MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: หน้าที่สำคัญของ จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ในนมแม่

Add this post to favorites

หน้าที่สำคัญของ จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ในนมแม่

รู้หรือไม่ว่าในน้ำนมแม่ มีจุลินทรีย์มีประโยชน์โพรไบโอติกส์อยู่ ซึ่งช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และสมองให้ดีขึ้นสำหรับลูกน้อยด้วย

3นาที อ่าน

เขียนและตรวจทานความถูกต้องโดย อ.ปิยวรรณ วงศ์วสุ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาด้านอาหารและโภชนาการ

ทำความรู้จักกับโพรไบโอติกส์ หนึ่งในคุณประโยชน์จากธรรมชาติในน้ำนมแม่ เพื่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบหายใจ ทางเดินอาหาร และสมองที่ดีสำหรับลูกน้อย

หลายคนอาจจะได้ยินคำว่าโพรไบโอติกส์ (Probiotics) กันในฐานะของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสารเสริมภูมิคุ้มกันในอาหารกันมาก่อน แต่ทราบไหมคะ ว่าความจริงแล้วในน้ำนมแม่เองก็มีโพรไบโอติกส์ อยู่เช่นกัน แถมยังมีข้อดีต่อลูกน้อยหลายประการ นับเป็นอีกหนึ่งคุณประโยชน์จากนมแม่ที่ทำให้เราอยากสนับสนุนให้คุณแม่ทุกคนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ค่ะ
 

โพรไบโอติกส์ คือ อะไร

 

โพรไบโอติกส์ คือ “จุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วสามาถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพได้” แม้คนส่วนใหญ่พอได้ยินคำว่า “จุลินทรีย์” แล้วจะนึกถึงเชื้อโรคที่เป็นอันตราย แต่ความจริงแล้วมีจุลินทรีย์หลายชนิดที่อาศัยอยู่ในร่างกายเราและสร้างประโยชน์หลากหลาย เช่น ช่วยย่อยสารอาหารที่ร่างกายย่อยเองไม่ได้ กำจัดเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค หรือแม้แต่ผลิตวิตามินบางชนิดค่ะ

จากการศึกษาส่วนใหญ่พบว่า การรับประทานโพรไบโอติกส์อาจมีส่วนช่วยในการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ โดยเฉพาะการลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร อันเป็นสาเหตุของอาการท้องอืด ท้องเสีย ทำให้สุขภาพของลำไส้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และสมองให้ดีขึ้นด้วย โดยตัวอย่างของจุลินทรีย์ที่จัดเป็นโพรไบโอติกส์ที่มีประโยชน์ ก็คือแบคทีเรียกลุ่มที่เราคุ้นหูอย่างแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) และบิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacterium) นั่นเอง สำหรับแหล่งของโพรไบโอติกส์จากอาหารธรรมชาติ มักพบในอาหารที่ผ่านกระบวนการหมัก เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว มิโสะ กิมจิ และเทมเป้ เป็นต้น


โพรไบโอติกส์ [จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์] ที่พบในนมแม่ เป็นแบบไหน

 

โพรไบโอติกส์ในนมแม่นั้น พบได้ทั้งในกลุ่มแลคโตบาซิลลัสและบิฟิโดแบคทีเรีย เช่น สายพันธุ์ Lactobacillus reuteri สายพันธุ์ Lactobacillus rhamnosus (LPR) และสายพันธุ์ Bifidobacterium lactis, Bifidobacterium longum เมื่อลูกได้รับนมแม่ ลูกน้อยจะได้รับโพรไบโอติกส์ทางปากผ่านเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ จุลินทรีย์เหล่านี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นในลำไส้ของลูก เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน


แล้วพรีไบโอติกส์ล่ะ คืออะไร ทำไมมักได้ยินคู่กัน

 

พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) เป็นชื่อเรียกอาหารของโพรไบโอติกส์ โดยเป็นกลุ่มของสารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ แต่จุลินทรีย์ที่ดีในร่างกายสามารถย่อยสลายและนำมาใช้ประโยชน์ จนทำให้จุลินทรีย์เหล่านั้นมีประสิทธิภาพการทำงานภายในร่างกายเราได้ดีขึ้น ตัวอย่างของสารที่จัดเป็นพรีไบโอติกส์ เช่น ฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ (Fructo-oligosaccharides) กาแลคโตโอลิโกแซคคาไรด์ (Galacto-Oligosaccharides) และแป้งที่ทนต่อการย่อย (Resistant starch) เป็นต้น

พรีไบโอติกส์พบได้ตามพืชผักผลไม้ทั่วไป โดยเฉพาะชนิดที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวโอ๊ต แอปเปิ้ล กล้วย หน่อไม้ฝรั่ง นอกจากนั้นในนมแม่ก็มีพรีไบโอติกส์เช่นกัน โดยเป็นสารกลุ่มโอลิโกแซคคาไรด์ที่มีชื่อ เรียกว่า Human Milk Oligosaccharides (HMOs) ดังนั้น ในการดูดนมแม่แต่ละครั้ง นอกจากจะได้รับโพรไบโอติกส์ในนมแม่แล้ว ลูกน้อยยังได้รับพรีไบโอติกส์ในนมแม่เข้าไปด้วย ซึ่งก็จะช่วยส่งเสริมให้การทำงานของโพรไบโอติกส์ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปค่ะ

 

โพรไบโอติกส์ในนมแม่ ดีกับลูกน้อยอย่างไร

 

โพรไบโอติกส์ในนมแม่ ดีกับลูกน้อยอย่างไร

 

เมื่อแรกลืมตาดูโลก ทารกทุกคนล้วนต้องการจุลินทรีย์เพื่อค่อยๆ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง โดยทารกที่คลอดธรรมชาติจะได้รับจุลินทรีย์กลุ่มแรกจากช่องคลอดของมารดา จากนั้นร่างกายเค้าก็จะได้รู้จักกับจุลินทรีย์ต่างๆ เพิ่มขึ้นจากการได้รับนมแม่ จนไปถึงอาหารเสริมตามวัยหลัง 6 เดือน นมเสริมตามวัยสำหรับเด็กอายุ 1 ปี รวมทั้งมื้ออาหารที่รับประทานเมื่อค่อยๆ เติบโตขึ้น ที่เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการตามช่วงวัยที่เหมาะสม


บทบาทที่สำคัญของจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ (ร่วมกับพรีไบโอติกส์) จากนมแม่ต่อลูกน้อย

 

• การเพิ่มปริมาณของจุลินทรีย์ประจำถิ่นในระบบทางเดินอาหาร และเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยระบบทางเดินอาหารนั้นจัดว่าเป็นระบบอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันที่ใหญ่ที่สุด เพราะเป็นเสมือนด่านหน้าที่รับสารต่างๆ จากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย (ในรูปของอาหาร)
• การสร้างสภาวะให้ระบบทางเดินอาหารมีปริมาณของจุลินทรีย์ที่สมดุลในทารกจึงช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อต่างๆ ได้ ช่วยต่อต้านเชื้อก่อโรค บรรเทาอาการท้องผูก ท้องเสีย เพิ่มการสร้างสารที่ช่วยลดการอักเสบและสารช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน
• มีการศึกษาที่พบว่าโพรไบโอติกส์ที่พบในนมแม่ อาจเกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคภูมิแพ้ในทารกอีกด้วย1,2,3


ตัวอย่างโพรไบโอติกส์ในนมแม่ที่พบว่ามีประโยชน์ต่อลูกน้อย ก็เช่น จุลินทรีย์ในกลุ่มแลคโตบาซิลลัสอย่าง LPR ซึ่งเป็นจุลินทรีย์สายพันธ์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะมีงานวิจัยทางการแพทย์รองรับมากที่สุด ซึ่งนอกจากจะมีประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกันแล้ว ยังมีการศึกษาพบว่า LPR มีผลดีต่อระบบทางเดินหายใจของเด็ก (ศึกษาในเด็กอายุ 1-7 ปี) โดยช่วยลดการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคหวัด น้ำมูกไหล ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กที่เริ่มเข้าโรงเรียน นอกจากนั้นยังมีการศึกษาพบว่าจุลินทรีย์กลุ่มดังกล่าวอาจมีผลดีต่อการทำงานของสมอง ผ่านการมีส่วนร่วมในการสร้างสารสื่อประสาทในสมองอีกด้วย9,10


จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของนมแม่ ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งของอาหารให้ลูกน้อยเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวสร้างเกราะป้องกันให้เค้ามีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ลูกควรได้รับนมแม่อย่างเดียว ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และควรได้รับนมแม่ต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)6 เพื่อให้ลูกน้อยยังคงได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์จากนมแม่อยู่ค่ะ


เอกสารอ้างอิง
1. Sepehri, S., Khafipour, E., & Azad, M. B. (2018). The Prebiotic and Probiotic Properties of Human Milk: Implications for Infant Immune Development and Pediatric Asthma. Frontiers in pediatrics, 6, 197. https://doi.org/10.3389/fped.2018.00197
2. Lara-Villoslada, F., Olivares, M., Sierra, S., Miguel Rodríguez, J., Boza, J., & Xaus, J. (2007). Beneficial effects of probiotic bacteria isolated from breast milk. British Journal of Nutrition, 98(S1), S96-S100. doi:10.1017/S0007114507832910
3. Sestito, S., D'Auria, E., Baldassarre, M. E., Salvatore, S., Tallarico, V., Stefanelli, E., Tarsitano, F., Concolino, D., & Pensabene, L. (2020). The Role of Prebiotics and Probiotics in Prevention of Allergic Diseases in Infants. Frontiers in pediatrics, 8, 583946. https://doi.org/10.3389/fped.2020.583946 Moossavi, S., Miliku, K.,
4. Hojsak, I., Snovak, N., Abdovic, S., Szajewska, H., Mišak, Z., & Kolaček, S. (2010). Lactobacillus GG in the prevention of gastrointestinal and respiratory tract infections in children who attend day care centers: a randomized, double-blind, placebo-controlled trial. Clinical nutrition, 29 3, 312-6.
5. Strandwitz P. (2018). Neurotransmitter modulation by the gut microbiota. Brain research, 1693(Pt B), 128–133. https://doi.org/10.1016/j.brainres.2018.03.015
6. World Health Organization. (2021). infant and young child feeding. Retrieved from https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/infant-and-young-child-feeding
7. Davani-Davari, D., Negahdaripour, M., Karimzadeh, I., Seifan, M., Mohkam, M., Masoumi, S. J., Berenjian, A., & Ghasemi, Y. (2019). Prebiotics: Definition, Types, Sources, Mechanisms, and Clinical Applications. Foods (Basel, Switzerland), 8(3), 92. https://doi.org/10.3390/foods8030092
8. The National Center for Complementary and Integrative Health. (2019). Probiotics: What You Need To Know. Retrieved from https://www.nccih.nih.gov/health/probiotics-what-you-need-to-know
9. Mayer EA, et al. Nat Rev Neurosci. 2011 Jul13;12(8): 453-66.
10. Van Oudenhove L, et al. Best Pract Res Clin Gastroenterol. 2004 Aug; 18(4):663-80.