พัฒนาการเด็ก 6 เดือน พร้อมวิธีดูแลและกระตุ้นพัฒนาการทารก 6 เดือน
น่าตื่นเต้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย เพราะลูกวัย 6 เดือน หรือวัยครึ่งขวบ กำลังเปลี่ยนผ่านจากเด็กที่นอนเป็นหลัก มาเป็นวัยนั่งเล่น ลูกน้อยเริ่มมีพัฒนาการทางด้านต่างๆ เริ่มเคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องแคล่วขึ้น อีกทั้งเดือนนี้ ถึงเวลาเสริมอาหารตามวัยมื้อแรกให้ลูกแล้วค่ะ มาดูเคล็ดลับในการเสริมพัฒนาการเด็ก 6 เดือน ที่เรามีมาแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่กันดีกว่า
พัฒนาการเด็กทารก 6 เดือน ด้านร่างกาย
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า
เกณฑ์น้ำหนัก เด็กวัย 6 เดือน
• เด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 6.5.-8.5 กิโลกรัม
• เด็กผู้หญิง จะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 6-8 กิโลกรัม
เกณฑ์ส่วนสูง เด็กวัย 6 เดือน
• เด็กผู้ชาย จะมีส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 63-69 เซนติเมตร
• เด็กผู้หญิง จะมีส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 61-68 เซนติเมตร พัฒนาการทารก 6 เดือน ด้านร่างกายนั้น ลูกสามารถยันตัวเองขึ้นจากท่านอนคว่ำ โดยเหยียดแขนตรงทั้งสองข้าง สามารถเอี้ยวตัวไปมาได้อย่างคล่องแคล่ว พลิกตัวเก่ง บางครั้งก็มีการพลิกคว่ำมาเป็นท่ากึ่งนั่งได้ ในเดือนนี้คุณพ่อคุณแม่จะได้เห็นความพยายามเคลื่อนตัวไปข้างหน้า ข้างหลังของลูก เรียกว่า ‘การคืบ’ หรือการคลานแต่เอาส่วนท้องติดพื้น และเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ อีกทั้งกล้ามเนื้อแขนมีความแข็งแรงมากขึ้น สังเกตได้จากการคว้าของเล่น และเริ่มจับสิ่งของต่างๆ ได้อย่างมั่นคงขึ้น โดยเฉพาะของเล่นชิ้นโปรด เป็นต้น
พัฒนาการเด็กทารก 6 เดือน ด้านสติปัญญา
พัฒนาการด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ ลูกจะสามารถมีสมาธิและหยุดนิ่งกับสิ่งที่สนใจได้นานถึง 1 นาที เช่น เมื่ออยู่กับของเล่นชิ้นโปรด ฟังคุณแม่พูด เป็นต้น
ลูกจะยิ้ม หัวเราะมากขึ้น สามารถเปล่งหรือเลียนเสียงสั้นๆ ได้ เริ่มจำคนคุ้นเคยและวิธีการเล่นแบบที่คุณพ่อคุณแม่ชอบเล่นด้วยได้ดี ทำให้เมื่อลูกเจอคนแปลกหน้าหรือเจอสถานการณ์ใหม่ๆ เขาจะรู้สึกหวาดกลัวและร้องไห้ได้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจไปนะคะ อีกทั้งลูกเริ่มเรียนรู้และทำสิ่งนั้นซ้ำๆ ได้ เช่น โยนของเล่นทิ้งลงพื้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และมักทำท่าทีขอให้คุณพ่อคุณแม่เก็บของมาคืน เพื่อจะโยนทิ้งอีกครั้ง
พัฒนาการเด็กทารก 6 เดือน ด้านอารมณ์ และจิตใจ
พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจในเด็ก 6 เดือนนั้น ลูกอาจมีอาการหงุดหงิด งอแง ไม่สบอารมณ์ ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ เป็นเพราะฟันของลูกใกล้จะงอกแล้ว เขาจึงมีอาการคันเหงือก ลูกเริ่มติดเล่นมากขึ้น ยิ่งคุณพ่อคุณแม่เล่นด้วย จะยิ่งไม่ยอมเลิกเล่น เลียนแบบท่าทางและสีหน้าของคนใกล้ชิดได้เก่งขึ้น รู้จักส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการส่งเสียงที่มีความหมาย เช่น รู้สึกง่วง รู้สึกหิว จะร้องแตกต่างกัน จนคุณแม่เข้าใจได้ เป็นต้น
อาหารมื้อแรกของลูกรัก เสริมอย่างไร ได้ประโยชน์ที่สุด
เพราะฟันของลูกน้อยเริ่มขึ้นมาบ้างแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มเสริมอาหารมื้อแรกให้กับลูกแล้วล่ะค่ะ สำหรับเด็ก 6 เดือน ทางกรมอนามัย สำนักโภชนาการ ได้แนะนำไว้ว่า ใน 1 วัน ให้เสริมอาหาร 1 มื้อ ควบคู่กับการกินนมแม่ เนื่องจากลูกน้อยยังไม่มีฟัน และระบบการย่อยอาหารยังไม่แข็งแรง ควรเลือกเสริมเป็นอาหารประเภทบดละเอียด มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ และไม่ผ่านการปรุงรส ให้ลูกได้ลิ้มรสธรรมชาติเพื่อไม่ให้เขามีพฤติกรรมติดรสชาติ เช่น ติดหวาน เป็นต้น อาหารที่แนะนำ ประเภทให้พลังงาน เช่น ข้าวบด หรือข้าวบดสูตรธัญพืช ฟักทองบด โปรตีน เช่น ปลาน้ำจืด ตับบด ไข่แดงบด (ไม่ควรให้กินไข่ขาว เนื่องจากเป็นโปรตีนที่ย่อยยาก) วิตามิน เช่น ผักหวาน ตำลึง และควรหามื้อว่างยามบ่ายไว้ให้ลูกกินด้วย แนะนำเป็นผลไม้ประเภทย่อยง่ายและมีรสหวานอ่อนๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกอยากกินมากขึ้น เช่น มะละกอสุก กล้วยน้ำว้าสุก แก้วมังกร เป็นต้น สำหรับมื้ออื่นๆ กินเป็นนมแม่เช่นเดิม เรามีเมนูง่ายๆ คุณแม่สามารถทำได้ไม่ยากมาแนะนำ ดังนี้
• มันเทศสุดยอดอาหารสำหรับเด็กวัยนั่งได้
• เมนูไก่ใบตำลึง
• ไข่แดงอารมณ์ดี
เคล็ด (ไม่) ลับ ส่งเสริมพัฒนาการเด็กทารก 6 เดือน
1. คนเก่งถือขวดนมเอง เพราะกล้ามเนื้อมัดเล็ก อย่างมือและนิ้วมือ เริ่มแข็งแรงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรค่อยๆ ประคองมือลูกน้อยให้ฝึกจับขวดนมเอง อาจหาเป็นขวดนมที่มีหูจับ เพื่อสามารถนำมือของลูกสอดเข้าไปได้
2. หัดคืบบนเบาะนู้มมมนุ่ม เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกฝึกคืบบนเบาะนุ่มๆ เพื่อให้เขาไม่เจ็บช่วงท้อง และไม่ว่าจะล้มตัวไปซ้าย ไปขวา หรือหน้าคว่ำ ความนุ่มของเบาะจะคอยรองรับสรีระของลูกไม่ให้เจ็บตัวอีกด้วย
3. อ่านนิทานเพิ่มสมาธิ เพราะลูกสามารถโฟกัสได้นานถึง 1 นาที จึงเป็นการดีที่คุณแม่จะหยิบนิทานมาอ่านให้ลูกฟังสักเล่ม เลือกสีสันสดใส มีลูกเล่นเสียงเพลง จะสามารถดึงดูดให้ลูกสนใจ และมีสมาธินานขึ้น ในขณะอ่านคุณแม่ควรออกเสียงสูงๆ ต่ำๆ สลับกันไป เพื่อกระตุ้นให้ลูกอยากเลียนเสียงตาม
4. ออกเสียงตามแม่สิลูก ลองทำเสียงแบบเดิมๆ ให้ลูกฟังบ่อยๆ เพื่อให้ลูกทำตาม คุณแม่อาจลองเอามือป้องที่ปากตัวเองแล้วออกเสียง ‘วา…วา…’ เมื่อลูกทำตามแล้วให้ลองเอามือไปป้องที่ปากลูกบ้าง ลูกจะรู้สึกสนุก และกระตุ้นให้เขาอยากออกเสียงอีกได้นั่นเอง
5. ลูกคันเหงือก แม่ช่วยได้ คุณแม่อาจหายางกัดมาให้ลูกจับหรือถือ เพื่อบรรเทาอาการคันเหงือก แต่หากลูกร้องงอแงเพราะเจ็บเหงือกเนื่องจากฟันเริ่มขึ้น แนะนำให้คุณแม่ป้อนผลไม้บดที่แช่เย็นให้ลูก ก็จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บนั้นได้
6. หลัง 6 เดือนควรให้นมแม่อย่างต่อเนื่องนานที่สุดเท่าที่จะให้ได้ เพราะ นมแม่เป็นโภชนาการที่ดีที่สุดสำหรับทารก ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารกว่า 200 ชนิด รวมทั้ง จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ LPR, โอเมก้า และดีเอชเอ คุณแม่จึงควรให้นมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนหรือนานที่สุดเท่าที่จะให้ได้ จุลินทรีย์ LPR ช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดิน อาหารทำให้ระบบขับถ่ายของลูกน้อยทำงานได้อย่างปกติ รวมทั้งมีส่วนช่วยในการดูดซึมอาหาร ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมเรียน พร้อมเล่น อารมณ์ดี จึงไม่งอแง
อ้างอิง
• กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กเเรกเกิด - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง, 12 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก https://www.thaichilddevelopment.com/images/doc/Ebook1.pdf
• สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, รู้เท่าทันน้ำหนัก-ส่วนสูง แนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จากโครงการพัฒนาเเหล่งน้ำ : ด้านโภชนาการ, 12 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/files/AW-WeightHeight.PDF
• กรมอนามัย สำนักโภชนาการ, อาหารทารกอายุ 6 เดือน, 12 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก https://momandbaby.net/parenting/raising-children01/baby-supplement-table/