MyFeed Personalized Content
บทความ

PLAYING: วิธีเตรียมความพร้อมให้นมลูก ตั้งแต่ก่อนและหลังคลอด

Add this post to favorites

วิธีเตรียมความพร้อมให้นมลูก ตั้งแต่ก่อนและหลังคลอด

น้ำนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก เเละการวางแผนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล่วงหน้าก่อนคลอด ยังเป็นการเตรียมความพร้อมทางจิตใจของคุณเเม่ด้วย

1นาที อ่าน

เทคนิคเพื่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ก่อนคลอด

● หาแรงสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มากที่สุด เช่น จากคุณพ่อ เพื่อน คุณยาย ญาติๆ หรือใครก็ตามที่สามารถให้กำลังใจคุณในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
● ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการให้นม แจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบถึงความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสอบถามข้อมูลการบริการอื่นๆ ทั้งช่วงก่อนและหลังคลอดที่สามารถช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

● ดูแลเต้านมตั้งแต่ก่อนคลอด ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเต้านมในช่วงตั้งครรภ์ แจ้งประวัติการศัลยกรรมหน้าอก (ถ้ามี) หรือภาวะความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น ไทรอยด์ อินซูลิน (โรคเบาหวาน) และข้อสงสัยอื่นๆ ที่คุณคิดว่าอาจเกี่ยวข้องกับการให้นมลูก การพูดคุยกับแพทย์จะช่วยให้คุณมีความพร้อมและสามารถจัดการสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อถึงเวลาที่จะต้องให้นมจริงๆ
● ขอรับเอกสารคำแนะนำการเลี้ยงทารกแรกเกิดด้วยนมแม่จากโรงพยาบาล นัดหมายเพิ่มเติมหากมีผู้เชี่ยวชาญด้านการให้นมบุตรที่สามารถให้คำแนะนำคุณได้ก่อนออกจากโรงพยาบาล
● เตรียมเครื่องปั๊มนม เครื่องปั๊มนมจะช่วยเพิ่มทางเลือกของการให้นมแม่โดยช่วยให้ลูกน้อยได้ดื่มนมแม่ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมจากเต้าได้โดยตรง เช่น เมื่อคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน การเลือกประเภทของเครื่องปั๊มนมขึ้นอยู่กับว่าคุณแม่มีความจำเป็นต้องใช้มากน้อยเพียงใด เครื่องปั๊มนมที่มีราคาไม่แพง เช่น เครื่องปั๊มนมโดยใช้การบีบด้วยมือ เหมาะสำหรับการใช้ที่ไม่บ่อย ส่วนเครื่องปั๊มนมไฟฟ้าก็จะมีราคาแพงกว่า หรือจะเป็นเครื่องปั๊มนมไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงสำหรับใช้ในโรงพยาบาลก็เหมาะสำหรับการใช้ที่บ่อยขึ้น ซึ่งก็จะมีราคาแพงมากขึ้นเช่นกัน สิ่งสำคัญคือ คุณแม่ต้องเรียนรู้วิธีการทำความสะอาดเครื่องปั๊มนมให้สะอาดทั้งก่อนการใช้ครั้งแรก และหลังการใช้ทุกครั้งเพื่อลดอันตรายจากเชื้อโรคที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อย
● มีส่วนร่วมหรือหมั่นติดต่อกับหน่วยงาน หรือกลุ่มสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เข้าอบรมคอร์สเตรียมความพร้อมการให้นมแม่ตั้งแต่ก่อนคลอด เพื่อช่วยให้คุณแม่ทราบถึงสิ่งที่จะพบเจอในการลี้ยงลูกด้วยนมแม่และมีแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวกับการให้นม
● เตรียมรายการของใช้สำหรับวันไปคลอด เช่น ชุดนอน รองเท้าแตะ รวมทั้งสิ่งของต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการให้นม
 

การเตรียมตัวเมื่อคุณเข้าพักที่โรงพยาบาล

● แจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบถึงความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บอกพยาบาลหรือผู้ช่วยทำคลอดให้ช่วยแจ้งห้องทารกแรกเกิดว่าคุณจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
● แสดงป้ายสำหรับเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แจ้งห้องเด็กอ่อนว่าคุณต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเขียนระบุบนป้ายประจำตัวทารกว่า ไม่ขอรับนมขวดเสริมใดๆ ในการเลี้ยงทารก หากไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และหากลูกน้อยต้องอยู่แยกห้องกับคุณแม่ พยาบาลควรนำลูกน้อยมาให้คุณแม่เมื่อเขาส่งสัญญาณความหิวทันที
● แจ้งพยาบาลว่าคุณต้องการให้ลูกน้อยเข้าเต้าเท่านั้น ไม่ขอรับการใช้อุปกรณ์เสริมใดๆ ในการป้อนนม หากไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์
● แจ้งขอพบที่ปรึกษาทางด้านการให้นม ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยจัดตำแหน่ง ท่าทางการอุ้ม และตอบข้อสงสัยต่างๆ ที่คุณอยากทราบก่อนออกจากโรงพยาบาล

หลังการคลอด

● ให้ทารกดูดนมแม่ให้เร็วที่สุด องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่ามารดาควรให้ทารกดูดนมแม่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังการคลอด ลูกน้อยจะได้รับประโยชน์ทันทีจากโปรตีนที่ย่อยง่าย วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ และสารแอนติบอดี้จากโคลอสตรัมหรือน้ำนมเหลืองที่มีสีเหลืองใส ซึ่งเต้านมของคุณจะผลิตขึ้นเฉพาะในช่วงวันแรกๆ จนกว่าจะเปลี่ยนไปเป็นน้ำนมแม่ปกติในอีก 2-3 วันข้างหน้า
● การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อ แจ้งทีมทำคลอดว่าคุณต้องการให้วางลูกน้อยลงบนหน้าอกของคุณทันทีหลังคลอด และจนกว่าการดูดนมครั้งแรกของลูกน้อยจะเสร็จสมบูรณ์ วิธีนี้ควรทำบ่อยๆ ในช่วงเดือนแรกๆ เพื่อช่วยให้ลูกน้อยดูดนมอย่างสงบ และช่วยให้คุณผลิตน้ำนมได้อย่างเพียงพอ
● ให้นมทุกครั้งเมื่อลูกหิว ซึ่งไม่ควรน้อยกว่า 8-12 ครั้งภายในช่วง 24 ชั่วโมง
● ให้ลูกดูดเต้าทั้ง 2 ข้าง การดูดเต้าทั้ง 2 ข้างจะช่วยให้เต้านมผลิตน้ำนมอย่างสมดุล ให้ลูกน้อยดูดเต้าข้างแรกจนหมดก่อนจะเปลี่ยนข้าง ถ้าลูกไม่ดูดต่อ ก็ค่อยให้เริ่มดูดข้างที่สองอีกครั้งเมื่อหิวในครั้งต่อไป
● อย่าจำกัดเวลาในการให้นม คุณแม่ไม่ควรจำกัดเวลาในการให้นม แต่ควรให้ลูกดูดจนกว่าเขาจะรู้สึกอิ่ม ทารกบางคนดูดอิ่มเร็ว แต่บางคนก็ใช้เวลานานในการดูดแต่ละครั้ง
● สังเกตสัญญาณความหิวจากลูก คุณแม่ไม่ควรรอให้นมเฉพาะเมื่อลูกร้อง ควรหมั่นสังเกตสัญญาณจากลูกเช่น มีการขยับตัวมากขึ้น มีการขยับปาก ขยับใบหน้าเพื่อหาเต้านมเมื่อคุณแม่ลองแตะที่แก้ม หรือการทำปากในลักษณะดูด
● ถึงแม้คุณแม่จะคลอดด้วยการผ่าตัด การให้ลูกเข้าเต้าโดยเร็วที่สุดก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น คุณอาจเตรียมหมอนรองให้นมเพื่อช่วยลดแรงกดทับบริเวณแผล การใช้หมอนรองให้นมจะมีลักษณะเหมือนนักกีฬาที่กำลังอุ้มลูกรักบี้
 

ก่อนออกจากโรงพยาบาล

● ถามผู้รู้ ให้ผู้ให้คำปรึกษาด้านการให้นมแม่สังเกตวิธีการให้นมของคุณเพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้อง
● เรียนรู้การปั๊มนมด้วยมือ การปั๊มนมด้วยมืออาจเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยให้เต้านมของคุณนิ่มลงได้ ในกรณีที่คุณมีอาการคัดเต้านมจากปริมาณนมที่มากเกินไป เมื่อเต้านมของคุณผลิตน้ำนมอย่างสมบูรณ์ในอีก 2-3 วันข้างหน้า เต้านมที่นิ่มลงจะช่วยให้ลูกดูดนมได้ง่ายขึ้น
● ขอรายชื่อและเบอร์ติดต่อของผู้ให้คำปรึกษาด้านการให้นมแม่จากโรงพยาบาล เพื่อให้คุณแม่สามารถโทรมาขอคำแนะนำหรือคำตอบได้ เมื่อคุณแม่และลูกน้อยอยู่ที่บ้าน
 

ที่บ้าน

● โทรถามข้อสงสัย หากมีข้อสงสัยหรือมีความกังวลเกี่ยวกับการให้นมลูก คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ ผู้ให้คำปรึกษาด้านการให้นมแม่ ที่ปรึกษากลุ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
● หากคุณรู้สึกเจ็บหน้าอก หรือมีปัญหาในการให้นมลูก ควรรีบหาที่ปรึกษาทันที


สิ่งที่ต้องแจ้งกับโรงพยาบาลเพื่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

1. แจ้งเจ้าหน้าที่ถึงความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
2. ให้เจ้าหน้าที่ระบุข้อความ “เลี้ยงลูกด้วยนมแม่” บนป้ายประจำตัวผู้ป่วยของทั้งคุณแม่และลูกน้อย
3. แจ้งความประสงค์ให้ลูกน้อยพักห้องเดียวกับคุณแม่ ถ้าไม่สามารถเป็นไปได้ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ให้ช่วยพาลูกน้อยมาหาคุณทันทีเมื่อลูกส่งสัญญาณความหิว
4. แจ้งเจ้าหน้าที่ให้ช่วยวางลูกน้อยบนหน้าอกคุณแม่ทันทีหลังคลอด
5. แจ้งความประสงค์ไม่อนุญาตให้ใช้จุกนมหรือนมผสมกับลูกน้อย หากไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์
6. แจ้งขอพบผู้ให้คำปรึกษาด้านการให้นมแม่เพื่อเข้าสังเกตวิธีให้นมของคุณแม่
 

ประโยชน์ของนมแม่ สุดยอดอาหารสำหรับทารก ที่แม่ควรรู้ 

นมแม่เป็นโภชนาการที่ดีที่สุดสำหรับทารก ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารกว่า 200 ชนิด รวมทั้ง โอเมก้า ดีเอชเอ และโพรไบโอติก LPR ซึ่งเป็นจุลินทรีย์มีประโยชน์ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และระบบทางเดินอาหารให้แข็งแรง คุณแม่จึงควรให้นมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนหรือนานที่สุดเท่าที่จะให้ได้  

 


อ้างอิง
- 8 วิธีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ, เข้าถึงได้จาก https://www.bangkokhospital.com/content/8-ways-to-successfully-breastfeed
- Lara-Villoslada F, et al. Br J Nutr. 2007 Oct;98 Suppl 1:S96-100'