MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ ดูแลครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่
บทความ

PLAYING: คุณแม่ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 28 สัปดาห์

Add this post to favorites

คุณแม่ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 28 สัปดาห์

ตอนนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ เริ่มต้นเข้าสู่การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 แล้ว คุณแม่ยังคงเผชิญกับอาการต่าง ๆ ของการตั้งครรภ์เหมือนเดิมที่เพิ่มเติมอาจมีอาการปวดหลัง ปวดสะโพกเพิ่มขึ้น พร้อมกับพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกน้อยในท้องอีกขึ้น ตอนนี้ลูกสามารถทำอะไรได้บ้าง ตัวโตขนาดไหน มาติดตามการเจริญเติบโตของลูกน้อยกันเลย!

2นาที อ่าน

สรุป

  • ช่วงของการตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ หน้าท้องของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้คุณแม่มีอาการปวดหลังเพิ่มขึ้น รวมถึงอาการนอนไม่หลับจากการดิ้นของลูกน้อย
  • ทารกในครรภ์มีขนาดตัวยาว ศีรษะโต ผิวย่น และมีขนคิ้วกับขนตาขึ้นบ้างแล้ว สัปดาห์นี้ลูกน้อยในท้องสนุกกับความสามารถใหม่นั่นคือ “การกระพริบตา” นั่นเอง
  • เพื่อการเติบโตและพัฒนาการทางสมองที่ดีของลูกน้อยในครรภ์ คุณแม่ควรเสริมอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารบำรุงประสาทและสมอง เช่น โอเมก้า 3,9 โคลีน และสังกะสี เป็นต้น

ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ลูกน้อยมีลำตัวที่ยาวขึ้น ศีรษะที่โตขึ้นกว่าเดิม ส่วนบริเวณผิวหนังของลูกน้อยเริ่มมีไขมันเกิดขึ้นที่ใต้ผิวหนังและเกิดรอยย่น บริเวณใบหน้าของลูกน้อยเริ่มมีขนคิ้วและขนตาขึ้นแล้ว นอกจากลูกน้อยจะได้ยินเสียงแล้วในสัปดาห์นี้ทารกยังสามารถกระพริบตาได้เพิ่มขึ้นอีกด้วยนะ

ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

ตอนนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ ซึ่งเท่ากับตั้งครรภ์ 7 เดือนแล้ว คุณแม่ใกล้คลอดเข้าไปอีกนิดเหลืออีกเพียง 2 เดือนจะได้เห็นหน้าลูกน้อยแล้ว

ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน

ลูกน้อยของคุณแม่กำลังอยู่ในท่ากลับหัวใกล้ช่องคลอด ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เหมาะสำหรับการคลอดลูกมากที่สุด

ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ คนท้องมีอาการแบบไหน ลูกในท้องมีพัฒนาการอย่างไร

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 28 สัปดาห์ เป็นอย่างไร

1. ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ ทารกมีขนาดตัวเท่าใด

ในช่วงนี้ลูกน้อยมีขนาดตัวประมาณ 15 นิ้วแล้ว น้ำหนักตัวก็เพิ่มขึ้นตาม ทำให้มดลูกขยายตัวตามขนาดตัวของทารก คุณแม่จึงรู้สึกอึดอัด เริ่มเดินอุ้ยอ้ายไม่สะดวกเหมือนเมื่อก่อน

2. ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง

ช่วงสัปดาห์ที่ 28 ของการตั้งครรภ์ วีคนี้คุณแม่จะสัมผัสได้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยได้มากขึ้นเพราะทารกมีการดิ้นแล้ว แต่จะดิ้นมากตอนกลางคืน

3. อวัยวะและระบบต่าง ๆ

เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ลูกน้อยในท้องเริ่มสนุกกับการกระพริบตาเพื่อฝึกไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าดวงตา ส่วนระบบการหายใจของลูกน้อยเริ่มดีขึ้น ยังคงมีการสะอึก การไออยู่บ้างทำให้คุณแม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวในท้อง แถมยังเริ่มรู้จักกับการฝันด้วย ไม่รู้ว่าตอนนี้ลูกน้อยกำลังฝันถึงคุณแม่อยู่ไหมนะ

การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 28 สัปดาห์

การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 28 สัปดาห์

ในช่วงนี้คุณแม่ท้องมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งรู้สึกถึงการหายใจที่ติดขัด หัวใจเต้นเร็วเพราะมดลูกที่โตขึ้นอาจไปเบียดกับกระบังลมทำให้หายใจไม่สะดวก เกิดอาการแน่นท้องหรือท้องอืดอยู่บ่อย ๆ ตามมาด้วยอาการบวมน้ำตามมือตามเท้า มีอาการปวดหลังร้าวลงขาเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องอุ้มลูกน้อยในท้อง คุณแม่บางคนอาจพบผื่นแพ้ตามผิวหนัง เป็นสิว นอนหลับยาก รวมถึงการเดินที่ลำบากไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม และอาจมีน้ำนมสีเหลืองไหลออกมาได้

อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ เป็นแบบไหน

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เข้าสู่สัปดาห์ที่ 28 ในไตรมาสสุดท้าย อาการของคุณแม่จะเริ่มแสดงอาการมากขึ้น โดยเฉพาะอาการปวด และอาการนอนไม่หลับ

  • หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่สะดวก เนื่องจากขนาดของมดลูกที่โตขึ้นตามขนาดตัวของทารกทำให้ไปเบียดกับกระบังลม คุณแม่ท้องเลยมักมีอาการหายใจไม่สะดวก หายใจเร็ว หายใจติดขัด และหายใจไม่อิ่มเกิดขึ้นจนบางครั้งทำให้คุณแม่รู้สึกว่าเหนื่อยง่าย
  • นอนไม่หลับ คนท้องมักเผชิญกับปัญหานอนไม่หลับทั้งมาจากการปวดหลัง ตะคริวบริเวณน่องขาและมาจากลูกน้อยดิ้น หรือเตะตอนกลางคืนโดยเฉพาะช่วงเวลาที่ลูกน้อยตื่นทำให้คุณแม่ถูกลูกน้อยรบกวนเวลานอน
  • ปวดหลังหรือสะโพกร้าวลงขา เนื่องจากขนาดตัวของลูกน้อยโตขึ้น ทำให้มดลูกขยายตัว และการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนที่ทำให้เส้นเอ็นรอบข้อต่อขยายออกและการหย่อนตัวทำให้คุณแม่เกิดอาการปวดหลังขณะตั้งครรภ์ขึ้น รวมถึงท่าทางการยืน เดิน นั่งในชีวิตประจำวันและน้ำหนักตัวอาจส่งผลต่ออาการปวดหลังด้วยเช่นกัน
  • ท้องแข็ง เมื่อมีอายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ในบางครั้งคุณแม่อาจรู้สึกว่าท้องแข็งหรือตึงหน้าท้อง เนื่องจากการหดรัดตัวของมดลูก ซึ่งอาการนี้ไม่ใช่อาการเจ็บท้องเตือนเป็นเพียงอาการมดลูกหดตัวเท่านั้นเอง ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นบางครั้งบางคราวตามกลไกของธรรมชาติ ยกเว้นแต่คุณแม่มีอาการท้องแข็งมากกว่า 10 ครั้งใน 1 วัน
  • น้ำนมไหล คุณแม่ไม่ต้องตกใจถ้าจู่ ๆ น้ำนมไหลออกมา โดยน้ำนมที่ไหลออกมานี้เป็นเพียงกลไกตามธรรมชาติเช่นเดียวกันเพราะการขยายตัวของเต้านมเพื่อเตรียมต้อนรับลูกน้อย และอาจมีสีเหลืองไม่ใช่สีขาวด้วย

อาหารคนท้อง 28 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง

ช่วงของการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 28 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์คุณแม่จึงควรเน้นอาหารที่ช่วยบำรุงร่างกายและสมองของลูกน้อยเป็นพิเศษในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอต่อร่างกาย ได้แก่

  1. อาหารจำพวกโอเมก้า 3,6 พบมากในเมล็ดทานตะวัน น้ำมันรำข้าว เนื้อปลา ซึ่งล้วนเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันดี มีสาร DHA, ARA ที่ช่วยในการเสริมสร้างประสาทตาและสมองของลูกน้อย รวมถึงพัฒนาการที่ดีด้วย
  2. ทานอาหารที่มีโคลีน โคลีนเป็นอีกหนึ่งสารอาหารพัฒนาสมองและระบบประสาทของทารก ซึ่งสามารถพบมากในตับ ไข่แดง ธัญพืชต่าง ๆ และนมวัว เป็นต้น คุณแม่จึงควรบำรุงลูกน้อยด้วยอาหารเหล่านี้ เพื่อความจำที่ดีในอนาคต
  3. เน้นอาหารที่มีสังกะสี เนื่องจากสังกะสีจะช่วยเสริมการทำงานของระบบประสาทได้ดีขึ้น แถมยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน โดยแหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ เนื้อวัว จมูกข้าวสาลี กุ้ง เป็นต้น

การอัลตราซาวด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 28 สัปดาห์

การตรวจอัลตราซาวด์ของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 28 คุณหมอจะตรวจประเมินการเติบโตและพัฒนาการของลูกในครรภ์จากขนาดของยอดมดลูกคุณแม่ ในครั้งนี้คุณหมอจะตรวจอัตราการเต้นหัวใจของลูกน้อยร่วมด้วย รวมถึงการวินิจฉัยภาวะรก ปริมาณน้ำคร่ำ และลักษณะรูปร่างของทารกในครรภ์เพื่อประเมินความสมบูรณ์ของลูกน้อยในท้อง

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์

ช่วงที่ตั้งครรภ์คุณแม่ต้องระมัดระวังเรื่องอาหารและกิจกรรมเป็นพิเศษ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในอนาคต

  • งดสูบบุหรี่และไม่ควรเข้าใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  • ระวังเรื่องการทานยา เพราะยาบางประเภทส่งผลต่อลูกน้อยผ่านทางรก ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุความพิการแต่กำเนิดได้
  • การตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เมื่อคุณแม่มาฝากครรภ์คุณหมอจะทำการตรวจเบาหวานจากการเจาะหาระดับน้ำตาลในเลือด โดยให้คุณแม่กินน้ำตาลก่อนและหลังกินน้ำตาล การเจาะเลือดถ้าค่าปกติคุณแม่ไม่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหาร หากค่าน้ำตาลของคุณแม่มีค่ามากกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร คุณหมออาจนัดคุณแม่มาตรวจอีกครั้งโดยครั้งนี้อาจต้องงดน้ำงดน้ำตาลอย่างน้อย 8 ชั่วโมง

อ้างอิง:

  1. เทคนิคคุณแม่ตั้งครรภ์ดูแลครรภ์ 9 เดือนอย่างมีคุณภาพ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  2. 28 Weeks Pregnant, What to expect
  3. การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์และพัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
  4. 6 วิธีดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์, โรงพยาบาลบางปะกอก 3
  5. กายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดหลังส่วนล่างขณะตั้งครรภ์, ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. เจ็บแบบไหนต้องรีบพบแพทย์, โรงพยาบาลสินแพทย์
  7. ฝากครรภ์แต่ละครั้งตรวจอะไรบ้าง, โรงพยาบาลเปาโล
  8. คัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์, โรงพยาบาลเปาโล
  9. เจ็บครรภ์แบบไหนต้องรีบพบแพทย์, โรงพยาบาลสินแพทย์

อ้างอิง ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2566