MyFeed Personalized Content
บทความ

PLAYING: ข้อดีข้อเสีย การผ่าคลอดและการคลอดแบบธรรมชาติ

Add this post to favorites

ข้อดีข้อเสีย การผ่าคลอดและการคลอดแบบธรรมชาติ

การผ่าคลอดและการคลอดแบบธรรมชาติ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างของการผ่าคลอดและการคลอดแบบธรรมชาติ ข้อมูลสำคัญที่คุณแม่ควรรู้ก่อนตัดสินใจ

2นาที อ่าน

ตรวจทานความถูกต้องโดย ศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์

 

เมื่อถึงเวลาที่ใกล้คลอดเจ้าตัวเล็ก คุณแม่ตั้งท้องหลายคน อาจเริ่มรู้สึกกังวลใจอยู่ไม่น้อย เมื่อต้องตัดสินใจเลือกวิธีการคลอดลูก ซึ่งสาเหตุที่คุณแม่หลายๆคนให้ความสำคัญกับวิธีการคลอด ทั้งการผ่าคลอดและการคลอดแบบธรรมดานั้น เป็นเพราะการคลอดคุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมสุขภาพของลูกน้อย ก่อนจะถึงกำหนดคลอด คุณแม่ควรทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างการผ่าคลอด (C-section) และ การคลอดธรรมชาติ รวมถึง ข้อดีข้อเสียของการคลอดแต่ละวิธี เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะหลังคลอด และการดูแลสุขภาพของลูกน้อยอย่างดีที่สุด

การคลอดลูก ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของชีวิตสำหรับคุณแม่ทุกคน เป็นช่วงเวลาแสนมหัศจรรย์ที่ลูกน้อยจะได้ลืมตาดูโลก และมีชีวิตอยู่ภายนอกครรภ์ของคุณแม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีการคลอดนั้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพทั้งลูกน้อยและคุณแม่เอง ดังนั้นเพื่อให้การคลอดครั้งนี้ของคุณแม่สมบูรณ์ที่สุด เรามาทำความเข้าใจกันว่า วิธีการคลอดแต่ละแบบนั้นแตกต่างกันอย่างไร

วิธีการคลอดแบ่งออกเป็น 2 วิธีหลักๆ ได้แก่

1. การผ่าคลอด หรือ การผ่าตัดคลอด (C-section)
 

การผ่าคลอดคืออะไร?

การผ่าคลอดเป็นการคลอดโดยการผ่าตัดให้ลูกออกมาทางหน้าท้อง คือ การผ่าตัดเปิดช่องท้องและผนังมดลูกเพื่อนำทารกออกจากถุงน้ำคล้ำ และแพทย์จะนำทารกออกมาแล้วจึงเย็บปิดมดลูกและหน้าท้อง โดยใช้เวลาไม่นานในการผ่าตัด
 

3 ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนผ่าคลอดเบื้องต้น คุณแม่ควรรู้อะไรบ้าง? 

• ในคืนก่อนผ่าคลอด คุณแม่ควรงดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 8 ชั่วโมง และงดดื่มน้ำตามที่แพทย์กำหนด
• ตรวจร่างกายและเจาะเลือด เพื่อเตรียมเลือดสำารองไว้ใช้ในกรณีที่คุณแม่เสียเลือดมากเกินไป
• ก่อนผ่าคลอดคุณหมอจะโกนขนบริเวณหน้าท้องหรือบริเวณที่ต้องผ่าตัด จนถึงบริเวณฝีเย็บ ในบางราย อาจจะต้องสวนอุจจาระด้วย รวมถึงให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
• คุณแม่ควรถอดชุดชั้นใน คอนแทคเลนส์ ฟันปลอมและเครื่องประดับออกทั้งหมด รวมถึงล้างยาทาเล็บออกด้วย
• พยาบาลจะใส่สายสวนปัสสาวะไว้ และใส่ไว้ตลอดการผ่าตัด จนถึง 1 วันหลังผ่าตัด แพทย์จะ อนุญาตให้เอาสายสวนปัสสาวะออกได้ 
 

กรณีไหนบ้างที่ควรผ่าคลอด

การผ่าคลอดนี้มักเกิดขึ้นในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าคลอด ตัวอย่างเช่น
• มีภาวะรกเกาะต่ำ
• ครรภ์แฝด
• ลูกน้อยอยู่ในท่าก้นหรือไม่กลับหัว
• อุ้งเชิงกรานมารดาแคบ
• ปากมดลูกไม่เปิดหรือเปิดน้อย
• ทารกมีความผิดปกติที่ไม่สามารถคลอดเองได้
• เคยผ่าตัดคลอดในครรภ์แรกมาแล้ว ทำให้ท้องสองเสี่ยงมดลูกแตกได้สูงถ้าปล่อยให้เจ็บครรภ์และมดลูกบีบรัดตัวนานๆ
 

ข้อดีของการผ่าคลอด

• กำหนดเวลาคลอดได้ จึงสามารถวางแผนเตรียมตัวล่วงหน้าได้ ใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน
• ไม่รู้สึกเจ็บปวดขณะคลอด
• เหมาะกับคุณแม่ที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
• สามารถทำหมันได้เลย
• ปลอดภัยมากขึ้น ระหว่างการผ่าคลอด แพทย์จะทำการดมยาสลบหรือบล็อกหลัง ทำให้ระหว่างการคลอดคุณแม่จะไม่ต้องเจ็บ และไม่ต้องออกแรงเบ่ง แต่อาจมีอาการเจ็บแผลหลังผ่าคลอดบ้าง แต่สามารถดูแลแผลผ่าคลอดได้ และสามารถฟื้นตัวได้เร็ว
 

ข้อเสียของการผ่าคลอด

• อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด และเสียเลือดมาก
• ส่วนใหญ่มักเจ็บแผลผ่าคลอดนาน อ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายกว่า
• ไม่สามารถให้นมลูกได้ทันทีหลังคลอด
• ทารกมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภูมิแพ้ หรือป่วยง่ายกว่า เพราะไม่ได้รับจุลินทรีย์ที่ดีจากช่องคลอดของแม่
• มีค่าใช้จ่ายสูง
 

อาการผิดปกติหลังผ่าคลอด ที่ควรพบแพทย์ 

เมื่อคุณแม่กลับบ้านแล้วควรสังเกตอาการของตัวเองหลังผ่าคลอดอย่างสม่ำเสมอ โดยคุณหมอจะนัดดูอาการอีก 6 สัปดาห์หลังคลอด โดยอาการที่พบบ่อยในคุณแม่หลังผ่าคลอด มีดังนี้ 

  1. คุณแม่มีอาการปวดศีรษะและหนาวสั่น  

  1. มีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส 

  1. มีก้อนเลือดออกจากช่องคลอดหรือเลือดสดๆ ออกทางช่องคลอดภายใน 1 ชั่วโมง 

  1. น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นมาก 

  1. มีอาการปวดท้องน้อย 

  1. มีรอยบวมแดงที่แผลผ่าคลอด แผลปริ ไม่ติดกัน หรือมีเลือดซึม   

หากพบความผิดปกติมากกว่าอาการข้างต้น คุณแม่ที่เพิ่งผ่าคลอด ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันทีและไม่ควรปล่อยไว้นาน เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ สำหรับคุณแม่ที่กังวลเกี่ยวกับแผลผ่าคลอด กี่วันหาย คุณแม่ควรหมั่นดูแลสุขภาพและทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่ช่วยในการย่อยและการขับถ่าย เพื่อลดปัญหาการเจ็บแผลผ่าคลอด  

ปกติแล้ว หลังผ่าคลอดประมาณ  1 สัปดาห์ แผลผ่าคลอดบริเวณผิวหนังชั้นนอกจะเริ่มสมานกัน คุณหมอจะนัดเพื่อทำการตัดไหม ส่วนแผลด้านใน จะใช้เวลา 2 – 4 สัปดาห์ แผลที่เย็บไว้จะเริ่มสมานกันมากขึ้น หรือสำหรับบางคน อาจใช้เวลานานถึง 12 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น กิจวัตรประจำวัน, การผ่าตัดของคุณหมอ, การรับประทานอาหาร เป็นต้น โดยรวมแล้วสำหรับคุณแม่ที่สงสัยว่า แผลผ่าคลอด กี่วันหายดี ปกติแล้วอาจใช้เวลาประมาณ 6 เดือนขึ้นไป แผลถึงจะหายสนิททั้งด้านในและด้านนอก 
 

แล้วคุณแม่จะเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกผ่าคลอดได้อย่างไร?

การผ่าคลอด ส่งผลให้เด็กผ่าคลอดจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภูมิแพ้ และป่วยได้มากกว่าเด็กที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติถึง 30% เพราะไม่ได้รับจุลินทรีย์ที่ดีจากช่องคลอดคุณแม่ ดังนั้นคุณแม่จึงควรศึกษาวิธีดูแลเด็กผ่าคลอดรวมทั้งควรเร่งเสริมภูมิคุ้มกันด้วยการให้ลูกได้รับนมแม่ เพราะนมแม่มีสารอาหารกว่า 200 ชนิด ที่ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สารอาหารสำคัญที่พบในนมแม่ ที่ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ หรือโพรไบโอติกส์ สายพันธุ์ที่พบมากในน้ำนมแม่ เช่น สายพันธุ์ Bifidus BL หรือ B.lactis ซึ่งเป็น จุลินทรีย์ที่มีงานวิจัยรองรับในระดับแนะนำสูงสุดเรื่องเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (Grade A recommendation)

การให้ลูกได้รับสารอาหารเหล่านี้จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันได้ โดยสังเกตได้จากทารกที่ได้รับนมแม่จะมีการเจ็บป่วยน้อยกว่า และมีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า เมื่อลูกแข็งแรงก็พร้อมเรียนรู้สิ่งต่างๆ และมีพัฒนาการที่ดีสมวัย โดยสรุปแล้ว การคลอดแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน คุณแม่ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจเลือกว่าจะคลอดลูกวิธีไหน ควรปรึกษาคุณหมอล่วงหน้าเพื่อวางแผนการคลอด เพราะการคลอดที่มีคุณภาพส่งผลต่อสุขภาพและภูมิคุ้มกันตั้งต้นของลูกน้อยวัยแรกเกิด
 

2. การคลอดธรรมชาติ


2.1 การคลอดแบบธรรมชาติ

การคลอดธรรมชาติ หรือเรียกอีกอย่างว่า การคลอดผ่านทางช่องคลอด วิธีนี้ต้องรอให้คุณแม่เจ็บครรภ์คลอดแล้วมาโรงพยาบาลเพื่อรอปากมดลูกเปิดและคลอดธรรมชาติเอง วิธีการคลอดนี้มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ซึ่งปัจจุบันยังคงแนะนำให้คลอดธรรมชาติก่อนหากทำได้ การคลอดธรรมชาตินี้เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ร่างกายแข็งแรง และมีภาวะครรภ์ปกติ


ข้อดีของการคลอดธรรมชาติ

• ร่างกายฟื้นตัวหลังคลอดเร็ว อ่อนเพลียหรือเหนื่อยน้อยกว่า
• ไม่มีแผลผ่าตัด ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
• ส่วนมากเสียเลือดน้อยกว่า และเจ็บแผลน้อย
• คุณแม่สามารถให้นมลูกได้ทันที
• ไม่ค่อยเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนในการเจ็บครรภ์ครั้งต่อไป เช่น แผลมดลูกปริแตก
• ค่าใช้จ่ายในการทำคลอดไม่แพง
• ทารกจะได้รับจุลินทรีย์ที่ดี หรือโพรไบโอติกส์จากช่องคลอดคุณแม่ ซึ่งช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้ ป้องกันการติดเชื้อ และลดความเสี่ยงการเกิดภูมิแพ้ต่างๆ


ข้อเสียของการคลอดธรรมชาติ

• กำหนดวันเวลาคลอดไม่ได้ ใช้เวลาคลอดนาน จึงไม่สามารถวางแผนเตรียมตัวล่วงหน้าได้
• เจ็บปวดครรภ์มากเป็นระยะเวลานานขณะคลอด และเจ็บแผลเย็บหลังคลอด
• มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ต้องผ่าตัดฉุกเฉิน เช่น ปัญหาลูกคลอดยาก คลอดติดไหล่ อุ้งเชิงกรานคุณแม่เล็กกว่าตัวทารก
• มีโอกาสที่จะเกิดการฉีกขาด หรือการขยายตัวของปากมดลูก หรือช่องคลอด เนื้อเยื่อเชิงกรานคุณแม่อาจหย่อน ส่งผลต่อการปัสสาวะอุจจาระของคุณแม่ในอนาคตได้


2.2 คลอดธรรมชาติแบบคลอดในน้ำ

การคลอดธรรมชาติแบบคลอดในน้ำ เป็นการคลอดธรรมชาติเช่นกันเนื่องจากผ่านทางช่องคลอดคุณแม่ ปกติแล้วลูกน้อยในครรภ์จะลอยอยู่ในถุงน้ำคร่ำอยู่แล้ว การคลอดในน้ำจะทำให้ลูกน้อยแรกคลอดรู้สึกคล้ายกับอยู่ในท้องแม่ชั่วขณะหนึ่งก่อนที่จะมีการตัดสายสะดือ และเริ่มหายใจเองเมื่อลูกน้อยลอยพ้นขึ้นจากน้ำ การคลอดในน้ำนั้นไม่เหมาะกับแม่ที่เป็นโรคติดต่อ ติดเชื้อ มีภาวะครรภ์เป็นพิษ ครรภ์แฝด หรือมีประวัติคลอดก่อนกำหนด คลอดยาก เป็นต้น การคลอดในน้ำมีข้อดีข้อเสียดังต่อไปนี้


ข้อดีของการคลอดธรรมชาติแบบคลอดในน้ำ

• มีส่วนช่วยให้คุณแม่เจ็บปวดจากการคลอดลดลงในคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติในภาวะปกติ
• เป็นวิธีการคลอดที่ไม่มีการใช้ยา จึงไม่มีการส่งผ่านยาไปสู่ลูก
ข้อเสียของการคลอดธรรมชาติแบบคลอดในน้ำ
• เนื่องจากไม่มีการใช้ยาแก้ปวด หรือบล็อคหลัง คุณแม่อาจมีอาการเจ็บปวดมากได้
• เมื่อคุณแม่ลงไปแช่ในน้ำแล้วหากเจ็บท้องนานๆ การลงไปในน้ำก็ไม่สามารถช่วยทุเลาความเจ็บปวดได้ แตกต่างจากการคลอดปกติที่แพทย์สามารถให้ยาระงับปวดทางเส้นเลือด หรือไขสันหลังได้
• ไม่สามารถตรวจติดตามฟังเสียงหัวใจเด็กระหว่างการคลอดในน้ำได้ จึงเสี่ยงหากเด็กมีสายสะดือพันคอแล้วเกิดการขาดออกซิเจน
• ค่าใช้จ่ายสูง และมีบริการลักษณะนี้เพียงบางโรงพยาบาลเท่านั้น

เอกสารอ้างอิง
1. Gueimonde M. et al. Neonatology. 2007;92(1):64-6. Epub 2007 Feb 23.
2. Lewis Z, et al. Microbiome (2015) 3:13
3. Håkansson S, et al. Clin Exp Allergy. 2003 Jun;33(6):757-64.