MyFeed Personalized Content
บทความ

PLAYING: วิธีแก้ปัญหาเจ็บหัวนมและปัญหาอื่นๆ จากการให้นมลูก

Add this post to favorites

วิธีแก้ปัญหาเจ็บหัวนมและปัญหาอื่นๆ จากการให้นมลูก

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จำเป็นต้องฝึกฝนและต้องอดทนในบางครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บหัวนม คัดเต้านม และปัญหาอื่นๆจากการให้นมลูก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนมีวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น

3นาที อ่าน

การเจ็บหัวนม


โดยทั่วไปแล้ว การให้นมหลังการคลอดบุตรใหม่ๆ จะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บเล็กน้อย แต่มันจะหายไปภายใน 1 นาทีหลังจากลูกเริ่มดูดนม การเจ็บหัวนมอาจเกิดเพราะการอมหัวนมไม่เหมาะสม (เพราะท่าให้นมลูกไม่ดี) ลูกกัดเพราะเคยให้ลูกดูดนมจากขวดหรือเคยให้ดูดจุกนมปลอม หรือใช้เครื่องปั๊มนมที่กรวยปั๊มมีขนาดไม่เหมาะสม แล้วฉันควรทำอย่างไร?

วิธีแก้ปัญหาเจ็บหัวนม และปัญหาอื่นๆ จากการให้นมลูก

วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น
ให้ผิวของแม่และลูกสัมผัสกัน ในขณะให้ลูกดูดนม ถ้าลูกกำลังร้องไห้ หรือเครียด จะช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายขึ้น
• เมื่อลูกสงบและเริ่มมองไปรอบๆ ก็เป็นเวลาที่เหมาะสมในการเอาลูกเข้าเต้า
• ลองให้นมลูกด้วยการอุ้มท่าต่างๆ เช่น ท่าอุ้มลูกแบบนอนขวางบนตัก (cross-cradle) และท่าอุ้มลูกแบบอุ้มลูกฟุตบอล (rugby hold) ทั้งสองท่านี้จะช่วยพยุงศีรษะและคอของลูก ช่วยให้ลูกอมหัวนมได้ดีขึ้น
• ถ้าจมูกของลูกถูกกดด้วยเต้านมของคุณ ให้อุ้มลูกต่ำลงเล็กน้อย จมูกของลูกจะเคลื่อนออกมาและคางจะเคลื่อนเข้าไปใกล้เต้านม ซึ่งจะช่วยให้ลูกอมหัวนมได้ดีขึ้น ระวังอย่าให้ศีรษะของลูกแหงนไปข้างหลังมากเกินไป
• ให้ลูกดูดนมจากเต้าที่เจ็บน้อยสุดก่อน เพื่อลดแรงดูดบนหัวนมข้างที่ไวกับการสัมผัส
• การนำลูกออกจากเต้านม ไม่ควรดึงลูกออกจากเต้านม ถ้าเขายังอมและยังไม่หยุดดูดนม ถ้าต้องการให้ลูกหยุดดูดนม ให้สอดนิ้วมือไประหว่างเต้านมของคุณกับเหงือกของลูก แล้วจึงค่อยเอาเขาออกจากเต้า
• บีบเต้านมให้น้ำนมไหลออกมาสัก 2-3 หยด นำมาทาที่ลานนมและหัวนมเพื่อป้องกันและลดการเจ็บหัวนม แล้วปล่อยให้แห้งหลังจากให้นมลูกเสร็จเรียบร้อยแล้ว
• ถ้าคุณใช้เครื่องปั๊มนม ให้เลือกขนาดที่เหมาะสมที่สุด ผู้ให้คำแนะนำในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยอาจช่วยดูและแนะนำกรวยน้ำนมที่เหมาะสมกับคุณได้
• เสื้อที่สัมผัสกับเต้านมของคุณควรทำจากผ้าฝ้าย (เสื้อชั้นในสำหรับคุณแม่ให้นม หรือเสื้อแบบหลวมๆ)
• ถ้าหัวนมของคุณเจ็บจนไม่อยากให้สัมผัสกับเสื้อชั้นในหรือผ้า ให้คุณสวมฝาครอบหัวนม (breast shell) ที่มีรูเปิดขนาดใหญ่บริเวณหัวนม และมีรูระบายอากาศเหนือหัวนม และใต้เสื้อชั้นในของคุณ


อาการคัดเต้านม


คืออาการที่เต้านมแข็งและบวม ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับเต้านมทั้งสองเต้าช่วงหลังคลอดบุตรใหม่ๆ อาจเกิดจากการให้ลูกดูดนมไม่บ่อยพอ หรืออาจเป็นเพราะเริ่มให้ลูกดูดนมช้าเกินไป การสร้างน้ำนมในปริมาณมาก น้ำนมไหลไม่ดีหรือดูดนมไม่หมดเต้า ให้อาหารเสริมอื่น ลูกหย่านมเร็วหรือหย่านมแบบทันทีทันใด หรือเต้านมบวมน้ำ

วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น
ลดความดันภายในเต้านมของคุณให้เร็วที่สุด ด้วยการให้ลูกดูดนม ใช้มือบีบเพื่อระบายน้ำนม หรือใช้เครื่องปั๊มนมปั๊มน้ำนมออก ถ้าเต้านมของคุณคัดตึงมากจนลูกอมหัวนมไม่ได้ ให้ใช้มือบีบ หรือปั๊มออก เพื่อระบายนมออกมาก่อน
• ให้ลูกดูดนม หรือใช้เครื่องปั๊มนมทุก 2 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้มีการสร้างน้ำนมและลดอาการคัดเต้านม จำไว้ว่าเด็กแรกเกิดควรได้ดูดนมแม่อย่างน้อย 8-12 ครั้งในช่วง 24 ชั่วโมง
• อาบน้ำอุ่น หรือนำผ้าชุบน้ำอุ่นมาวางบนเต้านม
• ถ้าลูกดูดนมไม่นานพอที่จะทำให้เต้านมอ่อนลง ให้ใช้เครื่องปั๊มปั๊มน้ำนมออกมาจนรู้สึกสบายเต้านมทั้งสองข้าง
• ใช้แผ่นประคบเย็นระหว่างที่รอเวลาให้นม
• ถ้าแขนหรือหน้าแข้งของคุณบวมเพราะมีของเหลวส่วนเกินคั่งอยู่ เต้านมของคุณก็อาจบวมได้เช่นกัน พยายามระบายของเหลวส่วนเกินออกจากหัวนมและลานนม โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งของคุณจับที่ฐานของหัวนม แล้วกดเข้าไปในหน้าอกประมาณ 1 นาที หัวนมจะเริ่มอ่อนลง ช่วยให้การให้นมลูกหรือปั๊มนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ


อาการเจ็บเสียวภายในเต้านม


คุณอาจรู้สึกเจ็บเสียว เพราะเต้านมของคุณกำลังปรับตัวเพื่อการให้นมลูก

วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น
• ถ้าอาการเจ็บเสียวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาทีและเกิดตอนที่คุณเริ่มให้นมลูก ก็ไม่จำเป็นต้องกังวล มันเป็นสัญญาณปกติของการไหลของน้ำนมออกมาจากเต้านม


อาการเจ็บเต้านม


คุณมีอาการเจ็บเต้านมใน 2-3 วันแรกหรือไม่ อาการเต้านมตึงแต่ไม่บวมในช่วงไม่กี่วันแรกหลังคลอดบุตร อาจเกิดจากการเปลี่ยนผ่านของน้ำนมจากน้ำนมช่วงแรกไปเป็นน้ำนมช่วงหลัง โดยจะใช้เวลาประมาณ 2-5 วันหลังคลอด ถ้าคุณรู้สึกว่าเต้านมเจ็บ หรือร้อน มีรอยแดงแผ่ขยายใหญ่ขึ้น หรือรู้สึกว่ามีไข้ (อุณภูมิสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส) ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจมีการติดเชื้อที่เต้านม และจำเป็นต้องได้รับการรักษา

วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น
• นวดเบาๆ ที่ด้านบนของเต้านม
• ใช้แผ่นประคบร้อน หรือเย็นเพื่อลดอาการเจ็บ
• อาบน้ำอุ่น
• ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ อย่างน้อย 8 – 12 ครั้งภายในเวลา 24 ชั่วโมง
• อุ้มลูกด้วยท่าที่ถูกต้องในระหว่างที่ให้นม โดยลูกควรจะนอนหันทั้งตัวเข้าหาคุณ
• ตรวจดูว่าลูกอมหัวนมและลานนมเกือบทั้งหมดไว้ในปาก ลิ้นของลูกอยู่ด้านล่างลานนมของแม่ จำไว้ว่าต้องให้ลูกหยุดดูดก่อนแล้วค่อยเอาเขาออกจากเต้า โดยค่อยๆ สอดนิ้วมือของคุณเข้าไประหว่างหัวนมของคุณ และเหงือกของลูก


น้ำนมพุ่ง


น้ำนมของคุณที่ไหลพุ่งออกมาอาจจะทำให้ลูกไอ สำลัก หรือหันหน้าหนีจากเต้านม การตอบสนองของฮอร์โมนที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน หรือการสร้างน้ำนมมากเกินไปมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนี้

วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น
• ลูกจะบังคับการไหลของน้ำนมได้ดีขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่าอุ้มตอนให้นมไปเป็น ท่าอุ้มลูกแบบอุ้มลูกฟุตบอลที่ตัวลูกตั้งตรง ท่าให้นมโดยให้ลูกนอนด้านข้าง หรือการให้นมในท่านอน
• ระบายน้ำนมบางส่วนเพื่อลดการไหลพุ่งออกมาในตอนต้น ก่อนจะให้ลูกดูดนม
• ใช้ฝาครอบเก็บน้ำนม (breast shield) เพื่อป้องกันน้ำนมที่ไหลพุ่งออกมาตอนเริ่มให้นมก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่การใช้อย่างถูกต้องก็เป็นเรื่องสำคัญ จึงควรปรึกษากับผู้ให้คำแนะนำเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ เพื่อจะได้ใช้ได้อย่างเหมาะสม


หัวนมแตก


การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจทำให้หัวนมของคุณแตก และไวกับการสัมผัส ซึ่งเกิดขึ้นได้ในช่วงที่มีการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรก หรืออาจเกิดจากการทำความสะอาดหัวนมด้วยสบู่ หรือการใช้สารอื่นๆ ที่ทำให้ผิวแห้ง เช่น แอลกอฮอล์

วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น
• ลองใช้บาล์มอ่อนๆ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น (แบบที่ไม่มีลาโนลิน มีส่วนผสมที่ช่วยให้ผิวนุ่มนวลจากธรรมชาติที่มีโอกาสแพ้น้อย) เพื่อบรรเทาอาการหัวนมแตก หรือคัดตึงเต้านม
• ทำความสะอาดเต้านมและหัวนมอย่างนุ่มนวลด้วยสบู่อ่อน และน้ำ ไม่ใช้สบู่มากเกินไป และไม่ใช้แอลกอฮอล์เช็ด เพราะจะทำให้ผิวแห้งและแตก
• บีบเต้านมแล้วใช้น้ำนมที่ไหลออกมา ทาบนหัวนม แล้วปล่อยให้ระเหยจนแห้งไปเอง
• วางแผ่นเจลนุ่มๆ ไว้ในเสื้อชั้นในของคุณเพื่อป้องกันการเสียดสี


ท่อน้ำนมอุดตัน


การมีก้อนแข็งที่จับแล้วทำให้รู้สึกเจ็บบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้อาจเป็นสัญญาณว่ามีท่อน้ำนมอุดตัน ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การดูดนมจากเต้าน้อยเกินไป (ดูดนมไม่เกลี้ยงเต้า) มีเนื้อเยื่อแผลเป็นในเต้านม การสวมเสื้อชั้นในแบบมีโครง เสื้อชั้นในคับไป การป้อนนมด้วยท่าเดิมทุกครั้งที่ให้ลูกดูดนม หรือการที่ท่อน้ำนมอุดตัน

วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น
• ประคบร้อน (ทั้งแห้งหรือเปียก) ตรงส่วนที่ท่อน้ำนมอุดตัน ด้วยการอาบน้ำร้อน หรือประคบด้วยผ้าชุบน้ำร้อน
• ให้ลูกดูดนม หรือใช้มือบีบเต้านมตอนที่เต้ายังคงอุ่นอยู่
• ให้ลูกดูดนมข้างที่เจ็บก่อน และพยายามให้ลูกดูดนมข้างนี้นานกว่าอีกข้าง
• นวดบริเวณที่ท่อน้ำนมตันทั้งในตอนที่ลูกดูดนม และระหว่างรอให้นมลูก
• ปรับเปลี่ยนท่าทางที่ให้ลูกดูดนม
• หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อชั้นในที่คับ หรือเสื้อชั้นในที่มีโครง เพราะอาจไปขัดขวางการไหลของน้ำนม
• ถ้าก้อนยังไม่หายไป และเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง หรือส่วนที่เป็นสีแดงแผ่ขยายออก เต้านมคุณอาจกำลังติดเชื้อ และคุณอาจมีไข้ คุณจึงควรไปพบแพทย์ที่ดูแลคุณในทันที

วิธีแก้ปัญหาเจ็บหัวนม

กระบวนการหลั่งน้ำนมเกิดขึ้นช้า


การที่ต้องรอนานกว่า 10 นาที ก่อนที่น้ำนมจะไหลออกมาจากเต้า อาจเกิดเพราะรู้สึกเครียด หรือวิตกกังวลกับการให้นม หรืออาจเกิดจากท่านั่งที่ไม่สบายในขณะให้นมลูก หรืออาจเกิดจากความรู้สึกเจ็บในขณะให้นมลูก

วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น
• พยายามผ่อนคลายด้วยการร้อง หรือฮัมเพลง อ่านหนังสือ หรือพูดคุยกับลูกอย่างผ่อนคลายในระหว่างที่ให้นม
• ใช้มือนวดเต้านมเบาๆ ก่อนจะอุ้มลูกขึ้นมาแนบอก ให้ลูกดูดนมในสถานที่สงบ และมีบรรยากาศที่ไม่เครียด
• ปรับท่าทางการให้นมลูกให้คุณรู้สึกสบายมากขึ้น


น้ำนมไหลออกมาเอง


น้ำนมอาจไหลออกจากเต้าเองตอนที่รอให้นมลูกครั้งต่อไป มันอาจเกิดเมื่อใกล้ถึงเวลาให้นม หรืออาจเกิดจากการตอบสนองของฮอร์โมนเมื่อได้ยินเสียงร้องของเด็กทารก

วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น
• ใช้แผ่นซับน้ำนม หรือพับผ้าเช็ดหน้าสะอาดๆ วางไว้ในเสื้อชั้นในเพื่อซับน้ำนม อย่าลืมเปลี่ยนมันบ่อยๆ แผ่นซับน้ำนมที่สะอาด ช่วยป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเจริญเติบโต
• ออกแรงกดลงไปตรงๆ ที่หัวนมของคุณ เพื่อลดการตอบสนอง


ปริมาณน้ำนมลดลง


มีหลายสาเหตุที่อาจทำให้การสร้างน้ำนมลดลง โดยไม่เกี่ยวกับความสามารถของร่างกายในการสร้างน้ำนม สาเหตุที่พบบ่อยๆ ได้แก่
• การเลี้ยงลูกด้วยนมผง
• การกลับไปทำงาน
• ผลข้างเคียงจากยาทำให้การสร้างน้ำนมลดลง
• การมีความเครียดเพิ่มขึ้นมาก และทันทีทันใด
• การที่คุณดื่มน้ำไม่เพียงพอ

วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น
• จัดตารางเวลาให้ลูกดูดนมบ่อยขึ้น หรือปั๊มนมบ่อยขึ้น ในแต่ละวัน
• ให้ผิวคุณสัมผัสกับผิวลูกในระหว่างที่ให้นมลูก
• นวดเต้านมก่อนให้ลูกดูดนม และระหว่างที่ลูกกำลังดูดนม
• พยายามผ่อนคลายไปกับลูก และหาเวลาพักผ่อน
• ทำตัวสบายๆ และดื่มน้ำให้มากขึ้น


มีการสร้างน้ำนมมากเกินไป


ถ้าคุณรู้สึกว่าเต้านมมีน้ำนมอยู่เต็ม และน้ำนมไม่หมดเต้าแม้จะให้ลูกดูดนมจนอิ่ม น้ำนมอาจพุ่งออกมาหลังลูกดูดนมจนพอแล้ว คุณอาจเห็นว่าลูกรู้สึกไม่ค่อยสบายหลังจากดูดนมไปได้ไม่กี่นาที และเอาปากออกจากเต้านมของคุณบ่อยๆ สาเหตุที่พบบ่อยๆ ที่ทำให้มีการสร้างน้ำนมมากเกินไป ได้แก่ ฮอร์โมน การปั๊มนมมากเกินไป หรือการปรับตัวในการสร้างน้ำนมช่วงทารกเพื่อให้มีน้ำนมเพียงพอกับความต้องการของลูกในช่วง 4-6 สัปดาห์แรกหลังจากคลอด

วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น
• ลูกจะบังคับการไหลของน้ำนมได้ดีขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่าอุ้มตอนให้นมไปเป็น ท่าอุ้มลูกแบบอุ้มลูกฟุตบอลที่ตัวลูกตั้งตรง ท่าให้นมโดยให้ลูกนอนด้านข้าง หรือการให้นมในท่านอน
• ให้ลูกดูดนมเต้าเดียวในการป้อนนมแต่ละครั้ง ถ้ารู้สึกไม่สบายเต้าอีกข้างในขณะที่รอเวลาให้นมครั้งต่อไป ให้ปั๊มนมจนรู้สึกสบายขึ้น โดยอาจใช้เวลาปั๊มแค่เพียงไม่ถึงหนึ่งนาที
• ให้ลูกดูดนมจากเต้านมเดิม ถ้าเขาต้องการดูดนมอีกภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง นับจากการให้นมครั้งล่าสุด


ลูกอมหัวนมได้ยาก


ลูกอ้าปากแล้วอมหัวนมแต่ว่าดูดนมไม่ได้ สาเหตุที่พบบ่อยๆ ได้แก่ การใช้ขวดหรือจุกนมปลอม หัวนมแบนหรือหัวนมบุ๋ม หรือลูกอาจจะขี้เซาเกินไป

วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น
• ไม่ใช้จุกนมปลอมและไม่ให้ลูกดูดนมจากขวดในช่วง 3-4 สัปดาห์แรก เพื่อสร้างความคุ้นเคยในการดูดนมจากเต้า
• ให้ผิวของแม่สัมผัสกับผิวลูกให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในระหว่างที่รอให้นม เพื่อช่วยให้ลูกหลับสนิทและได้พักผ่อนมากขึ้น และพร้อมกับการดูดนมครั้งต่อไป
• ให้นมเมื่อลูกเริ่มส่งสัญญาณว่าเขารู้สึกหิว บีบให้น้ำนมไหลออกมาอยู่บนหัวนมของคุณสักสองสามหยด ก่อนจะให้ลูกดูดนม
• ระบายน้ำนมปริมาณเล็กน้อยออกจากเต้าของคุณโดยอาจใช้มือหรือเครื่องปั๊มนมแล้วค่อยให้นมลูก เพื่อให้ลานนมนุ่มและกระตุ้นให้น้ำนมไหล ลูกจะได้ดูดนมได้ทันที
• ลองเปลี่ยนท่าอุ้มให้นมลูก
• ถ้าใช้เครื่องปั๊มนมแล้วยังกระตุ้นหัวนมที่แบนหรือบุ๋มไม่สำเร็จ ให้ลองใช้แผ่นป้องกันหัวนม โดยถามผู้ให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถึงวิธีการใช้ที่ถูกต้อง เพราะถ้าใช้ไม่ถูกก็อาจทำให้ต้องกังวลเรื่องอื่นเพิ่มขึ้น

อ้างอิง

1. KentJ, et al. Int J Environ Res Public Health. 2015 Oct; 12(10): 12247–12263.
2. Cunningham, F. G., Leveno, K. J., Bloom, S. L., Spong, C. Y., Dashe, J. S., Hoffman, B. L., Sheffied, J. S.(Eds.). (2014). Williams obstetrics (24th ed.). New York: McGraw-Hill Education.
3. Giugliani, E. R. J., et al. 2004 Journal de Pediatria, 80(5), 147–154.