MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: การให้นมลูกครั้งแรก คุณแม่ต้องเตรียมตัวยังไง

Add this post to favorites

การให้นมลูกครั้งแรก คุณแม่ต้องเตรียมตัวยังไง

นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก คุณแม่มือใหม่อาจกำลังกังวลกับวิธีการให้นมลูกครั้งแรก มาดูวิธีเตรียมตัวการให้นมลูก พร้อมวิธีเลือกทานอาหารสำหรับคุณแม่ให้นม

2นาที อ่าน

เขียนและตรวจทานความถูกต้องโดย อ.ปิยวรรณ วงศ์วสุ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาด้านอาหารและโภชนาการ

สำหรับคุณแม่ที่กำลังมีน้องหรือใกล้ถึงกำหนดคลอดเข้ามา คงจะเริ่มสนใจและตื่นเต้นกับการให้นมลูกครั้งแรกที่กำลังจะมาถึงกันแล้วใช่ไหม แต่ไม่ต้องกังวลไปก่อนนะคะ เพราะการให้นมลูกครั้งแรกของคุณแม่มักจะเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลตั้งแต่หลังการคลอดน้องใหม่ๆ จึงสบายใจได้ว่าจะมีคุณพยาบาลอยู่ข้างๆ คอยช่วยเหลือคุณแม่อย่างแน่นอน แต่วันนี้เราก็มีข้อมูลดีๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับการให้นมลูกครั้งแรกมาให้คุณแม่ได้ลองอ่านและศึกษาดูก่อนค่ะ

 

การให้นมลูกครั้งแรกควรเกิดขึ้นเมื่อไหร่

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) และ UNICEF แนะนำว่าการให้นมลูกครั้งแรกควรเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอดค่ะ2 โดยคุณหมออาจให้คุณแม่อุ้มน้องทันทีหลังคลอดเพื่อให้นมตั้งแต่อยู่ในห้องคลอด หรือภายในครึ่งช่วงโมงแรกตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์จริงการให้นมลูกครั้งแรกอาจไม่ได้เกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมงแรก หรือ ภายในห้องคลอดได้ทั้งหมด เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้คุณแม่ไม่สามารถให้นมได้ทันที เช่น ขั้นตอนการทำความสะอาดทารก การนำน้องเข้าตู้อบ หรือการผ่าคลอด ที่ทำให้ลูกต้องแยกกับคุณแม่ ดังนั้นคุณแม่ที่มีความประสงค์จะให้นมลูกตั้งแต่อยู่ในห้องคลอดจึงควรแจ้งคุณหมอเพื่อวางแผนล่วงหน้าหรือปรึกษาถึงวิธีที่ทำให้สามารถให้นมได้เร็วที่สุดค่ะ

 

ทำไมการให้นมลูกครั้งแรกได้เร็วถึงดี

 

การทำให้ทารกดูดนมแม่เร็วที่สุดหลังคลอดเป็นการช่วยส่งเสริมความผูกพันระหว่างแม่ลูกอย่างรวดเร็วหรือที่เรียกว่า early bonding ซึ่งในทางการแพทย์พบว่ามีประโยชน์หลายประการทั้งต่อตัวคุณแม่เองและลูกน้อยค่ะ เพราะคุณแม่จะเกิดการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูหลังคลอดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น ปรับมดลูกให้กลับเข้าที่ ปรับอารมณ์ให้สงบ ป้องกันการเสียเลือดหลังคลอด ส่วนทารกก็จะได้รับสารอาหารจากนมแม่ได้เร็ว โดยเฉพาะส่วนหัวน้ำนมสีเหลืองซึ่งดีต่อระบบภูมิคุ้มกันของลูก

นมแม่นั้นจัดเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เพราะมีสารอาหารกว่า 200 ชนิด ซึ่งครบถ้วนและเพียงพอ ทั้งสารอาหารหลักอย่างคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ รวมไปถึงสารอื่นๆ ที่ช่วยในด้านการเจริญเติบโตและระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โกรทแฟคเตอร์ ที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต รวมทั้งจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เช่น โพรไบโอติกส์ LPR ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
 

ข้อควรรู้เบื้องต้นก่อนเริ่มให้นมลูกครั้งแรก

 

4 ข้อควรรู้เบื้องต้นก่อนเริ่มให้นมลูกครั้งแรกต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

 

1. การทำความสะอาดและดูแลเต้านม

 

ก่อนการให้นมลูกทุกครั้ง คุณแม่จะต้องทำความสะอาดบริเวณหัวนมและรอบๆ บริเวณเต้านมก่อนนะคะ โดยใช้ผ้าชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วหรือน้ำดื่มจากขวดปิดสนิท เช็ดตั้งแต่บริเวณหัวนมไปจนถึงลานนม และทั่วทั้งเต้านมด้านหน้าและด้านข้าง โดยเช็ดเป็นวงจากหัวนมวนออกไปให้ทั่วทั้งเต้านม และเมื่อสิ้นสุดการให้นมแต่ละครั้ง ก็ให้คุณแม่ทำความสะอาดบริเวณเต้านมอีกครั้งด้วยขั้นตอนเดิมค่ะ

สำหรับการดูแลอื่นๆ ในช่วงระยะที่ให้นมลูกนั้น คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการทาโลชั่นหรือครีมบำรุงบริเวณหัวนม เพราะอาจเกิดอันตรายต่อลูกน้อยและทำให้ท่อน้ำนมอุดตันได้ นอกจากนั้นระหว่างอาบน้ำควรหลีกเลี่ยงการฟอกสบู่บริเวณหัวนมด้วย เพราะจะเป็นการชะล้างสารหล่อลื่นที่ร่างกายสร้างขึ้นออกไป ทำให้หัวนมแห้งและระคายเคืองได้ค่ะ ใช้น้ำสะอาดล้างแล้วซับด้วยผ้าสะอาดให้แห้งก็เพียงพอแล้วคะ

 

2. วิธีอุ้ม เอาลูกเข้าเต้า และการอุ้มเรอ

 

วิธีการอุ้มลูกเพื่อให้นมนั้นมีได้หลายวิธี สำหรับท่าอุ้มมาตรฐานที่คุณแม่ควรศึกษาไว้ ได้แก่ ท่าอุ้มนอนขวางบนตัก ท่านอนขวางบนตักแบบประยุกต์ ท่าอุ้มด้านข้าง และท่านอน โดยการให้นมครั้งแรกหลังคลอด คุณพยาบาลอาจเป็นผู้แนะนำท่าให้คุณแม่ตามความเหมาะสม เนื่องจากคุณแม่อาจจะยังเจ็บแผล มีแผลผ่าตัด หรืออ่อนเพลียจากการคลอดอยู่

นอกจากการอุ้มแล้วคุณแม่ยังต้องรู้จักคำว่า “การเอาลูกเข้าเต้า” และ “การอุ้มเรอ” ด้วยค่ะ การเอาลูกเข้าเต้า หมายถึง การทำให้ลูกเข้ามาอมที่หัวนมของเราเพื่อให้เค้าดูดนมได้ ส่วนการอุ้มเรอ หมายถึง การทำให้ลูกเรอหลังดูดนมเสร็จ เนื่องจากระหว่างที่ทารกดูดนมจะมีการกลืนลมเข้าไปด้วย ถ้าปล่อยไว้อาจเกิดอาการอึดอัดแน่นท้องได้ จึงต้องมีการทำให้เรอหลังดูดนมเสร็จทุกครั้งค่ะ

วิธีการอุ้มให้นม เอาลูกเข้าเต้า และวิธีจับลูกเรอ นั้น คุณแม่สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากคลิปวีดิโอ หนังสือคู่มือ หรือบทความของเราเรื่อง แม่ต้องรู้! ข้อปฏิบัติ วิธีให้นมลูกอย่างถูกวิธี และควรให้คุณพยาบาลฝึกสอนและฝึกซ้อมเพื่อให้สามารถทำได้อย่างถูกต้องค่ะ

 

3. การปั๊มนม และวิธีเก็บรักษานมแม่

 

การมีความรู้เรื่องการปั๊มนมและเก็บนมอย่างถูกต้องเป็นอีกหนึ่งสิ่งจำเป็นสำหรับคุณแม่มือใหม่ การปั๊มนมสามารถทำได้ตั้งแต่หลังคลอด โดยไม่จำเป็นต้องรอให้คุณแม่กลับไปทำงานก่อนค่ะ เพราะการปั๊มนมนั้นจะช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมให้คุณแม่มีน้ำนมมากขึ้น ป้องกันปัญหาเต้านมคัดและภาวะท่อน้ำนมอุดตัน อีกทั้งยังเป็นการเก็บสำรองนมไว้ให้เจ้าตัวน้อยในกรณีที่คุณแม่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถให้นมได้

การปั๊มนมสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่ การปั๊มด้วยมือและการปั๊มด้วยเครื่อง โดยคุณแม่อาจต้องเตรียมอุปกรณ์อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ถุงเก็บน้ำนม ขวดเก็บน้ำนม ผ้าคลุมปั๊มนม กล่องหรือกระติกเก็บความเย็น น้ำนมที่ปั๊มออกมานั้นจะมีอายุอยู่ได้ต่างกันตามวิธีการเก็บรักษา เช่น หากเก็บในกระติกที่มีน้ำแข็งตลอดเวลาจะอยู่ได้ 1 วัน หากเก็บในตู้เย็นอาจอยู่ได้ตั้งแต่ 1 วัน จนถึง 3 เดือน ขึ้นอยู่กับประเภทตู้เย็นและช่องที่ใช้แช่

คุณแม่สามารถศึกษาวิธีการปั๊มนมและเก็บรักษาน้ำนม รวมไปถึงนวดกระตุ้นการไหลของน้ำนมเบื้องต้นได้จากสื่อต่างๆ แต่ควรให้คุณพยาบาลเป็นผู้สอนและฝึกซ้อมอีกครั้ง เพื่อป้องกันการปั๊มนมและนวดเต้านมที่ผิดวิธีจนอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

 

4. อาหารที่เหมาะสำหรับคุณแม่ให้นม

 

การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับการให้นมเป็นการบ้านสำคัญข้อสุดท้ายที่เราอยากฝากไว้ค่ะ โดยหลักการรับประทานอาหารเบื้องต้นสำหรับคุณแม่ให้นม ได้แก่ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสมและหลากหลาย ดื่มน้ำมากๆ เน้นอาหารที่เป็นแหล่งของแคลเซียม ธาตุเหล็ก และโอเมก้า-3 เช่น ดื่มนม 2-3 แก้วต่อวัน บริโภคไข่และเครื่องในสัตว์ที่เป็นแหล่งของธาตุเหล็ก และทานปลา 3 ครั้งต่อสัปดาห์ค่ะ สำหรับอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงให้นม ได้แก่ อาหารที่มีรสจัด อาหารที่ให้พลังงานสูง อาหารกึ่งสุกดิบ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่ะ อย่าห่วงแต่ลูกจนลืมรักษาสุขภาพของตนเองไปนะคะ คุณแม่ต้องดูแลตัวเองให้มากๆ เพื่อให้สามารถผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพแก่ลูกน้อยได้และคงการมีสุขภาพที่ดีเอาไว้จะได้อยู่ดูแลเจ้าตัวน้อยของเราไปนานๆ ยังไงล่ะคะ

อ้างอิง
1. University of Pennsylvania. (n.d.). Breastfeeding Care Instructions. Retrieved from https://www.pennmedicine.org/for-patients-and-visitors/find-a-program-or-service/obstetrics/breastfeeding-services/care-guides/breastfeeding-basics
2. World Health Organization. (2021). infant and young child feeding. Retrieved from https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/infant-and-young-child-feeding
3. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.(2562). ตั้งครรภ์คุณภาพและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. สืบค้นจาก https://multimedia.anamai.moph.go.th/ebooks/hp-ebook_06_mini/
4. ผกากรอง วนไพศาล.(2559). น้ำนมแม่ ประโยชน์อเนกอนันต์. สืบค้นจาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article
5. ยิ่งขวัญ อยู่รัตน์ และ ปิยภรณ์ ปัญญาวชิร.(2557). การทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความผูกพันระหว่างมารดา-ทารกโดยเร็ว และการให้นมแม่ครั้งแรกในห้องคลอด โรงพยาบาลรามาธิบดี. Rama Nurs J, 20 (3), 304 – 313
6. วนะพร ทองโฉม. (ม.ป.ป.).โภชนาการอาหารสำหรับแม่ให้นมลูก. สืบค้นจาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/infographic
7. วนิชา ปัญญาคำเลิศ.(ม.ป.ป.). 8 วิธีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ. สืบค้นจาก https://www.bangkokhospital.com/content/8-ways-to-successfully-breastfeed
8. วสันต์ นันทสันติ.(2563). ให้นมแม่อย่างปลอดภัย สบายใจยิ่งขึ้น ด้วยหลัก “1 2 3”. สืบค้นจาก https://www.phyathai.com/article_detail/3201/
9. หทัยทิพย์ ชัยประภา.(2562). ปัญหาและวิธีแก้ กับเรื่อง “นมแม่” ที่ต้องอ่าน. สืบค้นจาก 
10. น้ำนมแม่ในตู้เย็น ในกระติกน้ำแข็ง เก็บได้นานเท่าไหร่, เข้าถึงได้จาก https://thaibf.com/น้ำนมแม่ในตู้เย็น-ในกระ
11. วิธีการเก็บรักษานมแม่, เข้าถึงได้จาก