MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: เคล็ดลับเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและสมอง

Add this post to favorites

เคล็ดลับเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและสมอง

พัฒนาการของลูกเป็นสิ่งสำคัญ คุณแม่ควรส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกายและสมองของลูกตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อปูพื้นฐานให้มีร่างกายที่แข็งแรง และมีพัฒนาการสมวัย

3นาที อ่าน

คุณแม่รู้ไหมคะพัฒนาการของลูกน้อยเริ่มต้นตั้งแต่วันแรกที่เป็นทารก เมื่อร่างกายของลูกเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ การปูพื้นฐานให้ลูกน้อยมีร่างกายที่แข็งแรงโดยเฉพาะในช่วงอายุ 1 - 3 ขวบ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะ วัย 3 ขวบปีแรกถือเป็นจังหวะทองของพัฒนาการ คุณแม่จึงควรเสริมสร้างให้ลูกทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาการทางด้านร่างกาย สมอง และอารมณ์ ได้แก่

เคล็ดลับเสริมสร้างพัฒนาการ

เคล็ดลับเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย สมองและอารมณ์ให้ลูกน้อย

1.ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย

คุณแม่ควรส่งเสริมและติดตามพัฒนาการของลูกแต่ละช่วงวัย ควรฝึกให้ลูกได้เคลื่อนไหว และออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะในช่วง 3 ขวบปีแรก ลูกต้องการเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหว การทรงตัว การทำงานประสานกันของมือ ตา และเท้า ดังนั้นกิจกรรมสำหรับเด็กในช่วง 3 ขวบปีแรกจะออกมาในรูปแบบของการเล่นอย่างอิสระ ประมาณ 30 - 60 นาที ซึ่งจะช่วยเสริมสร้าง “ก้าวแรก” ของพัฒนาการด้านร่างกายให้ลูกเป็นอย่างดี โดยคุณแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการของลูกด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

อายุ 1 – 1½ ขวบ

พัฒนาการตามวัย

• ยืนด้วยตัวเองได้ชั่วครู่, จูงมือเดิน
• วางของซ้อนกันได้ 2 ชิ้น, ใส่วงกลมในช่อง, ปักหมุดลงในช่อง
• เรียกพ่อแม่เป็นคำสั้น ๆ ได้ หรือคำที่มีพยางค์เดียว
• ใช้ช้อนตักอาหารเองได้ แต่ยังหกอยู่บ้าง

กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการ

• ฝึกให้ลูกยืนด้วยตัวเอง
- ช่วงนี้เป็นช่วงที่ลูกจะเริ่มยืน และก้าวเดินได้ด้วยตัวเองบ้าง คุณแม่ลองยืนห่างจากเขา แล้วพูดว่า “มานี่สิจ๊ะ” เพื่อให้เขาฝึกเดินมาหาด้วยความพยายามของตัวเอง
• ฝึกให้ลูกเล่นของเล่นลากดึง เช่น หมุดไม้ ห่วงไม้ ตัวต่อที่แกะออกได้ ของเล่นล้อลาก
• ฝึกให้ลูกหยิบตักอาหารเอง 
- ในช่วงนี้สิ่งที่คุณแม่ควรทำ คือ ฝึกให้ลูกจับช้อน ช่วยจับมือลูกตักอาหารเข้าปาก เพื่อฝึกให้ลูกรับผิดชอบตัวเองได้ ปล่อยให้ลูกนั่งเก้าอี้ วางช้อนส้อมไว้ให้เขา แล้วให้เขาลองหยิบจับด้วยตัวเอง จะทำหกเลอะพื้นบ้าง ก็คอยบอกเขา และทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
- เลือกถ้วยชามที่มีสีสันสดใส ลวดลายน่ารัก จะช่วยจูงใจลูกให้อยากทานอาหารมากขึ้น และเลือกช้อน ส้อม มีด ที่ลูกจับถนัดมือ ทนทานต่อการกระแทก และควรทำจากพลาสติกที่มีลักษณะโค้งมน ปราศจากอันตราย เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ข้อมือ นิ้ว และสายตาด้วย 

เลือกถ้วยชามที่มีสีสันสดใส

อายุ 1½ - 2 ขวบ

พัฒนาการตามวัย

• เดินได้คล่อง, เริ่มวิ่งได้, เดินจูงมือขึ้นบันได, เดินถอยหลัง
• วางของเล่นไม้ซ้อนกันได้ 4 - 6 ชิ้น, แยกสี 2 สี, ชี้ตามรูปที่บอกได้
• ขีดเขียนเล่น, ขีดเส้นเป็นเส้นแนวนอน
• รู้จักคำต่าง ๆ มากขึ้น พูด 2 คำ ต่อกันอย่างมีความหมายหรือพูดคำที่มีความหมายอย่างน้อย 50 - 100 คำ
• เลียนแบบการทำงานบ้าน
• ใช้ช้อนตักอาหารเองได้

กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการ

• พาลูกออกไปเล่นสนามหญ้า หรือสนามเด็กเล่น
- ในช่วงนี้เด็กจะสนุกกับอะไรใหม่ ๆ ชอบปีนป่าย ขั้นบันได มุดใต้โต๊ะ ชอบเคลื่อนไหว คุณแม่ลองให้ลูกเล่นสไลเดอร์ และของเล่นสนามเด็กเล่นต่าง ๆ ช่วยฝึกการเคลื่อนไหวให้คล่องแคล่ว ฝึกกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ

เล่นเสริมสร้างพัฒนาการ

• ชวนลูกออกกำลังกาย เช่น วิ่งเหยาะ ๆ
• ฝึกให้ลูกเล่นของเล่นที่ซับซ้อนกว่าเดิม เช่น สร้างหอคอยบล็อกไม้ 4 ชิ้น หรือจับรูปทรงใส่ห่วง
• พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งรอบตัว ให้ดูภาพ เล่าเรื่อง หรือเล่านิทานสั้น ๆ
• ฝึกให้ลูกรู้สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ
- คุณแม่ควรพูดกับเขาด้วยความใจเย็น สอนให้เขาเข้าใจและรู้จักเหตุผล รู้จักอดทน อดกลั้น เช่น สอนให้เขาทำตามคำสั่งง่าย ๆ เริ่มจากการเก็บของเล่นให้เข้าที่หลังเล่นเสร็จ

อายุ 3 ขวบ

พัฒนาการตามวัย

• เตะบอล, ขว้างบอล, ขี่จักรยาน, กระโดดอยู่กับที่, เดินขึ้นลงบันได
• เปิดหนังสือทีละแผ่น, ต่อก้อนไม้ได้ 8 ชั้น, เขียนกากบาท
• พูดเป็นประโยคได้ พูดชื่อตัวเอง ร้องเพลงง่าย ๆ ได้
• บอกความต้องการของตนเองได้, รู้จักให้และรอ
• ถอดเสื้อผ้าและใส่เองได้
• เริ่มเล่นเข้ากลุ่ม แยกจากแม่ได้

กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการ

• ฝึกให้ลูกเล่นสนามเด็กเล่นร่วมกับเพื่อน หรือออกกำลังกาย เช่น ปีนป่าย ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ ขว้างบอลได้ไกลขึ้น ยืนขาเดียวได้
- ในช่วงนี้เริ่มเล่นกับเพื่อน และสนใจเด็กคนอื่นมากขึ้น โต้ตอบกันอย่างง่าย ๆ เช่น ยื่นของให้กันแล้วพูดคำว่า ‘ให้’ หรือ ‘ขอบคุณ’ เป็นต้น ซึ่งในวัยนี้เด็กจะแย่งของเล่นกันอยู่ ผู้ใหญ่ควรคอยดูแลด้วย
• ฝึกให้ลูกขีดเขียน ระบายสี เล่นบทบาทสมมติ
- เริ่มขีดเขียน ใช้สีเทียนวาดวงกลมได้ ซึ่งการที่เด็กทำได้ แสดงให้เห็นว่าเขาใช้ปลายนิ้วได้คล่องแล้ว

เริ่มขีดเขียน

• พูดคุยและเล่านิทาน ร้องเพลงกับลูก
• ฝึกให้ลูกทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง เช่น แต่งตัวเอง กินข้าวเอง

กิจกรรมเพิ่มความแข็งแกร่งที่เหมาะสำหรับเด็กวัย 1-3 ขวบ

1.ว่ายน้ำ : คุณแม่ไม่ต้องกังวลหรือกลัวลูกจะเป็นอันตราย เพราะกิจกรรมนี้สามารถเริ่มฝึกให้ลูกคุ้นชินกับน้ำได้ตั้งแต่ยังเป็นทารก เนื่องจากพวกเขามีความคุ้นเคยการอยู่ในน้ำคล่ำตั้งแต่อยู่ในท้อง ดังนั้นเมื่อลงน้ำหรือจะจมน้ำจะมีสัญชาตญาณในการกลั้นหายใจได้อัตโนมัติ ประโยชน์ของการว่ายน้ำ จะช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายทำงาน และเคลื่อนไหวอย่างอิสระ และกระตุ้นการทำงานของประสาทสัมผัสได้อย่างดี

2.ปั่นจักรยาน : กิจกรรมปั่นจักรยาน ช่วยให้ลูกมีทักษะการทรงตัว การบังคับทิศทางและการเคลื่อนไหวที่ดี ทั้งยังได้เผาผลาญพลังงานในร่างกาย ช่วยฝึกสมาธิ และได้สนุกไปกับเพื่อน ๆ หรือครอบครัวด้วย

ส่งเสริมพัฒนาการลูกด้านร่างกาย"

3.วิ่งเล่น : การวิ่งเล่นอย่างอิสระเป็นกิจกรรมง่าย ๆ ที่สามารถเล่นได้กับเพื่อน ๆ หรือครอบครัว ช่วยให้ร่างกายทุกส่วนของลูกได้เคลื่อนไหว ช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้อย่างดี
4.ปีนป่าย : คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกออกไปเล่นสนามเด็กเล่น เพื่อให้เขาปีนป่าย ให้กล้ามเนื้อทุกส่วนได้ทำงานอย่างเต็มที่ และได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนในวัยเดียวกันด้วย

ข้อดีของการออกกำลังกาย
✔ ช่วยลดความเครียด
✔ ช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับตัวเอง
✔ ช่วยรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
✔ ช่วยสร้างและรักษาความแข็งแรงของกระดูก กล้ามเนื้อ และข้อต่อต่าง ๆ
✔ ช่วยให้นอนหลับสบายขึ้นในเวลากลางคืน
✔ ช่วยให้ลูกรู้สึกกระปรี้กระเปร่า และช่วยให้เขารู้จักโลกภายนอกมากขึ้น

2.ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมอง

ใน 3 ขวบปีแรก คือช่วงเวลาที่สมองจะมีการพัฒนามากถึง 80%! คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมประสบการณ์ และเสริมทักษะให้ลูก โดยเฉพาะ “การส่งเสริมให้ลูกเล่นนอกบ้าน” ซึ่งจะช่วยเสริมพัฒนาการทางสมองได้มากมาย เพราะเด็กช่วงวัยนี้มีความอยากรู้อยากเห็นและอยากรู้จักโลก จากเดิมที่เคยชินแต่การอยู่ในบ้าน เป็นที่ที่ให้ความรู้สึกปลอดภัย เด็ก ๆ ก็เริ่มอยากออกไปวิ่งเล่นในสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น และสถานที่อื่น ๆ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลูกจะได้เรียนรู้ และสำรวจสิ่งใหม่ เพิ่มทักษะต่าง ๆ ได้ เช่น

ส่งเสริมพัฒนาการลูกด้านสมอง"


- เพิ่มทักษะการคิดวิเคราะห์
การเล่นช่วยให้ลูกได้ขยับร่างกาย และทุกครั้งที่มีการขยับ เท่ากับสมองได้สั่งการให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทำงานสัมพันธ์กัน ซึ่งสามารถกระตุ้นผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เพื่อสร้างประสบการณ์ เกิดการจดจำ การคิดวิเคราะห์ และช่วยเชื่อมโยงเครือข่ายใยประสาทในสมองให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- เพิ่มทักษะความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ
เมื่อลูกได้เล่นนอกบ้าน เขาจะได้เรียนรู้จากสิ่งรอบตัว ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ได้สร้างโลกใบใหม่ร่วมกับเพื่อนคนอื่น ๆ ไม่มีกรอบจำกัดทางจินตนาการมาปิดกั้น ทำให้พวกเขาได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา รวมทั้งได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านประสบการณ์รอบตัว โดยเฉพาะจากห้องเรียนธรรมชาตินอกบ้าน เช่น ได้สัมผัสพื้นดิน ได้ฟังเสียงสัตว์ร้อง ได้กลิ่นหอมของดอกไม้ เป็นต้น
- เพิ่มทักษะการเข้าสังคม
การให้ลูกเล่นนอกบ้าน เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ให้ลูกได้ทำความรู้จักกับเพื่อนคนอื่น ได้ฝึกทั้งการเป็นผู้รับและผู้ให้ รู้จักฝึกความอดทน ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เรียนรู้และเข้าใจความแตกต่าง การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และที่สำคัญได้ฝึกทักษะการใช้ภาษาและการสื่อสารด้วย

3.ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์

ส่งเสริมพัฒนาการลูกด้านอารมณ์

ในช่วง 1 - 3 ขวบ พัฒนาการทางด้านอารมณ์ของลูกเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะในช่วงวัยนี้ ลูกจะเริ่มมีลักษณะอารมณ์คล้ายกับวัยผู้ใหญ่ คือ โกรธ อิจฉา กลัว ก้าวร้าว รัก พอใจ ฯลฯ ที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน การส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ที่ดี จะทำให้ลูกสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม สังคม และเพื่อน ๆ ได้ดีในอนาคต เพื่อเป็นการเตรียมตัวตั้งรับกับพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของลูก ตามไปดูพัฒนาการที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัยกันเลย

อายุ พัฒนาการด้านอารมณ์
1 – 1½ ขวบ - เข้าใจท่าทาง และสีหน้าของผู้อื่น
- รู้สึกอยากทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง เริ่มช่วยเหลือตนเองได้
- จะรู้สึกโกรธเมื่อถูกขัดใจ เด็กวัยนี้จะยังไม่เข้าใจเหตุผลยาว ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรพูดเหตุผลสั้น ๆ แล้วเบี่ยงความสนใจ ไปหาสิ่งที่น่าสนใจกว่า บอกเขาว่า “อันนี้เล่นไม่ได้ มาเล่นอันนี้ดีกว่านะลูก” เมื่อเขาลืมสิ่งที่อยากได้ตอนแรก ก็จะหยุดอารมณ์โกรธลงได้
- ตัดสินใจทำได้ด้วยตนเอง
- สนใจการกระทำของผู้ใหญ่
1½ – 2 ขวบ - ส่องกระจก และรับรู้ว่าเป็นภาพของตนเอง
- เริ่มมีพฤติกรรมเลียนแบบ เด็กวัยนี้จะสังเกตแม่ตลอด เริ่มสนใจงานในครัวของแม่ ชอบเล่นทำหรือเสิร์ฟอาหาร ช่วงวัยใกล้ 3 ขวบจะใช้มีดเล่นของเล่นหั่นผักที่มีแม่เหล็กติดตรงกลางได้
3 ขวบ

- กลัวตามสิ่งที่ผู้ใหญ่กลัว
- มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองเมื่อได้รับการยอมรับ หรือชมเชย
- อยากแต่งกายด้วยตนเอง ในช่วงนี้ลูกจะใช้นิ้วมือคล่องขึ้นทำให้อยากติดกระดุมเสื้อเอง ซึ่งอาจจะมีบ้างที่ร้องโวยวายเมื่อติดไม่ได้สักที คุณพ่อคุณแม่แค่คอยเฝ้าดูอยู่ใกล้ ๆ 

ส่งเสริมพัฒนาการลูก
- รู้จักการขอในสิ่งที่อยากได้ และเรียนรู้การแบ่งปันด้วยการให้
- เริ่มรู้จักรอคอยสิ่งต่าง ๆ ได้


สิ่งสำคัญที่สุดของพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของลูกคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกในการควบคุมอารมณ์อย่างเหมาะสม หากลูกเริ่มมีพฤติกรรมการแสดงออกทางอารมณ์ในด้านลบ คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจ ค่อย ๆ สอนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ควรมอบความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ และปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยตนเอง หรืออาจจะใช้สื่อเป็นตัวช่วย เช่น นิทาน หรือการ์ตูนที่สอดแทรกแง่มุมดี ๆ ให้ลูกได้เห็นตัวอย่างผลลัพธ์ของการแสดงออกทางอารมณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบ จะช่วยเป็นแนวทางควบคุม ขัดเกลา และแสดงออกอย่างเหมาะสม พร้อมส่งเสริมให้ลูกมีสุขภาพจิตที่ดี มีอารมณ์แจ่มใส ไม่โกรธง่าย และสามารถเข้ากับเพื่อน ๆ ได้ดีในอนาคตอีกด้วย
 

ส่งเสริมพัฒนาการลูกด้านต่าง ๆ
 

ตัวช่วยเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย สมอง และอารมณ์ โดยให้ลูกได้รับโภชนาการที่ดี

อาหารที่เหมาะสมเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตอย่างมีสุขภาพที่ดี ลูกน้อยต้องการสารอาหารสำคัญเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างเต็มที่ คุณแม่จึงควรให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารสำคัญอย่างครบถ้วน เพื่อพัฒนาการทางด้านร่างกาย สมอง และอารมณ์อย่างเต็มศักยภาพ พยายามให้ลูกกินอาหารที่มีประโยชน์อย่างสมดุล รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุสำคัญ ได้แก่
1. ดีเอชเอ เป็นสารอาหารสำคัญของระบบประสาทและสมองของลูกน้อย มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างเซลล์สมอง และจอประสาทตา ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาท ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดสัญญาณ และส่งผ่านข้อมูลระหว่างเซลล์สมองด้วยกัน ซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างดีเอชเอขึ้นเองได้ ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น เช่น ในน้ำนมแม่ ปลาทะเลน้ำลึก สาหร่ายบางชนิด
2. แอลพีอาร์ หรือจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์แอลพีอาร์ จุลินทรีย์สายพันธุ์ที่มีงานวิจัยรองรับมากที่สุด ว่าช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยลดการติดเชื้อในทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร รวมถึงช่วยลดจำนวนวันขาดเรียน จากการติดเชื้อได้ถึง 40%
3. แคลเซียม ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ดี มีส่วนช่วยในการสร้างกระดูกและฟันที่แข็งแรง เด็กในวัย 1-3 ขวบ ควรได้รับแคลเซียม 500 มิลลิกรัม/วัน

เคล็ดลับง่าย ๆ เพื่อเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อยวัยเตาะแตะ คุณพ่อคุณแม่จึงควรเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย สมอง และอารมณ์ ควบคู่ไปพร้อมกับการเสริมด้วยโภชนาการที่ดีเพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะการเลือกนมที่เสริมสารอาหารหลากหลายสำหรับลูกน้อย โดยเฉพาะ DHA สำหรับเด็ก จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์แอลจีจี และ แคลเซียม เพื่อช่วยการทำงานของระบบประสาทและสมองอย่างเต็มที่ ดังนั้นการได้รับโภชนาการที่เหมาะสมจะช่วยให้ลูกน้อยเจริญเติบโตดีและมีความสุข