MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: วิธีสังเกตอาการลูกแพ้อาหาร พร้อมวิธีป้องกัน

Add this post to favorites

วิธีสังเกตอาการลูกแพ้อาหาร พร้อมวิธีป้องกัน

การแพ้อาหารในทารก อันตรายกว่าที่คุณพ่อแม่คิด ดังนั้นควรศึกษาวิธีสังเกตอาการแพ้อาหารในเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้และป้องกันไม่ให้ลูกแพ้อาหาร

2นาที อ่าน

การแพ้อาหารในทารกคือ การที่ทารกรับประทานอาหารเข้าไปแล้วเกิดความผิดปกติในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้อง ผดผื่นขึ้นตามร่างกาย ซึ่งอาการแพ้อาหารนั้น ไม่จำเป็นเฉพาะแค่การรับประทานแล้วแพ้เท่านั้น แต่รวมไปถึงการสัมผัสอาหารชนิดนั้นๆ

การแพ้อาหารแบ่งออกเป็น อาหารที่อาจก่อให้เกิดการอาการแพ้ประกอบด้วยนมวัว ไข่ แป้งสาลี ถั่วเหลืองถั่วลิสง เมล็ดถั่วประเภทพืชยืนต้น (tree nuts) และอาหารทะเล เป็นต้น และอาหารที่มีความเสี่ยงในการเกิดภูมิแพ้ต่ำ ได้แก่ ข้าว ผักสีเขียวเนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาน้ำจืด แครอท ฟักทอง มะละกอ ส้ม กล้วย เป็นต้น

 

เด็กรับประทานอาหาร

 

วิธีลดความเสี่ยงต่อการแพ้อาหารของลูกน้อย

 

เริ่มทีละขั้น

 

เพื่อลดความเสี่ยงลูกแพ้อาหาร ลูกน้อยควรได้รับประทานนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก กรณีที่คุณแม่ต้องหยุดให้นมลูกหรือต้องให้อาหารชนิดอื่นเพิ่มเติม คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับอาหารที่เหมาะสมกับลูกน้อย การเริ่มอาหารเสริมตามวัย ควรเริ่มฝึกป้อนอาหารด้วยช้อนหลังอายุ 6 เดือนไปแล้ว โดยอาจเริ่มจากอาหารเสริมธัญพืช เช่น ข้าว จากนั้นตามด้วยผักสีเขียวอ่อนๆก่อนแล้วค่อยไล่ให้สีเข้มขึ้น เนื้อสัตว์ ผักสีส้มแดง เช่น แครอท ฟักทอง ผลไม้ และไข่แดง ค่อย ๆ เพิ่มอาหารทีละหนึ่งชนิด และเว้นระยะ 3 – 5 วันก่อนเพิ่มอาหารชนิดใหม่ ถ้าคุณหรือคนในครอบครัวมีคนเป็นโรคภูมิแพ้อาหาร คุณควรชะลอการเพิ่มอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการภูมิแพ้ไปก่อน อย่าเพิ่มอาหารที่ทำจากนมวัวล้วน ๆ จนกว่าทารกน้อยจะมีอายุอย่างน้อย 9 – 12 เดือน สำหรับไข่ขาวควรเริ่มหลังอายุ 9 เดือน ที่สำคัญคืออาหารควรปรุงเองและทำให้สุกสนิท ควรให้นมแม่ หรือในกรณที่ให้นมแม่ไม่ได้ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการเลือกโภชนาการที่เหมาะสม

 

สังเกตอาการแพ้อาหารของลูก

 

อาการแพ้อาหารของลูก มีทั้ง “อาการแบบเฉียบพลัน” คือรับประทานอาหารเข้าไปแล้วเกิดอาการทันที หรือภายในไม่เกิน 2 ชั่วโมง ซึ่งอาจมีผื่นขึ้น เป็นลมพิษ หน้าบวม ปากบวม หรือหายใจติดขัดจนสามารถเสียชีวิตได้ และ “อาการแบบเรื้อรัง” คือมีอาการถ่ายเหลว ปวดท้องเรื้อรัง ซึ่งทารกบางรายจะมีอาการปวดท้องตลอดหลังรับประทานอาหารเข้าไป บางรายถ่ายเป็นมูกปนเลือด หรือบางรายลำไส้อักเสบมากจนไม่สามารถดูดซึมอาหารเข้าไปได้ ทำให้เด็กผอม น้ำหนักน้อย ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่ค่อนข้างอันตราย หรือในอีกกรณีคือ “อาการแบบผสมระหว่างเฉียบพลันและเรื้อรัง” ซึ่งจะมีอาการมากกว่าสองระบบขึ้นไป เช่น มีน้ำมูก คัดจมูกเรื้อรัง ร่วมกับอาการถ่ายเหลวมีมูกปนเลือด

 

ข้อควรจำ

 

เนื่องจากการจัดอาหารที่ประกอบด้วยสารอาหารที่เหมาะสมกับลูกน้อยของคุณเป็นสิ่งสำคัญ คุณแม่ควรตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญก่อนจำกัดอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง อาการแพ้อาหารจะแสดงภายในเวลาไม่กี่นาทีหรืออาจใช้เวลาหลายชั่วโมง ดังนี้
• ระบบผิวหนัง เป็นอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นที่ผิวหนัง เช่น ผื่นแดง ตุ่มนูนคันคัดและเป็นลมพิษ หรือมีตาบวม ปากบวม
• ระบบทางเดินหายใจ เป็นอาการแพ้ที่แสดงอาการ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ, หายใจหอบ 
• ระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน, ปวดท้อง, ท้องเสีย และอาจถ่ายเป็นมูกปนเลือด
อาการอื่นๆที่พบได้ คือ แพ้รุนแรงจนช็อค เลี้ยงไม่โต เป็นต้น อาการแพ้แต่ละประเภทมีความรุนแรงที่แตกต่างกัน หากคุณสงสัยว่าลูกน้อยมีอาการแพ้อาหาร ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที

 

เด็กรับประทานอาหาร

 

แพ้อาการเป็นแล้วหายได้ไหม?

 

การแพ้อาหารของทารกเกิดขึ้นเนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงดี ดังนั้นเมื่อโตขึ้นอาการเหล่านี้สามารถหายไปได้ แต่ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยที่รวดเร็ว ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและชนิดอาหารที่เด็กแพ้ด้วย เช่น หากแพ้นมวัว เมื่ออายุ 3 ขวบขึ้นไป เด็กกว่า 80% จะมีอาการแพ้นมวัวดีขึ้น หากแพ้ไข่ขาวมีโอกาสหาย 50% เมื่ออายุ 3 ขวบขึ้นไป แพ้แป้งสาลีมีโอกาสหาย 50% เมื่ออายุ 5 ปีขึ้นไป สำหรับการแพ้อาหารทะเลในขวบปีแรก อาจจะหายไปหลังอายุ 5 ปี แต่หากลูกแพ้ถั่วลิสงหรือถั่วเปลือกแข็ง มักจะแพ้จนเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นเมื่อมีอาการแพ้อาหารดังกล่าว ก็ควรให้หลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดอาการแพ้รุนแรงและควรติดตามการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นระยะ

 

วิธีป้องกันลูกแพ้อาหาร

 

เพราะการแพ้อาหารของทารกไม่ใช่เรื่องล้อเล่น และมีหลายคนที่ยังไม่เข้าใจถึงอันตรายจากการแพ้อาหาร เพื่อป้องกันลูกแพ้อาหาร หรืออันตรายจากการกินอาหารที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ พ่อแม่สามารถทำได้ดังนี้

1. ให้ทารกกินนมแม่ 6 เดือนขึ้นไป เพราะนมแม่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ในทารก

2. ช่วงที่คุณแม่ที่ให้นมลูก ควรทานอาหารให้สมดุลครบ 5 หมู่ ไม่จำเป็นต้องงดอาหารกลุ่มเสี่ยง แต่ก็ไม่ควรทานอาหารกลุ่มเสี่ยงเป็นประจำเกือบทุกวัน ให้ทานอาหารที่หลากหลาย เพราะการที่แม่งดอาหารกลุ่มเสี่ยงจะทำให้คุณค่าสารอาหารจากนมแม่มีไม่เพียงพอสำหรับทารก

3. การให้อาหารเสริมกับลูก ควรเริ่มเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป และต้องค่อยๆ ให้ลูกเริ่มทีละอย่าง เช่น ข้าวขาว ผักสีเขียว เนื้อสัตว์ ผักส้มแดง และไข่แดงอย่างเดียวก่อนไข่ขาว เพราะไข่ขาวมีโปรตีนสูง แต่อาจทำให้ลูกแพ้ได้ หรือควรกินปลาน้ำจืดก่อนปลาทะเล เป็นต้น 

4. อ่านฉลากอาหารให้ดีและควรหลีกเลี่ยงขนม อาหารเสริม หรืออาหารนอกบ้านหากไม่แน่ใจในวัตถุดิบที่ใช้ปรุง

5. เตรียมอาหารให้ลูกเอง เพราะคุณแม่จะรู้ดีว่าลูกแพ้อะไร และสามารถกินอะไรได้บ้าง ซึ่งหากจำเป็นจะต้องเดินทาง คุณแม่ควรจะทำอาหารเตรียมพร้อมไปไว้ให้ลูกด้วย


แหล่งอ้างอิง
- การแพ้อาหารในเด็ก รู้ก่อนเกินแก้. สืบค้นจาก https://babylove.co.th/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0…