MyFeed Personalized Content
รวมเคล็ดลับ ดูแลครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่
บทความ

PLAYING: คุณแม่ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 4 สัปดาห์

Add this post to favorites

คุณแม่ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารก อายุครรภ์ 4 สัปดาห์

หากคุณแม่เริ่มมีอาการประจำเดือนไม่มา เพลีย เหนื่อย เต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น คัดเจ็บเต้านม อาจเริ่มต้นตรวจการตั้งครรภ์ด้วยปัสสาวะด้วยตนเอง ซึ่งสามารถตรวจได้หลังปฏิสนธิอย่างน้อย 6 วัน หรือตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมน HCG โดยจะสามารถตรวจได้หลังการปฏิสนธิ 2 สัปดาห์ เมื่อคุณแม่ทราบผลว่าตั้งครรภ์ น้ำหนักตัวอาจจะยังคงที่หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1-3 กิโลกรัม และอาจจะมีอาการแพ้ท้องเพิ่มเติม เช่น อาการคลื่นไส้หรืออาเจียน เนื่องมาจากระดับฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือรับประทานอาหารไม่ได้หรือรับประทานได้น้อย ซึ่งส่งผลให้ทารกในครรภ์อาจจะไม่ได้รับสารอาหารสำหรับบำรุงสมองอย่างเพียงพอ และคุณแม่อาจจะเกิดภาวะขาดสมดุลของเกลือแร่และวิตามินตามมาอีกด้วย

2นาที อ่าน

สรุป

  • คุณแม่อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ ช่วงนี้คุณแม่อาจมีอาการบางอย่างเกิดขึ้นเช่น ประจำเดือนไม่มาตามกำหนด เพลียและเหนื่อยง่าย หรืออาจะมีอาการแพ้ท้องเพิ่มเติมเช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งมีสาเหตุจากระดับฮอร์โมนในร่างกายคุณแม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ทารกในครรภ์ยังมีขนาดเล็กมาก โดยมีลักษณะเป็นถุงครรภ์และตัวอ่อนมีขนาดเล็กมาก แต่เป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มมีการสร้างดวงตาและแขน
  • คุณแม่ต้องหลีกเลี่ยงอาหารและงดพฤติกรรมต่างๆ ที่อาจเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้ อาทิ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ รวมถึงการใช้ร่างกายหักโหมมากจนเกินไป

ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

คุณแม่อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญช่วงเวลาหนึ่ง เนื่องจากทารกในครรภ์จะมีการเจริญเติบโตเร็วมาก คุณแม่ควรทำการฝากครรภ์เพื่อให้คุณหมอได้ติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์ตลอดระยะเวลาจนถึงคลอด ในช่วงนี้หากมีการติดเชื้อไวรัส ยาที่รับประทานหรือสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการเจริญเติบโต หากทารกในครรภ์ได้รับในช่วงนี้ อาจจะเกิดความพิการได้ เนื่องจากช่วงระยะเวลานี้ ทารกในครรภ์เริ่มมีการสร้างแขน ขา และตา คุณแม่ควรระมัดระวังและดูแลสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงเพื่อการเจริญเติบโตที่ดีของทารกในครรภ์

ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ เท่ากับอายุครรภ์ 1 เดือนเต็ม หรืออยู่ในช่วงไตรมาสที่ 1 (ช่วงอายุครรภ์ 1-3 เดือน)

ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 4 สัปดาห์ ทารกในครรภ์ยังมีขนาดเล็กมาก โดยจะเริ่มมีการสร้างดวงตา หัวใจและแขน แต่จะยังฟังเสียงหัวใจของทารกในครรภ์ไม่ได้

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 4 สัปดาห์ เป็นอย่างไร

1. ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ ทารกมีขนาดตัวเท่าใด

ทารกในครรภ์จะมีขนาดประมาณ 0.25 นิ้ว หรือมีขนาดเท่ากับเมล็ดงาดำ

2. ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง

เนื่องจากทารกยังมีขนาดเล็กมาก ซึ่งในอายุครรภ์ช่วง 4 สัปดาห์นี้ ทารกจะยังไม่มีการดิ้นหรือเคลื่อนไหวใดๆ

3. อวัยวะและระบบต่าง ๆ

อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ จะยังเป็นเพียงตัวอ่อนที่มีขนาดเล็กมาก แต่เริ่มมีการสร้างหัวใจ ตาและแขน

การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 4 สัปดาห์

คุณแม่ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เริ่มไม่มีประจำเดือน คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด คัดเต้านม คุณแม่ควรหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รวมทั้งสุขภาพจิตให้ดีเพื่อรับมือกับอาการแพ้ท้องที่เกิดขึ้นได้

อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ เป็นแบบไหน

  • ท้องอืด คุณแม่เกิดอาการท้องอืดเนื่องจากปริมาณฮอร์โมนในร่างกายที่สูงขึ้น ส่งผลให้ร่างกายย่อยอาหารได้น้อยลง จึงเกิดอาการท้องอืดได้
  • ปวดท้องเล็กน้อย อาจเกิดได้จากการฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูก ทำให้มดลูกขยายตัว ซึ่งส่งผลให้คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 4 สัปดาห์อาจเกิดอาการปวดท้องน้อยได้
  • มีเลือดออก หากมีอาการเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรพบแพทย์ทันทีเพื่อจะได้ทราบสาเหตุของอาการมีเลือดออกซึ่งมาจากหลายปัจจัย อาทิ ภาวะแท้งคุกคาม ภาวะท้องลมหรือท้องโดยไม่มีตัวอ่อน ความผิดปกติของมดลูก เป็นต้น เพื่อการรักษาที่ทันท่วงทีและไม่เกิดอันตรายกับคุณแม่และทารกในครรภ์
  • อารมณ์แปรปรวน เกิดมาจากระดับฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้คุณแม่เกิดอาการอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย และอาจพัฒนามาเป็นภาวะเครียดได้เช่นกัน
  • แพ้ท้อง อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนอย่างรวดเร็ว หากอาการแพ้ท้องมีผลต่อการรับประทานอาหารจนส่งผลให้เกิดภาวะขาดสารอาหารหรือภาวะขาดน้ำ อาจะส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ คุณแม่ควรเข้าพบแพทย์ทันที
  • อ่อนเพลีย อาการอ่อนเพลียมาจากสาเหตุที่ร่างกายของคุณแม่มีการทำงานหนักมากขึ้น หรือเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอก็ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลียได้เช่นกัน
  • คัดหน้าอก ในช่วงระยะเริ่มตั้งครรภ์ เต้านมมีการเปลี่ยนแปลงเช่น เต้านมตึงขึ้นและขยายขนาดเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำหนักเต้านมเพิ่มขึ้นหนักขึ้น เมื่อมีการสัมผัสจะรู้สึกแสบหรือเจ็บ

อาหารคนท้อง 4 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง

คุณแม่ควรเน้นรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นอาหารคนท้องที่มีธาตุเหล็กสูง อาทิ เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เพื่อช่วยในการสร้างฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ อีกทั้งอาหารจำพวกผักผลไม้ เพื่อลดอาการท้องผูกซึ่งเป็นอาการที่พบมากในคุณแม่ตั้งครรภ์ ทั้งนี้อาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานควรเลือกสรรอาหารที่สะอาด และปรุงให้สุกด้วยนะคะ

อาหารคนท้อง 4 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง

การอัลตราซาวด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 4 สัปดาห์

คุณแม่ที่อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ เมื่อมีการอัลตราซาวด์จะพบแค่เพียงถุงครรภ์ เนื่องจากทารกในครรภ์ยังมีขนาดที่เล็กมาก ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่คุณแม่จะอัลตราซาวด์ในช่วงอายุครรภ์นี้

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 4 สัปดาห์

อาหารและกิจกรรมที่คุณแม่ท้อง 4 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยง

คุณแม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติเท่ากับก่อนตั้งครรภ์ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงหรือลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต อาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ข้าว และอาหารกลุ่มกรดไขมันก็ควรหลักเลี่ยงเช่นกัน เช่น น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม และไขมันจากสัตว์ นมไขมันต่ำ รวมถึงงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพราะจะส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์โดยตรง และเสี่ยงต่อการแท้งได้

การตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ควรมีการวินิจฉัยภาวะเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากหากมีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ศอาจจะส่งผลให้ทารกที่เกิดมา มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเมื่อมีอายุมากขึ้นอีกด้วย

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 4 สัปดาห์

ว่าที่คุณแม่หลายๆ คนคงเริ่มตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชีวิต และศึกษาเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจให้พร้อมสำหรับวันที่ลูกน้อยจะลืมตาออกสู่โลกภายนอก ระยะเวลาตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ คือช่วงเวลามหัศจรรย์ช่วงเวลานึงที่จะค่อยๆ ปรับตัวเรียนรู้กันไปทั้งคุณพ่อ คุณแม่ รวมไปถึงลูกน้อยในครรภ์ด้วยค่ะ

อ้างอิง:

  1. อาการระหว่างตั้งครรภ์ เรื่องสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้, โรงพยาบาลพญาไท
  2. คำแนะนำ คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1 (อายุครรภ์ 1-3 เดือน), โรงพยาบาลเปาโล
  3. คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1-3, โรงพยาบาลบางปะกอก
  4. 4. การเจริญและการพัฒนาของทารกในครรภ์เดือนที่ 1, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
  5. ท้องหรือไม่ดูอย่างไร (ฉบับ Update ปี 2566), โรงพยาบาลเพชรเวช

อ้างอิง ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2566