MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ ดูแลครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่
โภชนาการน่ารู้

PLAYING: อาหารที่ไม่ควรกินขณะตั้งครรภ์

Add this post to favorites

อาหารที่ไม่ควรกินขณะตั้งครรภ์

คนท้องห้ามกินอะไร? มาดู 10 อาหารที่คนท้องอ่อนไม่ควรกิน เพราะอาจเป็นอันตรายกับคุณแม่และลูกในครรภ์ เพื่อให้คุณแม่ตั้งครรภ์เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

1นาที อ่าน

อาหารที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นอาหารที่ไม่ควรกิน หรือดื่มในขณะตั้งครรภ์ เพราะมันอาจเป็นอันตรายกับตัวคุณแม่เองหรือกับทารกน้อย

1. แอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายของคุณได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งร่างกายของทารกในครรภ์ก็ได้รับแอลกอฮอล์โดยผ่านทางกระแสเลือดของคุณเช่นเดียวกัน ในบางรายแอลกอฮอล์อาจทำให้เกิดอารมณ์หดหู่ และทำให้ระบบประสาททำงานช้าลง ถ้าคุณดื่มหนักในขณะตั้งครรภ์ ทารกที่เกิดมาอาจมีภาวะของ Fetal Alcohol Syndrome (FAS) หรือกลุ่มอาการผิดปกติของทารกจากการดื่มแอลกอฮอล์ของมารดาขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของทารก ดังนั้น การละเว้นแอลกอฮอล์ตลอดช่วงการตั้งครรภ์จึงเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับคุณแม่และลูกน้อย

อาหารทะเลดิบ

2. เนื้อสัตว์ดิบ และอาหารทะเลดิบ

การกินเนื้อสัตว์หรืออาหารทะเลดิบๆ หรืออาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น ซูชิ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อลิสทีเรีย และเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งอาจทำให้มีภาวะแท้ง ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือการคลอดก่อนกำหนดได้ การติดเชื้อลิสทีเรียนั้นสามารถส่งผ่านไปยังทารกในครรภ์ได้
วิธีป้องกันการติดเชื้อลิสทีเรีย คุณแม่ควรปรับนิสัยการกินที่ดีและการดูแลสุขอนามัยของอาหารอย่างเหมาะสม ได้แก่
• หลีกเลี่ยงอาหารดิบทุกชนิด เช่น ปลาดิบ (ซูชิ ซาชิมิ เป็นต้น) อาหารทะเลดิบ เนื้อดิบ (คาร์ปาโซ สเต็กเนื้อดิบๆ เป็นต้น) ไข่ดิบ และผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ รวมถึงควรเลือกชีสที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว
• หลีกเลี่ยงอาหารเนื้อตัดเย็นต่างๆ เช่น เนื้อ ตับ หรือปาเต้บรรจุกระป๋อง โดยควรเลือกเนื้อสัตว์ชนิดบรรจุสุญญากาศมากกว่าอาหารประเภทแฮมสไลด์
• ปรุงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ให้สุกก่อนรับประทานเสมอ
• ล้างผักและผลไม้ก่อนนำไปประกอบอาหารให้สะอาด ควรแช่ผักด้วยน้ำเปล่าผสมน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ส่วนผลไม้ไม่จำเป็นต้องแช่ทิ้งไว้ เพื่อคงรักษาวิตามินและแร่ธาตุเอาไว้
• ตรวจดูวันหมดอายุของอาหารต่างๆ ก่อนรับประทานทุกครั้ง
• หลีกเลี่ยงการกินอาหารเหลือค้าง หรือหากจำเป็นควรอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานเสมอ
• ล้างมือทุกครั้งก่อนลงมือปรุงอาหารและก่อนรับประทาน
• ทำความสะอาดบริเวณที่เก็บ หรือที่วางอาหารเป็นประจำ รวมถึงทำความสะอาดตู้เย็น และตู้กับข้าวอย่างสม่ำเสมอ

3. เนื้อสำเร็จรูป เนื้อบดสำเร็จรูป (ปาเต) และแซนวิชสเปดจากเนื้อสัตว์

ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แช่เย็น เช่น เนื้อบดสำเร็จรูป (ปาเต) แฮม ซาลามิ อาจมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียลิสทีเรีย คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้

4. ไข่ดิบ

ไข่ดิบ และผลิตภัณฑ์ที่มีไข่ดิบเป็นส่วนประกอบอาจปนเปื้อนเชื้อซาลโมเนลลา คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบเช่น แป้งเค้กสด แป้งคุกกี้สด ไอศครีมโฮมเมด และอาหารอื่นๆที่มีไข่ดิบเป็นส่วนประกอบ

5. ผลิตภัณฑ์จากนม

ผลิตภัณฑ์จากนมบางประเภทที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ รวมทั้งไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟ อาจปนเปื้อนเชื้อลิสทีเรีย อาหารเหล่านี้จะปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ก็ต่อเมื่อผ่านการปรุงสุก หรือผ่านความร้อนเท่านั้น

6. อาหารกึ่งสำเร็จรูป หรืออาหารพร้อมรับประทานแช่เย็นที่ยังไม่ผ่านการอุ่นให้ร้อน

อาหารพร้อมรับประทานแช่เย็น เช่น สลัด อาจปนเปื้อนเชื้อลิสทีเรีย อาหารประเภทนี้คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน

7. กินตับในปริมาณน้อยๆ

ถึงแม้ว่าตับจะอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก แต่ในตับก็มีวิตามินเอสูงด้วยเช่นกัน การได้รับวิตามินเอมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อทารก และนำไปสู่ปัญหาความผิดปกติแต่กำเนิดที่รุนแรง คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรกินตับในปริมาณน้อยๆ ไม่เกิน 50 กรัมต่อสัปดาห์ ปริมาณวิตามินเอที่ควรได้รับประจำวันสำหรับหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรเกิน 700 ไมโครกรัมต่อวัน

8. ปลาที่มีสารปรอท

ปลาเป็นอาหารที่หญิงตั้งครรภ์ควรกินเป็นประจำ เพราะเป็นแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาระบบประสาทและสมองของทารก แต่ปลาบางชนิดมีการปนเปื้อนสารปรอทในปริมาณสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ดังนั้น วิธีการกินปลาอย่างปลอดภัย ได้แก่
• หลีกเลี่ยงการกินปลาทูน่ากระป๋อง ปลาอินทรีย์ หรือถ้ารับประทานก็ไม่ควรมากกว่าสองครั้งต่อสัปดาห์ เพราะปลาเหล่านี้อาจมีสารปรอทตกค้างอยู่ในปริมาณสูง
• เลือกรับประทานปลาทีมีเนื้อมากกว่าไขมันแทน อย่างเช่น ปลาแซลมอน ปลาเนื้อขาว เป็นต้น

9. คาเฟอีน

สำหรับการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และน้ำอัดลม หญิงตั้งครรภ์สามารถดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนได้ในปริมาณที่เหมาะสม หรือเทียบเท่ากับกาแฟไม่เกิน 2-3 แก้วต่อวัน การได้รับคาเฟอีนในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ยากขึ้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแท้ง หรือทารกน้ำหนักแรกเกิดน้อย

10. เครื่องดื่มชูกำลังก็มีคาเฟอีน

คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มชูกำลังที่มีคาเฟอีน หากคุณมีความกังวลในความปลอดภัยเกี่ยวกับการกินอาหารในช่วงตั้งครรภ์ ควรปรึกษานักกำหนดอาหารที่มีความเชี่ยวชาญ หรือสูติแพทย์

อ้างอิง: Health and Trend.com