MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: พัฒนาการเด็กทารก 8 เดือน พร้อมวิธีดูแลและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 8 เดือน

Add this post to favorites

พัฒนาการเด็กทารก 8 เดือน พร้อมวิธีดูแลและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 8 เดือน

เข้าใจพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกวัย 8 เดือน ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพัฒนาการทางร่างกาย ลูกคลานได้เร็วขึ้น สามารถทรงตัวขึ้นเองได้ และยังเป็นนักกัดประจำบ้านอีกด้วย

2นาที อ่าน

ไปค่ะคุณพ่อคุณแม่ ตามจับเจ้าตัวเล็กให้ทันนะคะ เพราะพัฒนาการเด็ก 8 เดือน นอกจากจะเป็นเจ้าหนูนักคลาน อยู่ไม่นิ่งและเคลื่อนไหวไปมาตลอดเวลาแล้ว ยังเป็นนักกัดตัวน้อยด้วยนะคะ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงฟันน้ำนมจะเริ่มขึ้น ลูกจะฝึกหัดการกัด ขบ เคี้ยว ลูกจะคลานเข้ามาหาเราได้อย่างรวดเร็ว และใช้เหงือกไล่งับของเล่น ขาเก้าอี้ รองเท้า ฯลฯ นั่นเป็นสัญญาณให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกพร้อมที่จะกินอาหารที่ใช้การกัด แทะ และเคี้ยวได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมตามธรรมชาติที่คุณพ่อคุณแม่รู้แล้วจะชวนยิ้มไม่หุบอีกนะคะ มีอะไรบ้างไปดูกันเลย

 

พัฒนาการเด็ก 8 เดือน ด้านร่างกาย

 

พัฒนาการเด็กทารก 8 เดือน ด้านร่างกาย

 

ช่วงวัยนี้ลูกจะมีพัฒนาการทางด้านร่างกายที่เห็นได้ชัดคือ น้ำหนักตัวและส่วนสูง โดยข้อมูลจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปี 2564 ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า น้ำหนักเด็ก 8 เดือน
• เด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 7-9.5 กิโลกรัม จะมีส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 65-73 เซนติเมตร
• เด็กผู้หญิง จะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 6.5-9 กิโลกรัม จะมีส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 65-73 เซนติเมตร จะเห็นได้ว่า ในเด็ก 8 เดือน จะมีความเร็วในการคลานของลูกเร็วขึ้น ลูกสามารถนั่งได้ เอี้ยวตัวได้ หมุนตัวไปหยิบของเล่น ใช้เมือเล่นของเล่นได้อย่างอิสระ เกาะและดึงตัวขึ้นยืนได้อย่างน้อย 10 วินาที ในเดือนนี้คุณพ่อคุณแม่จะเห็นฟันหน้าด้านล่าง และฟันหน้าด้านบน ชัดเจนขึ้น นั่นแปลว่า ลูกพร้อมที่จะได้รับอาหารตามวัยที่หยาบขึ้นได้แล้วนั่นเอง

 

พัฒนาการเด็กทารก 8 เดือน ด้านสติปัญญา

 

ทารกในวัย 8 เดือนสามารถจ้องมองไปที่หนังสือพร้อมคุณพ่อคุณแม่ได้นาน 2-3 วินาที สามารถหันตามเสียงเรียกชื่อ หรือสามารถออกเสียงสระผสมกับพยัญชนะต่างๆ กันได้ เช่น ‘จ๊ะ’ ‘ป๊ะ’ ‘หม่ำ’ เป็นต้น

 

พัฒนาการเด็กทารก 8 เดือน ด้านอารมณ์ และจิตใจ

 

ลูกจะสามารถแสดงความรู้สึกต่างๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น เริ่มเรียนรู้ และตอบสนองสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ดีขึ้น เช่น ลูกจะปรบมือเมื่อรู้สึกตื่นเต้น ยิ้มหัวเราะเมื่อดีใจหรือพอใจ อาจมีโบกมือเพื่อกล่าวอำลา ยิ่งไปกว่านั้นลูกจะแสดงพฤติกรรมติดพ่อแม่ กลัวว่าพ่อแม่จะหายไป อาจแสดงอาการวิตกกังวล หรือมีอาการร้องตาม

 

พัฒนาการเด็กทารก 8 เดือน ด้านโภชนาการ

 

นอกจากพัฒนาการด้านต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เรื่องโภชนาการตามวัยที่ถูกต้อง ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลยนะคะ ในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมอาหารที่มีเนื้อสัมผัสที่หยาบมากขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมาได้ ลองปรับเปลี่ยนลักษณะอาหารให้ต้องใช้การเคี้ยวให้มากขึ้น เพื่อฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อช่องปากและการใช้ฟัน ขากรรไกรในการบดเคี้ยว หรือหัดให้ดื่มนมจากแก้วแทนขวดนม เพื่อเตรียมลูกให้พร้อมกับการหย่าขวดนม ประกอบกับกล้ามเนื้อของลูกที่แข็งแรงขึ้น ทำให้ลูกเริ่มมีทักษะในการหยิบจับในลักษณะของการคีบ เช่น หยิบอาหารทานเองด้วยการใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้

ดังนั้นคุณแม่ควรให้ลูกได้ลองสัมผัสอาหารด้วยมือ ให้ลูกได้หยิบอาหารกินด้วยตัวเอง แต่ยังคงต้องเน้นสารอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นให้ลูกได้ลองทานอาหารที่หลากหลาย ไม่ปรุงแต่งอาหาร เพื่อสุขภาพและฝึกให้ลูกชินกับรสธรรมชาติ ควรเป็นอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ควบคู่ไปกับการกินนมแม่ ซึ่งนมแม่มีวิตามินซี วิตามินอี แคลเซียม โปรตีนและเกลือแร่ ที่ช่วยเสริมความแข็งแรงให้ร่างกาย โอเมก้า 3 และ 6 ดีเอชเอ ที่ช่วยเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาให้ลูก แต่หากคุณแม่ท่านไหนไม่สะดวกที่จะให้นมลูกด้วยตัวเองในทุกมื้อ สามารถปรึกษาคุณหมอ เพื่อขอคำแนะนำการใช้นมผงควบคู่กับการให้นมแม่ ซึ่งควรพิจารณาเลือกให้ตรงกับช่วงวัยของลูกและควรชงให้ถูกสัดส่วนตามที่ระบุข้างบรรจุภัณฑ์

 

เคล็ด (ไม่) ลับ ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 8 เดือน

 

เคล็ด (ไม่) ลับ ส่งเสริมพัฒนาการเด็กทารก 8 เดือน

 

การกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 8 เดือน คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ง่ายๆ ตามคำแนะนำของ คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ดังนี้

 

1. เพื่อส่งเสริมกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหว

 

จัดลูกให้อยู่ในท่านั่ง วางของเล่น เช่น ลูกบอลมีเสียงไว้ที่พื้นทางด้านข้างเยื้องไปด้านหลังของลูกในระยะที่ลูกเอื้อมมือถึง คุณพ่อคุณแม่เรียกชื่อลูกเพื่อให้ลูกสนใจเอี้ยวตัวไปหยิบของเล่น ถ้าลูกทำไม่ได้ ให้เลื่อนของเล่นเข้าใกล้ตัวลูกมากขึ้นอีกเล็กน้อย แล้วคุณพ่อคุณแม่ช่วยจับแขนลูกให้เอี้ยวตัวไปหยิบของเล่น

 

2. เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้

 

คุณพ่อคุณแม่อุ้มลูกนั่งบนตัก เปิดหนังสือรูปภาพที่มีภาพสีขนาดใหญ่อ่านกับลูก พร้อมกับพูดคุย ชี้ชวนให้ลูกดูรูปภาพในหนังสือ หากลูกยังไม่มองรูปภาพในหนังสือให้คุณพ่อคุณแม่ประคองหน้าลูกให้มองที่รูปภาพในหนังสือ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังช่วยให้ลูกจำชื่อของตัวเองได้โดยการเรียกชื่อลูกด้วยนํ้าเสียงปกติบ่อยๆ ในระยะห่าง 120 ซม.(4 ไม้บรรทัด) (ควรเป็นชื่อที่ใช้เรียกลูกเป็นประจํา) ถ้าลูกไม่หัน เมื่อเรียกชื่อแล้วให้คุณพ่อคุณแม่งประคองหน้าลูกให้หันมามอง จนลูกสามารถทําได้เอง

 

3. เพื่อส่งเสริมการใช้ภาษา คุณพ่อคุณแม่เล่นกับลูก

 

ชวนลูกออกเสียงใหม่ๆ ให้ลูกเลียนเสียงตาม เช่น ‘มามา’ ‘ปาปา’ ‘หม่ำหม่ำ’

 

4. เล่นจ๊ะเอ๋ เสริมให้ลูกอารมณ์ดี

 

คุณพ่อคุณแม่ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าผืนเล็กๆ บังหน้าไว้ แล้วโผล่หน้าออกมาจากผ้าเช็ดหน้าด้านใดด้านหนึ่งพร้อมกับพูดว่า “จ๊ะเอ๋” หยุดรอจังหวะเพื่อให้ลูกหันมามองหรือยิ้มเล่นโต้ตอบ ให้คุณพ่อคุณแม่ทําซํ้าโดยโผล่หน้าออกมาจากผ้าเช็ดหน้าด้านเดิมหรือสลับเป็นอีกด้านพร้อมกับพูดว่า “จ๊ะเอ๋” หรือนำผ้าคลุมศีรษะลูกและกระตุ้นให้ลูกดึงผ้าออก แล้วคุณพ่อคุณแม่พูด “จ๊ะเอ๋” คุณพ่อคุณแม่ควรเล่นกับลูกบ่อยๆ จนกระทั่งลูกสามารถร่วมเล่นจ๊ะเอ๋ได้ แนะนำให้เล่นด้วยกันหลายๆ คน โดยเฉพาะคนในครอบครัว ก็จะช่วยสร้างความอบอุ่นในครอบครัวได้อีกด้วยนะคะ

 

5. หากเจ้าตัวเล็กยังกัดไม่เลือก

 

แนะนำให้ปรับเปลี่ยนลักษณะอาหารให้เหมาะสม ให้อาหารที่มีความแข็งปานกลาง เพื่อให้ลูกน้อยฝึกขบกัด ลดการคันเหงือก และเบี่ยงเบนความสนใจโดยใช้ของเล่นที่กัดได้ในหลากหลายรูปแบบ สอนให้เขารู้ว่าสิ่งใดไม่สมควร สิ่งใดกัดได้ หรือกัดไม่ได้

 

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนคงคิดว่าการช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 8 เดือน ไม่ยากเลยใช่ไหม หากเรารู้วิธีที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับลูกของเรา เพียงเท่านี้ลูกน้อยก็จะมีพัฒนาการที่เติบโตสมวัย แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมว่า การเติบโตในทุกๆ ด้านของลูกน้อย ต้องเสริมด้วยโภชนาการที่มีประโยชน์และเหมาะสมกับช่วงวัยด้วยนะคะ

 

อ้างอิง
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กเเรกเกิด - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง, 26 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก https://www.thaichilddevelopment.com/images/doc/Ebook1.pdf
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, รู้เท่าทันน้ำหนัก-ส่วนสูง แนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จากโครงการพัฒนาเเหล่งน้ำ : ด้านโภชนาการ, 26 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/files/AW-WeightHeight.PDF
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, กราฟแสดงเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตเด็ก 0-5 ปี, 26 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/kidgraph