MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: พัฒนาการเด็กทารก 7 เดือน กับกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการในแต่ละด้าน

Add this post to favorites

พัฒนาการเด็กทารก 7 เดือน กับกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการในแต่ละด้าน

พัฒนาการเด็ก 7 เดือนที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบ และวิธีเสริมพัฒนาการให้เหมาะสมกับลูกน้อย รวมถึงของเล่นเด็ก 7 เดือน ที่ควรให้ลูกเล่น เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้

2นาที อ่าน

ในช่วงเดือนนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมตัวเหนื่อยเพิ่มขึ้นอีกนิด แต่เชื่อว่าจะมีความสุขมากๆ เลยค่ะ เพราะพัฒนาการเด็ก 7 เดือนของเจ้าตัวเล็กนั้นอยู่ในวัยเริ่มคลาน กลิ้งตัว และนั่งเองได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีพัฒนาการด้านอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลง และพัฒนาขึ้นอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน มาดูกันดีกว่าว่า พัฒนาการทารก 7 เดือนมีอะไรบ้างที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

 

พัฒนาการเด็ก 7 เดือน กับกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการในแต่ละด้านที่สำคัญ

 

พัฒนาการเด็กทารก 7 เดือน ด้านร่างกาย

 

ลูกมีการพัฒนาการทางด้านร่างกายที่เห็นได้ชัดคือ น้ำหนักตัวและส่วนสูง โดยข้อมูลจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า
• น้ำหนักเด็ก 7 เดือน เด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 7-9 กิโลกรัม เด็กผู้หญิง จะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 6-8.5 กิโลกรัม
• ส่วนสูงเด็ก 7 เดือน เด็กผู้ชายจะมีส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 64-71 เซนติเมตร เด็กผู้หญิง จะมีส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 63-71 เซนติเมตร

ในเดือนนี้ลูกน้อยจะเริ่มนั่งได้มั่นคง และยังเปลี่ยนจากการคืบ มาเป็น ‘คลาน’ แล้วด้วย นอกจากนี้ลูกยังเริ่มเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น เนื่องจากกล้ามเนื้อส่วนคอ ท้อง ลำตัว สะโพก และขาแข็งแรงขึ้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวังลูกน้อยไม่ให้ห่าง เพราะอาจคลานไปอยู่ในจุดที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ เช่น
ใต้บันได ขอบเตียง หรือคลานไปคว้าสิ่งของมีคม เป็นต้น อีกทั้งด้วยความอยากเล่นที่มากขึ้น ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ลูกชอบหยิบสิ่งของหรือของเล่นเข้าปากได้ เป็นอีกข้อที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังให้ดี ในเด็กบางรายจะเริ่มมาการเกาะเฟอร์นิเจอร์ ปีนมาบนลำตัวของคนใกล้ชิด เพื่อที่จะฝึกลุกยืน และในเดือนนี้จะได้เห็นฟันน้ำนมของลูกน้อยขึ้นมาอย่างชัดเจน โดยฟัน 2 ซี่ด้านล่างจะงอกขึ้นมาก่อน แล้วจึงตามด้วยฟันน้ำนมสองซี่ด้านบนตามลำดับ

 

พัฒนาการเด็กทารก 7 เดือน ด้านสติปัญญา

 

ในเรื่องของสติปัญญาและการเรียนรู้ ลูกสามารถส่งเสียงเป็นคำๆ ที่มีทั้งสระและพยัญชนะผสมกันได้บ้างแล้ว เช่น ‘ปะปา’ ‘มะมา’ ลูกจะพยายามเลียนเสียงของคนรอบข้าง ช่วงเดือนนี้จึงเป็นโอกาสเหมาะที่คุณแม่จะเริ่มเสริมคำศัพท์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 7 เดือน ด้านภาษาและการสื่อสาร โดยการชวนลูกคุยด้วยคำซ้ำๆ หรืออ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังบ่อยๆ อีกทั้งลูกเริ่มเข้าใจถึงสิ่งที่คุณแม่พูดกับเขาแล้ว เช่น หากคุณแม่พูดว่า ‘ไม่ทำนะลูก’ เขาจะหยุดชะงักและหยุดทำสิ่งนั้น เพราะรู้ว่าคุณแม่กำลังดุ และเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ หากคุณแม่พูดว่า ‘เก่งมากลูก’ เขาก็จะยิ้มหรือหัวเราะตอบ เพราะรู้ว่าคุณแม่กำลังชมเชย เป็นต้น

 

พัฒนาการเด็กทารก 7 เดือน ด้านอารมณ์ และจิตใจ

 

สืบเนื่องจากพัฒนาการในเดือนก่อนหน้าที่ลูกสามารถจำคนคุ้ยเคยได้ดี และเริ่มติดเล่นมากขึ้น ทำให้ ลูกจะแสดงอาการติดคุณแม่ หรือคนที่คุ้นเคยมากขึ้น ถึงแม้ว่าลูกจะชอบและถูกใจเวลาได้มีอิสระในการสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัว แต่หากคุณแม่ไม่อยู่ในสายตาเขาแล้วล่ะก็ ลูกจะร้องไห้งอแง นอกจากนี้ยังเริ่มไม่ไว้ใจคนอื่น มีความกลัวและไม่วางใจในคนแปลกหน้า เมื่อคุณแม่ปล่อยเขาทิ้งไว้กับคนที่เขาไม่รู้จักมาก่อน
ลูกอาจร้องไห้จนอาละวาดได้ นอกจากนี้พัฒนาการเด็ก 7 เดือน ยังติดเล่นมากขึ้น เขาจะหัวเราะง่าย ดังนั้นกิจกรรมใด หรือการเล่นแบบใดที่คุณพ่อคุณแม่เล่นด้วยแล้วลูกอารมณ์ดี ควรเล่นบ่อยๆ เพราะจะช่วยเสริมสร้างให้ลูกเป็นเด็กอารมณ์ดีในอนาคต

 

เคล็ด (ไม่) ลับ ส่งเสริมพัฒนาการเด็กทารก 7 เดือน

 

• ลูกคลานเก่ง แม่ระวังเก่ง เพราะลูกเริ่มคลานเก่ง คุณแม่ควรปล่อยให้ลูกได้คลานอย่างเป็นอิสระไปทั่วบริเวณบ้าน เพื่อฝึกกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้แข็งแรง และเพื่อให้เขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่คุณแม่ต้องคอยระวังไม่ให้ลูกคลานเข้าไปในบริเวณที่จะเกิดอันตรายได้ เช่น บริเวณปลั๊กไฟ บันได พัดลม เป็นต้น รวมทั้งคอยระวังไม่ให้ลูกหยิบของมีคม หรือสารเคมีมาเล่น และเอาเข้าปาก
• นิทานเพื่อนซี้ ช่วยลูกมีสติปัญญาดี เนื่องจากลูกเริ่มโฟกัสกับสิ่งที่สนใจได้นานขึ้น ให้คุณแม่อุ้มลูกนั่งบนตัก เปิดหนังสือนิทาน แล้วอ่านให้ลูกฟัง พร้อมชี้ชวนให้ลูกดูรูปภาพในหนังสือ ควรเลือกหนังสือที่มีสีสันสดใส อาจมีเสียง มีตัวการ์ตูนและสัตว์ที่ลูกสามารถดึงออกมาได้ในรูปแบบป๊อปอัพ เพื่อเพิ่มจินตนาการและดึงดูดความสนใจลูกน้อยได้ อีกทั้งควรให้เขาได้มีส่วนร่วมในการพลิกเปลี่ยนหน้าหนังสือ และฝึกออกเสียงตาม คุณแม่ ก็จะเพิ่มความสนุกในช่วงเวลาเล่านิทานได้ดี
• ร่วมโต๊ะกินข้าว สร้างความอบอุ่น ลูกน้อยเริ่มนั่งได้มั่นคงแล้ว ถึงเวลาชวนลูกร่วมโต๊ะอาหารแล้วล่ะค่ะ นอกจากจะเป็นการสร้างความสุขในครอบครัวแล้ว การพูดคุยระหว่างมื้ออาหาร ยังช่วยกระตุ้นให้ลูกเกิดความสนุกสนานและอยากที่จะกินอาหารมากขึ้น ทั้งนี้ควรฝึกให้ลูกได้หยิบอาหารกินเอง เพื่อเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กด้วย

 

พัฒนาการเด็ก 7 เดือน กับกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการในแต่ละด้านที่สำคัญ

 

ของเล่นเด็กทารก 7 เดือน ลูกสนุก เสริมพัฒนาการได้สุด

 

• หนังสือภาพขนาดใหญ่ นิทานผ้า เป็นของเล่นเด็ก 7 เดือน ที่ช่วยเสริมทักษะทางการฟังและภาษา เพราะพัฒนาการเด็ก 7 เดือน ลูกจะมีความเข้าใจภาษาพูด และสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้แล้ว เวลาเล่าเรื่อง คุณแม่ควรอุ้มลูกนั่งที่ตัก และเล่าด้วยโทนเสียงสูงๆ ต่ำๆ กระตุ้นให้ลูกอยากออกเสียงตาม หากเป็นหนังสือภาพ ควรมีการชี้ชวนให้ลูกฝึกพูด เช่น ชี้ไปที่รูปช้างและออกเสียงว่า ‘ช้าง’ และเมื่อลูกออกเสียงตามแล้วควรชมเชยลูกด้วย เช่น ‘เก่งมาก’ ‘เก่งจังเลย’ หากอยากให้ลูกมีส่วนร่วมในการเปิดหนังสือนิทาน แต่มีความกังวลว่า กระดาษจะบาดมือลูก ควรเลือกเป็นนิทานผ้า ที่มีความอ่อนนุ่ม และอ่อนโยนต่อผิวของลูกน้อย
• เครื่องดนตรีมีปุ่มกด เป็นของเล่นเด็ก 7 เดือน ที่ช่วยเสริมทักษะด้านการใช้กล้ามเนื้อและเสริมให้ลูกมีอารมณ์ดี ควรเลือกเป็นเครื่องดนตรีขนาดเล่น เพื่อให้ลูกหยิบจับและถือเล่นได้ เมื่อกดปุ่มแล้วมีเสียงเพลง จะยิ่งช่วยฝึกสมอง สายตา และนิ้วมือของลูก ให้ทำงานสอดประสานกันอีกด้วย
• ของเล่นเคลื่อนที่ได้ เป็นของเล่นเด็ก 7 เดือน ที่ช่วยเสริมทักษะการฝึกคลานให้ลูก ควรเลือกเป็นของเล่นที่มีล้อ เพราะเมื่อลูกเล่น เขาจะได้จับเข็น หรือไถ นอกจากนี้คุณแม่อาจเลือกเป็นแบบที่มีมอเตอร์เคลื่อนที่อัตโนมัติ เพื่อกระตุ้นให้เด็กฝึกคลานตามของเล่น ก็จะช่วยเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อแขนและขาของลูกน้อยได้

 

เพื่อให้ลูกน้อยแข็งแรงและพร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ คุณแม่ควรเสริมอาหารตามช่วงวัยให้แก่ลูกน้อยเป็นอาหารบดละเอียด ควบคู่ไปกับการกินนมแม่ เนื่องจากนมแม่มีสารอาหารครบถ้วน ย่อยง่าย ซึ่งสารอาหารสำคัญที่พบในนมแม่ที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการรอบด้านและเสริมสร้างความแข็งแรง ได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี แคลเซียม โปรตีนและเกลือแร่ รวมทั้งโอเมก้า 3 และ 6 ดีเอชเอ ที่ช่วยเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาให้ลูกน้อย แต่ในที่กรณีคุณแม่บางท่านที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เช่น ในกรณีที่คุณแม่มีน้ำนมน้อย หรือไม่สะดวกเอาลูกเข้าเต้าทุกมื้อ คุณแม่สามารถปรึกษาคุณหมอถึงวิธีการเพื่อเพิ่มน้ำนมแม่ กรณีที่คุณหมอแนะนำการใช้นมผงควบคู่กับนมแม่ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับช่วงวัยของลูกน้อย และชงให้ถูกสัดส่วน ตามข้อมูลที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ นอกจากพัฒนาการเด็ก 7 เดือน ที่คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบกันไปแล้ว อย่าลืมให้ความรัก ความอบอุ่นแก่ลูก เพื่อสร้างพื้นฐานครอบครัวที่มีความสุขให้แก่ลูกด้วยนะคะ



อ้างอิง
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กเเรกเกิด - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง, 19 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก https://www.thaichilddevelopment.com/images/doc/Ebook1.pdf
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, รู้เท่าทันน้ำหนัก-ส่วนสูง แนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จากโครงการพัฒนาเเหล่งน้ำ : ด้านโภชนาการ, 19 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/files/AW-WeightHeight.PDF