่อ่านนิทานก่อนนอนให้ลูกฟังทุกคืน โดยเล่าเป็นเรื่องราว สอนคำศัพท์สอดแทรก และทบทวนสิ่งที่สอนไปด้วยการถามลูกเป็นระยะๆ ก็จะทำให้เขาทั้งเพลิดเพลินและได้เรียนรู้อยู่เสมอด้วย

4. คนเก่งกินเองได้แล้ว

ในช่วงนี้คุณแม่อาจจะต้องห้ามใจตัวเองไม่ให้ป้อนอาหารลูกบ่อยจนเกินไป ควรให้เขาได้ฝึกสัมผัสอาหารด้วยมือ และฝึกใช้ช้อนตักอาหารเข้าปากด้วยตัวเอง เพื่อการพัฒนาที่ดีของกล้ามเนื้อมัดเล็ก อาจต้องยอมให้เลอะเทอะกันบ้าง แนะนำให้คุณแม่สวมผ้ากันเปื้อน หาผ้ามารองบริเวณที่ลูกนั่งกินข้าว และคุณพ่อคุณแม่ควรอยู่ข้างๆ ช่วยหยิบบ้างเวลาลูกน้อยทำไม่ได้

ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ วิธีกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 11 เดือน ที่เรานำมาฝากกัน คุณพ่อคุณแม่ลองนำไปปรับใช้กับคุณลูกดูนะคะ แต่นอกจากวิธีการส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ แล้ว การมอบโภชนาการที่ดี มีประโยชน์ ก็จะยิ่งช่วยให้ลูกน้อยมีพลังเล่น เรียนรู้ และออกสำรวจสิ่งรอบตัวได้มากขึ้น คุณแม่อย่าลืมเสริมอาหารตามช่วงวัย ควบคู่ไปกับการกินนมแม่ เพราะในนมแม่ย่อยง่าย และมีสารอาหารสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่างๆ ให้ลูก ได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี แคลเซียม โปรตีนและเกลือแร่ รวมทั้งโอเมก้า 3 และ 6 ดีเอชเอ ที่ช่วยเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาให้ลูกน้อย กรณีคุณหมอแนะนำนมผงเสริมจากนมแม่ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับช่วงวัยของลูกน้อย และชงให้ถูกสัดส่วน ตามข้อมูลที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ ใกล้ 1 ขวบเข้ามาทุกที เราขอเป็นกำลังใจ และรอฉลองวันเกิดปีแรกของลูกน้อยไปพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่เลยนะคะ

อ้างอิง
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กเเรกเกิด - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง, 9 เมษายน 2564, เข้าถึงได้จาก https://www.thaichilddevelopment.com/images/doc/Ebook1.pdf
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, รู้เท่าทันน้ำหนัก-ส่วนสูง แนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จากโครงการพัฒนาเเหล่งน้ำ : ด้านโภชนาการ, 9 เมษายน 2564, เข้าถึงได้จาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/files/AW-WeightHeight.PDF
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, กราฟแสดงเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตเด็ก 0-5 ปี, 9 เมษายน 2564, เข้าถึงได้จาก https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/kidgraph