MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: เรียกพลังใจในยามที่ลูกเป็นเด็กเหวี่ยงวีน

Add this post to favorites

เรียกพลังใจในยามที่ลูกเป็นเด็กเหวี่ยงวีน

เด็กเป็นวัยอยากรู้อยากเห็น การดูแลพฤติกรรมลูกต้องให้ความสนใจมากขึ้น เพราะวัยนี้เริ่มมีอารมณ์ร่วมกับสิ่งต่างๆ เวลาสุขก็สุขแบบสุดๆ เวลาโกรธก็โกรธแบบสุดๆ เช่นกัน

1นาที อ่าน

หากลูกของเรามีพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก โดยเฉพาะลูกน้อยวัย 2 – 3 ขวบ หรือ “วัยซน” เกิดอารมณ์งอแง เหวี่ยงวีน หรือที่เรียกว่า “วายร้าย 2 ขวบ” (Terrible two) ช่วงนี้ลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ และมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น จะเอาชนะพ่อกับแม่อย่างเดียว เช่น “หนู/ผมจะเอานั่นเอานี่” และที่สำคัญต้องได้ด้วยนะ บางทีถึงกับไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ อาละวาด กรีดร้องลั่นบ้านหรือ ขว้างปาข้าวของ ร้องไห้ไม่มีสาเหตุ หรือแม้แต่พี่น้องทะเลาะกันก็สามารถสร้างความเครียดให้กับพ่อแม่ได้

 

เรียกพลังใจในยามที่ลูกเป็นเด็กเหวี่ยงวีน

 

อาการแบบนี้ทำให้พ่อแม่ถึงกับกุมขมับจนบางครั้งพาลหัวเสียเอาดื้อๆ หนักไปกว่านั้นอาจทำให้ถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้งกันเองระหว่างคุณพ่อกับคุณแม่ได้ด้วย หากเป็นเช่นนั้นปล่อยไว้ไม่ได้แล้วนะคะ ต้องรีบแก้ไข สิ่งแรกที่ต้องจัดการไม่ใช่จัดการไปที่ลูกค่ะ แต่เป็นการจัดการอารมณ์ของพ่อแม่นั่นเอง

 

ชวนพ่อแม่เรียกพลังใจในยามที่ลูกเป็นเด็กเหวี่ยงวีน

 

ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันการเลี้ยงลูกยากขึ้นกว่าสมัยก่อน เพราะปัจจัยแวดล้อมที่มีผลกระทบด้านพฤติกรรมและด้านจิตใจของลูกมีมากขึ้น สิ่งสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงการรับมือเมื่อลูกเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดื้อซน เกเร หรือปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ ได้แก่

พ่อแม่ต้องนิ่งให้เป็น เย็นให้ได้ก่อน อย่าเหวี่ยงวีนตามอารมณ์ของลูกไปด้วยนะคะ แม้ว่าในเวลานั้นคุณจะเหนื่อยกลับมาจากที่ทำงาน และต้องมารองรับอารมณ์เจ้าหนูจอมเกเรบ้าง บางครั้งคำว่า “Time Out” หรือช่วงเวลาพักเบรกจิตใจในมุมสงบๆ สามารถช่วยคุณพ่อคุณแม่ได้นะคะ หาเวลาว่างหลังจากเสร็จกิจวัตรประจำวัน เช่น หลังรับประทานอาหารเย็น หามุมสงบๆ ภายในบ้านอ่านหนังสือ ชมนกชมไม้ สักพัก พอผ่อนคลายช่วยปรับอารมณ์ได้ดีทีเดียว

นอกจากลูกแล้ว อย่าลืมดูแลใส่ใจความรู้สึกระหว่างกันของคุณพ่อและคุณแม่ด้วยนะคะ แม้ว่าพ่อเหนื่อยจากที่ทำงาน แม่เหนื่อยจากการดูแลลูก ดูแลบ้าน เมื่อเหนื่อยกับเหนื่อยมาเจอกัน แบบนี้ไม่ดีแน่ ลองหาเวลาว่างจากการดูแลลูก ไปเที่ยวกันสองต่อสองหรือเลี้ยงฉลองเล็กๆ กันสองคนในวันสำคัญของเรา เพื่อเติมความหวาน เติมกำลังใจซึ่งกันและกันในโอกาสพิเศษๆ เช่น ครบรอบวันแต่งงาน ให้ดอกไม้แก่กันในวันวาเลนไทน์เหมือนกับที่เคยให้ตอนที่เป็นแฟนกัน หรือซื้อของขวัญชิ้นเล็กๆ ให้กันและกัน รวมไปถึงการให้ของขวัญกับตัวเองจากการทำงานหนัก เหนื่อย ถือเป็นการเติมพลังใจให้ตนเองได้นะคะ

 

อย่าลืมว่า ความรัก ความเข้าใจ และความใส่ใจซึ่งกันและกันของคุณพ่อคุณแม่ พลังแห่งความรักนี้จะส่งต่อไปให้กับลูกน้อยได้ไม่ยาก รักต้องควบคู่กับความเข้าใจ จึงเกิดเป็นสายใยของครอบครัว เริ่มต้นที่ตัวและหัวใจของคุณพ่อคุณแม่ก่อนเลย