MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ เตรียมพร้อมตั้งครรภ์ สำหรับแม่มือใหม่
บทความ

PLAYING: เคล็ดลับนับวันไข่ตก สำหรับแม่มือใหม่ นับวันไข่ตก ช่วยเพิ่มโอกาสมีลูก

Add this post to favorites

เคล็ดลับนับวันไข่ตก สำหรับแม่มือใหม่ นับวันไข่ตก ช่วยเพิ่มโอกาสมีลูก

ว่าที่คุณแม่ ที่อยากตั้งครรภ์เจ้าตัวเล็กไว ๆ อาจกำลังสนใจ วิธีนับวันไข่ตก ซึ่งเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ๆ สามารถทดลองทำได้ด้วยตัวเอง โดยสิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรทราบ คือ หากสามารถเช็กวันไข่ตกได้แม่นยำเท่าไร ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติได้มากขึ้น

2นาที อ่าน

สรุป

  • การคำนวณวันที่ไข่ตกได้อย่างแม่นยำ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติได้สูงขึ้น
  • เทคนิคในการนับวันไข่ตกได้อย่างแม่นยำ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การนับวันไข่ตกด้วยตัวเอง การใช้แอปพลิเคชันช่วยคำนวณวันไข่ตก การสังเกตสัญญาณไข่ตกจากอาการต่าง ๆ ของร่างกาย รวมไปถึงการใช้ชุดตรวจการตกไข่ ที่จะช่วยให้คู่สามีภรรยาวางแผนมีเพศสัมพันธ์ได้ช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ดีที่สุด

ทำความเข้าใจเรื่อง วันไข่ตก

แต่ก่อนที่จะพาคุณแม่ไปเรียนรู้วิธีนับวันไข่ตกให้แม่นยำ เราอยากชวนว่าที่คุณแม่มือใหม่มาทำความเข้าใจกับคำว่า การนับวันไข่ตก กันค่ะ

วันไข่ตก คืออะไร?

วันไข่ตก (Ovulation) เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของฝ่ายหญิงจะมีการหลั่งฮอร์โมนลูทีไนซิง (Luteinizing hormone: LH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นไข่จากรังไข่ให้เกิด “การตกไข่” ซึ่งในช่วง 12 - 36 ชั่วโมง ก่อนร่างกายมีการตกไข่ จะพบว่าระดับของฮอร์โมน LH เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติอย่างรวดเร็ว หากมีการปฏิสนธิในช่วงไข่ตกได้พอดิบพอดี ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้ แต่ถ้าหากพลาดโอกาสนี้ไป ไข่และเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะสลายตัวลง กลายเป็นประจำเดือน

เข้าใจวงจรวันตกไข่

เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติจากเทคนิคการนับวันไข่ตก ว่าที่คุณแม่ควรต้องเข้าใจวงจรวันตกไข่ให้ถ่องแท้เสียก่อน โดยผู้หญิงแต่ละคนจะมีวงจรการตกไข่แตกต่างกัน โดยปกติแล้ว ไข่จะตกก่อนการมีประจำเดือนรอบใหม่ประมาณ 2 สัปดาห์ หากเป็นคนที่มีประจำเดือนมาประจำทุก 28 วันสม่ำเสมอ ก็จะระบุวันไข่ตกได้ค่อนข้างแม่นยำกว่าคนที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ

นับวันไข่ตกหรือนับวันตกไข่ จะเกิดขึ้นเมื่อไร

การตกไข่ จะเกิดขึ้นเมื่อไร?

เพื่อให้เข้าใจในกระบวนการตกไข่ได้ง่ายขึ้น เราสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะก่อนตกไข่: ในช่วงนี้ร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนฟอลลิเคิล สติมูเลติง (Follicle - stimulating hormone: FSH) เพื่อเร่งให้ไข่สุก และเตรียมพร้อมเข้าสู่ช่วงตกไข่ โดยสังเกตง่าย ๆ ได้จากการที่พบมูกสีขาวขุ่นบริเวณช่องคลอด
  • ระยะตกไข่: ช่วงนี้ฮอร์โมนลูทีไนซิง (Luteinizing hormone: LH) จะทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการตกไข่ ขณะเดียวกันร่างกายจะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรน (Progesterone) สูงขึ้น โดยจะสังเกตพบว่ามีมูกเหนียวใส หรือ มูกไข่ตก (Fertile Cervical Mucus) ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติที่จะช่วยยืดอายุของอสุจิที่ผ่านเข้ามาในช่องคลอด และช่วยให้อสุจิเดินทางเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ที่สุกแล้วบริเวณท่อนำไข่ได้ง่ายขึ้น
  • ระยะหลังตกไข่: เมื่อไข่ตกมาแล้วแต่ไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ไข่ที่สุกดีก็จะค่อย ๆ ฝ่อลงไปพร้อม ๆ กับการที่เยื่อบุมดลูกซึ่งเตรียมพร้อมสำหรับการฝังตัวของไข่ที่ผ่านการปฏิสนธิก็จะหลุดลอกออกมาและกลายเป็นประจำเดือน แต่ถ้าหากไข่และอสุจิปฏิสนธิกันได้สำเร็จ ไข่จากท่อนำไข่จะเคลื่อนตัวลงมาฝังในผนังมดลูก ถือเป็นการเริ่มต้นของกระบวนตั้งครรภ์

การตกไข่เกิดขึ้นนานแค่ไหน ไข่ตกอยู่ได้กี่วัน

หลังจากเกิดการตกไข่ ไข่ที่พร้อมสำหรับการปฏิสนธิจะมีอายุอยู่ได้ประมาณ 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน ก่อนจะค่อย ๆ ฝ่อลงไปและสลายออกมาพร้อมประจำเดือน ดังนั้นหากพ้นช่วงเวลาที่เหมาะสมไปแล้ว ก็ต้องนับวันรอโอกาสใหม่ ๆ ในเดือนถัดไป

การนับวันไข่ตก สำคัญอย่างไร?

จะเห็นได้ว่า การนับวันไข่ตก และมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างแม่นยำในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นเพียงเดือนละ 1 ครั้ง เป็นวิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติได้สูงขึ้น นอกจากนี้ เรายังสามารถนำวิธีการนับวันไข่ตก มาประยุกต์ใช้สำหรับการคุมกำเนิดสำหรับครอบครัวที่ยังไม่พร้อมมีบุตรได้อีกด้วย

วิธีนับวันไข่ตกสำหรับว่าที่คุณแม่ มีอะไรบ้าง?

วิธีนับวันไข่ตกสำหรับว่าที่คุณแม่ มีอะไรบ้าง?

สำหรับว่าที่คุณแม่มือใหม่ น่าจะอยากทราบแล้วว่า การนับวันไข่ตกมีกี่วิธี นับยากไหม ถ้านับวันเองแล้วไม่มั่นใจ จะมีตัวช่วยในการนับวันไข่ตกอะไรบ้าง เรามีคำตอบมาให้แล้ว ดังนี้

วิธีคำนวณวันตกไข่

การคำนวณวันตกไข่นั้นไม่ได้ยากเลย คุณแม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยสิ่งที่คุณแม่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอคือ คุณแม่ต้องทำการจดบันทึกวันที่ประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ และต้องจดอย่างต่อเนื่องประมาณ 12 เดือน และนำมาคำนวณด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  1. ระบุความยาวรอบเดือนของตน คุณแม่สามารถได้ ด้วยการนับจากวันแรกที่คุณแม่มีประจำเดือนในรอบล่าสุด และย้อนไปยังรอบเดือนก่อนหน้า เช่น รอบล่าสุดของคุณแม่คือวันที่ 9 พ.ค. และเดือนก่อนหน้าคือ 7 เม.ย. แสดงว่าความยาวรอบเดือนของคุณแม่จะอยู่ที่ 30 วัน
  2. คำนวณหาวันไข่ตก ด้วยการนำความยาวรอบเดือนของคุณแม่ที่หามาได้จากขั้นตอนที่ 1 นำมาลบออก 14 วัน ก็จะได้วันตกไข่ เช่น ถ้าความยาวรอบเดือนของคุณแม่คือ 30 วัน นั่นแปลว่าวันตกไข่ของคุณแม่ คือวันที่ 16 ของความยาวรอบเดือนนั่นเอง

2. ใช้เครื่องมือคำนวณวันไข่ตก

  • ใช้ที่ตรวจไข่ตก
    นอกจากการนับวันไข่ตกด้วยตัวเองแล้ว ว่าที่คุณแม่ยังมีตัวช่วยให้สามารถนับวันไข่ตกได้แม่นยำมากขึ้น นั่นคือการใช้อุปกรณ์ทดสอบการตกไข่ หรือ ชุดตรวจการตกไข่ (LH Ovulation Test) วิธีนี้ทำได้ด้วยการตรวจปัสสาวะเพื่อหาระดับฮอร์โมนลูทีไนซิง (Luteinizing hormone: LH) จำกัดปริมาณการบริโภคของเหลวก่อนทำการทดสอบอย่างน้อย 2 ชั่วโมง โดยสามารถทำการตรวจระดับฮอร์โมน LH ด้วยชุดตรวจการตกไข่ได้ก่อนถึงวันไข่ตกประมาณ 2 วัน

  • ใช้แอปนับวันไข่ตก
    สำหรับใครที่กังวลว่าตนเองอาจเผลอลืมนับวันไข่ตก ก็สบายใจได้เลยเพราะสามารถใช้แอปพลิเคชันนับวันไข่ตก ในการช่วยบันทึกและคำนวณวันตกไข่ได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ โดยแอปพลิเคชันจะช่วยคำนวณวันตกไข่จากการบันทึกวันแรกที่ประจำเดือนมา ก็จะทราบได้ทันทีว่า ช่วงเวลาที่ไข่ตกคือวันไหน ถือว่าเป็นฟีเจอร์ที่ช่วยให้คุณแม่มือใหม่ล็อกวันที่จะชวนว่าที่คุณพ่อมาทำกิจกรรมเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้แม่นยำมากขึ้น

อาการตกไข่ ช่วงที่มีไข่ตก ผู้หญิงจะมีอาการอย่างไร?

นอกจากการนับวันตกไข่ และใช้เครื่องมือในการช่วยคำนวณวันตกไข่แล้ว การหมั่นสังเกตตัวเองก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้สูงขึ้น โดยสัญญาณร่างกายในช่วงการตกไข่ มีดังนี้

  • อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้น เนื่องจากช่วงที่มีการตกไข่ ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีการสูบฉีดเลือดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้รู้สึกว่าตัวร้อนขึ้นเล็กน้อย
  • เกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณปากมดลูก ช่วงตกไข่ปากมดลูกจะเปลี่ยนตำแหน่งเลื่อนสูงขึ้นและอ่อนนุ่มมากขึ้นขึ้น และเปิดกว้างขึ้นกว่าช่วงปกติ ซึ่งถือเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการมีเพศสัมพันธ์
  • ตกขาวเยอะขึ้น ยิ่งใกล้ช่วงเวลาที่มีการตกไข่มากเท่าไร จะยิ่งรู้สึกได้ว่ามีมูกใส เหนียว ลื่น มากขึ้น ซึ่งข้อดีของมูกดังกล่าวนี้ จะช่วยให้อสุจิว่ายผ่านเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ในท่อนำไข่ได้ง่ายขึ้น
  • มีอารมณ์ทางเพศมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นกลไกทางธรรมชาติที่กระตุ้นให้เกิดการปฏิสนธิในช่วงที่ไข่ตกได้อย่างเหมาะเจาะ โดยช่วงดังกล่าวนี้ ว่าที่คุณพ่อจะสังเกตเห็นว่า ว่าที่คุณแม่จะสวย เซ็กซี่ ดูมีน้ำมีนวลขึ้นผิดหูผิดตา
  • รู้สึกเจ็บและคัดตึงเต้านม เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะเอสโตรเจนและโพรเจสเทอโรน
  • ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย เป็นผลจากการที่ภายในมดลูกมีการเตรียมพร้อมสำหรับการฝังตัวของไข่ที่ผ่านการปฏิสนธิ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้กระบวนการตั้งครรภ์ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่ยังจำเป็นต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรง มีสุขภาพดี พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคต หนึ่งในนั้นคือการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้เหมาะสม โดยควรทานเมนูอาหารสำหรับคนท้องที่มีประโยชน์ มีสารอาหารจำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน อุดมด้วยโภชนาการที่จำเป็นสำหรับว่าที่คุณแม่ อาทิ โฟเลต วิตามินบี 12 สังกะสี แมงกานีส ธาตุเหล็ก เป็นต้น

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีน แอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด หากว่าที่คุณแม่สามารถดูแลตนเองได้ดีตามคำแนะนำข้างต้นนี้ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้สูงขึ้น

อ้างอิง:

  • วิธีนับวันไข่ตก แก้ปัญหามีลูกยาก ช่วยให้มีลูกง่ายด้วยวิธีธรรมชาติ, Worldwide IVF Fertility Center
  • เช็กสัญญาณการตกไข่!, Prime Fertility Center
  • อยากท้องต้องทำยังไง เคล็ด(ไม่)ลับสำหรับคู่รักที่อยากมีลูก, โรงพยาบาลนครธน
  • ช่วงไข่สุกคือ ตอนไหน ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้อย่างไร, Hello คุณหมอ
  • อยากมีลูก...นับวันไข่ตกอย่างไรดี?, โรงพยาบาลพญาไท
  • นับวันไข่ตกอย่างไรไม่ให้พลาด, สื่อมัลติมีเดียกรมอนามัย
  • มาฝึกดูวันไข่ตกกันเถอะ, โรงพยาบาลวิภาวดี

อ้างอิง ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2566