MyFeed Personalized Content
บทความ

PLAYING: ลูกน้อยบอบบางห่างไกลอาการแพ้ แค่ สังเกต-เลี่ยงเสี่ยง-เสริมสร้าง

Add this post to favorites

ลูกน้อยบอบบางห่างไกลอาการแพ้ แค่ สังเกต-เลี่ยงเสี่ยง-เสริมสร้าง

ลูกน้อยในวัยบอบบางเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ได้ง่าย พ่อแม่สามารถรับมือและคัดกรองความเสี่ยงให้ลูกน้อยห่างจากอาการแพ้ พร้อมเสริมสร้างเกราะคุ้มกัน

2นาที อ่าน

ไขข้อข้องใจอาการแพ้ของลูกที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

 

ระบบภูมิคุ้มกันของลูกน้อยบอบบางและยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงไปกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ต่อสิ่งรอบตัวได้ง่าย ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองกับสารก่อภูมิแพ้ไวมากกว่าผู้ใหญ่ โดยสารก่อโรคภูมิแพ้นั้นก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน ส่วนใหญ่มักจะเป็นสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ ได้แก่ ไรฝุ่น, ละอองเกสรดอกไม้, ซากแมลงสาบ, ขนหรือรังแคของสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ รวมไปถึงอาหารประเภทต่าง ๆ ด้วย 
 
คุณแม่ทราบหรือไม่ว่า 50% ของเด็กไทยในปัจจุบันเสี่ยงเป็นภูมิแพ้ ดังนั้นคุณแม่ยุคใหม่ควรทำความเข้าใจเรื่องโรคภูมิแพ้ในเด็ก  ซึ่งสามารถแบ่งอาการแพ้ของลูกน้อยตามกลุ่มอาการเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

1. อาการแพ้ที่ตา จะมีอาการคัน และเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล หนังตาบวม แสบตา โดยส่วนใหญ่เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ ซึ่งมักจะมีอาการร่วมกับอาการแพ้ที่จมูก จนทำให้ลูกเป็นภูมิแพ้ที่ตาได้ 
2. อาการแพ้ที่จมูก หรือที่เรียกว่าแพ้อากาศ จะมีอาการจาม คันจมูก คัดจมูก น้ำมูกไหล ออกทางจมูกหรือไหลลงคอบ้าง บางรายอาจมีอาการคันเพดานปากหรือคอ หากเป็นนาน ๆ อาจมีเสมหะเล็กน้อย ซึ่งถือว่าเป็นประเภทของอาการแพ้ที่พบบ่อยที่สุด โดยมีสาเหตุจากสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น, ซากแมลงสาบในบ้าน, ขนหรือรังแคของสัตว์เลี้ยง, ละอองเกสรดอกไม้, มักจะมีความไวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิหรือความชื้นในอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการติดเชื้อที่ทำให้เกิดอาการป่วยของระบบทางเดินหายใจด้วย ถือว่ารบกวนคุณภาพชีวิตของลูกน้อยอย่างมาก มีงานวิจัยพบว่าเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคสมาธิสั้นนั้นมีความสัมพันธ์กับภาวะภูมิแพ้และโรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มากกว่าคนปกติ
3. อาการแพ้ที่หลอดลม หรือหืดหอบ จะมีอาการไอ หอบเหนื่อย หายใจขัด แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด หายใจลำบาก หรือ หายใจเร็ว โดยเฉพาะเวลาตอนกลางคืน ตอนเช้ามืด ขณะที่ออกกำลังกายหรือขณะเป็นไข้หวัด
4. อาการแพ้ที่ผิวหนัง จะมีอาการ คัน ผดผื่นขึ้นตามตัว มักเป็นผื่นแห้ง แดง มีสะเก็ดบาง ๆ หรือมีน้ำเหลืองแห้งกรังอยู่ โดยในเด็กเล็ก มักเป็นผื่นที่แก้ม ซอกคอ ส่วนเด็กโตมักเป็นที่ข้อพับของแขนและขา บางรายอาจมีอาการเป็นผื่นลมพิษ โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการแพ้อาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเล แพ้แมลงกัดต่อย หรือ แพ้ยา
5. อาการแพ้ที่ระบบทางเดินหายใจ จะมีอาการแพ้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปากบวม ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย อาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจ และผิวหนังร่วมด้วย เช่น หอบหืด ผื่น ลมพิษต่าง ๆ สาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่ตนเองแพ้ เช่น นมวัว, ไข่, ถั่ว, อาหารทะเล, ผักหรือผลไม้บางชนิด บางรายอาจแพ้สารปรุงแต่งต่าง ๆ ในอาหาร

 

Family enjoy their dinner

 

คุณพ่อคุณแม่สังเกตปัจจัยเสี่ยง ช่วยหลีกเลี่ยงอาการแพ้

 

สิ่งสำคัญที่คนเป็นพ่อแม่ต้องรู้เท่าทันคือ ควรสังเกตอาการผิดปกติของลูกน้อยในเบื้องต้นให้ได้ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการแรกเริ่มที่ทำให้ลูกเป็นภูมิแพ้ ซึ่งอาจขัดขวางให้ลูกมีพัฒนาการช้าลง แทนที่จะได้สนุกกับการเล่นและการเรียนรู้ โดยอาการยอดฮิตที่เด็กวัยจิ๋วมักเป็น ได้แก่ อาการไอ, จาม, คัดจมูก, หอบหืด, มีผื่น, ลมพิษ, บวมแดง, คันตามผิวหนัง, คันหรือเคืองตา, หนังตาบวม เป็นต้น 

นอกจากการสังเกตอาการแล้ว ยังมีวิธีการทดสอบมาตรฐานวิธีต่าง ๆ ที่สามารถช่วยคัดกรองความเสี่ยงในการแพ้ของลูกน้อย ให้รู้ได้แน่ชัดยิ่งขึ้นว่าลูกน้อยของเราบอบบางหรือแพ้อะไรบ้าง หากคุณพ่อคุณแม่พาลูกไปพบคุณหมอ ก็จะมีการซักประวัติสุขภาพรวมถึงประวัติความเจ็บป่วยของคนในครอบครัวร่วมด้วย


1. การทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง (Allergy Skin test) ทำโดยนำน้ำยาที่มีสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น, ซากแมลงสาบ, รังแคของสุนัขและแมว, เกสรหญ้า, เชื้อรา เป็นต้น หรือเป็นสารสกัดจากอาหาร เช่น นมวัว ไข่แดง ไข่ขาว ถั่วเหลือง แป้งสาลี ถั่วเปลือกแข็งหรืออาหารทะเล เป็นต้น มาทดสอบกับผิวหนัง มักใช้วิธีการสะกิดผิวหนัง (Skin Prick test) โดยหยดน้ำยาที่มีสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนังที่แขน แล้วใช้เข็มสะกิดตรงกลางหยดน้ำยา เพื่อเปิดผิวหนังชั้นบนออก ใช้เวลารอผลประมาณ 10-15 นาที หากเกิดผื่นแดง และรอยนูนขนาดโตกว่า 3 มม. แสดงว่าให้ผลบวก ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ทำง่าย เร็ว ไม่เจ็บ ใช้อุปกรณ์น้อย และเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ทั่วร่างกายน้อย
2. การหาปริมาณของ IgE ที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด ทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยแล้วนำไปวิเคราะห์ เพื่อหาปริมาณ IgE ที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ที่เราสงสัยในร่างกาย ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมในต่างประเทศ แต่ไม่ค่อยนิยมในประเทศไทย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงและไม่สามารถทราบผลได้ทันที โดยการตรวจหาปริมาณ IgE ที่จำเพาะนี้จะแม่นยำ และถือว่าเป็นมาตรฐานการตรวจเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้โดยจะมีค่าตัวเลขที่น่าเชื่อถือได้ของการแพ้อาหารแต่ละชนิดขึ้นกับอายุด้วย ซึ่งต่างจากการตรวจ IgG ที่ไม่สามารถเอามาประเมินอะไรได้เลย 
3. ประวัติครอบครัวมีความสำคัญมากในการประเมินความเสี่ยงโรคภูมิแพ้ สิ่งแรกที่ควรพิจารณาคือ ประวัติภูมิแพ้ของพ่อแม่ การใช้เครื่องมือประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ สามารถช่วยป้องกันหรือวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้นของการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ Sensitive Check

 

Mom and daughter drink milk at home

 

คุณพ่อคุณแม่ช่วยเสริมสร้างเกราะภูมิคุ้มกัน

 

ในวันที่ลูกยังบอบบาง คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลและป้องกันลูกน้อยจากอาการแพ้ ง่าย ๆ ด้วย 6 วิธี ดังนี้

1. หมั่นคอยดูแลสุขอนามัยของลูกน้อย ทำความสะอาดบ้านสม่ำเสมอ, เก็บกวาดบ้านทุกซอกมุม, ซักผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ และล้างแอร์เป็นประจำ รวมถึงเก็บของที่มักเก็บกักฝุ่นให้ห่างจากลูก เช่น พรมหรือตุ๊กตาที่มีขน 
2. หลีกเลี่ยงการพาลูกน้อยไปยังสถานที่ที่เต็มไปด้วยฝุ่นละออง, ควันธูป, ควันบุหรี่ หรือสถานที่ที่มีผู้คนแออัด 
3. หากลูกน้อยแพ้รังแคของสัตว์ที่มีขน เช่น สุนัข แมว อาจต้องควบคุมและแยกสัตว์เลี้ยงออกจากลูก เช่น เลี้ยงนอกบ้าน 
4. หากลูกมีอาการแพ้อาหาร ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทนั้น
5. หากในครอบครัวมีประวัติภูมิแพ้ ควรให้นมแม่อย่างน้อยที่สุด 6 เดือนหรือนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะ นมแม่มีสารอาหารกว่า 200 ชนิด รวมทั้งโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน และ 2’FL ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่พบในนมแม่ ที่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภูมิแพ้ได้ เพราะ
•  นมแม่มีโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน และมีเวย์โปรตีนสูงซึ่งย่อยง่าย จึงทำให้ดูดซึมได้ดีกว่า เนื่องจากลูกในช่วง 6 เดือนแรก เยื่อบุทางเดินอาหารยังไม่แข็งแรง รวมถึงน้ำย่อยอาหารยังมีไม่มาก และสารภูมิคุ้มกันที่จะคอยดักจับสิ่งแปลกปลอมยังมีไม่มากพออีกด้วย ดังนั้นการได้รับนมแม่จึงช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ได้ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมที่แข็งแกร่งให้กับร่างกายลูกด้วยค่ะ
• โปรตีนนมแม่เป็นชนิดที่ไม่แปลกปลอม จึงไม่ก่อให้เกิดการแพ้ เมื่อลูกกินนมแม่ก็จะทำให้ได้รับโปรตีนชนิดดี ย่อยง่าย และมีสารภูมิคุ้มกันที่จะไปเคลือบเยื่อบุลำไส้    เปรียบเหมือน เป็นการสร้างเกราะป้องกันลำไส้ให้กับลูกน้อยเพื่อลดอาการแพ้ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
• นอกจากนี้ยังพบว่าในนมแม่มี 2’FL โอลิโกแซคคาไรด์ซึ่งเป็นพรีไบโอติกส์ชนิดที่พบมากที่สุดในนมแม่ และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลายสายพันธุ์ เช่น บิฟิดัส บีแอล ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ โดยสังเกตได้จากทารกที่ได้รับนมแม่จะ มีการเกิดภูมิแพ้น้อยกว่า และมีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า  
6. ฉีดวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เป็นวิธีการที่คุณหมอจะเลือกใช้เมื่อการหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้และการใช้ยาแล้วไม่ได้ผลเท่านั้น

หากคุณแม่ดูแลลูกน้อยตามแนวทางเบื้องต้น ร่วมกับการให้โภชนาการที่เหมาะสมตามวัยและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอแล้ว จะช่วยป้องกันปัจจัยเสี่ยงโรคภูมิแพ้ ให้ลูกรักเติบโตแข็งแรง มีพัฒนาการสมวัยพร้อมเรียนรู้ และช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

ตรวจทานความถูกต้องโดย ศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์

แหล่งอ้างอิง
- Amarin Baby&Kids. รับมือกับปัญหาลูกทารก. คู่มือเลี้ยงลูกยุคใหม่ ฉบับสมบูรณ์; 127-140.
- รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน (2555) . จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่. สืบค้นจาก https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=977.
- คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล. โรคภูมิแพ้ .สืบค้นจาก https://mt.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/home/main/health-brochure/2…
- ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. Allergy. สืบค้นจาก http://www.thaipediatrics.org/pages/Doctor/Detail/44/198
- โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ .ภูมิแพ้ในเด็ก เรื่องที่พ่อแม่ต้องรู้. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=-dXhq9U3Fjg