MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: พัฒนาการเด็กทารก 5 เดือน กับเคล็ดลับเสริมพัฒนาการเมื่อลูกเริ่มพลิกคว่ำ

Add this post to favorites

พัฒนาการเด็กทารก 5 เดือน กับเคล็ดลับเสริมพัฒนาการเมื่อลูกเริ่มพลิกคว่ำ

ทำความเข้าใจพัฒนาการเด็ก 5 เดือน ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ พร้อมเคล็ดลับกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 5 เดือน เพื่อส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีสมวัย ร่างกายแข็งแรง

2นาที อ่าน

พัฒนาการเด็ก 5 เดือน

เด็ก 5 เดือนจะเริ่มโต และคุณพ่อคุณแม่จะเริ่มเห็นพัฒนาการของลูกที่ชัดเจนขึ้น โดยจะเริ่มมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นหลายด้าน เช่น เริ่มที่อยากจะเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ยอมนอนนิ่งๆ พยายามจะพลิกคว่ำ เหยียดแข้งขา พยายามเอื้อมมือไปหยิบจับสิ่งของ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพัฒนาการอีกหลายด้านที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ พร้อมเคล็ดลับกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 5 เดือน มาอ่านกันได้ที่นี่เลยค่ะ เรามีคำแนะนำมาบอกกัน

พัฒนาการเด็กทารก 5 เดือน ด้านร่างกาย

ข้อมูลจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้บอกไว้ว่า พัฒนาการเด็ก 5 เดือน
• เด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักตัวและส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 6 – 7.5 กิโลกรัม ส่วนสูง 61 – 67 เซนติเมตร
• เด็กผู้หญิงจะมีน้ำหนักตัวและส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 5.5 – 7 กิโลกรัม ส่วนสูง 59 – 66 เซนติเมตร ในช่วงนี้ลูกจะเริ่มเอื้อมมือไปหยิบจับหรือถือสิ่งของใกล้ตัวมาเขย่า ตี นำเอาเข้าปากไปอม ถือขวดนมเองในท่านอนหงายได้ สามารถใช้ฝ่ามือทั้ง 2 ข้าง ยันตัวขึ้นจนข้อศอกเหยียดตรง หน้าท้องและหน้าอกยกขึ้นพ้นพื้น

พัฒนาการเด็กทารก 5 เดือน ด้านสติปัญญา

ลูกจะสามารถฟังคนพูด แสดงความสนใจเมื่อมีคนพูดด้วย หันตามเสียงเรียกได้ถูกทิศทาง แม้ว่าลูกวัย 5 เดือน จะยังไม่เข้าใจความหมายของคำพูดก็ตาม แต่สามารถส่งเสียงอ้อแอ้โต้ตอบได้มากขึ้น ลูกสามารถเลียนแบบการเล่นปาก เล่นเสียงได้ เช่น จุ๊บปาก เป๊าะปากได้ เป็นต้น ยิ้มเล่นกับตนเองในกระจก และชอบส่งเสียงเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น

พัฒนาการเด็กทารก 5 เดือน ด้านอารมณ์ และจิตใจ

พัฒนาการเด็ก 5 เดือน ลูกจะเริ่มแสดงอารมณ์มากขึ้น เช่น เมื่ออารมณ์ดี มีความสุขก็จะส่งเสียงหัวเราะ ยิ้มแย้ม หรือร้องไห้เมื่อรู้สึก กลัว หงุดหงิด หรือถูกขัดใจ รู้สึกตื่นตัวเมื่อมีคนเข้ามาในห้อง หรือมีคนเข้ามาเล่นด้วย เป็นต้น

พัฒนาการเด็กทารก 5 เดือน ด้านโภชนาการ

ลูกในช่วงวัย 5 เดือน แนะนำคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อลูกโตขึ้น มีพัฒนาการด้านต่างๆ ลูกจึงต้องการพลังงานเพิ่ม นอกเหนือจากการให้ลูกกินนมจากเต้าแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจต้องปั๊มนมเก็บไว้ด้วย หรือในกรณีที่คุณแม่บางท่านน้ำนมเริ่มมีไม่พอ หรือต้องกลับไปทำงาน ทำให้ไม่สะดวกให้นมลูกในทุกมื้อ อาจจะพิจารณาให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกสูตรที่ตรงกับช่วงวัยของลูก
กรณีคุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ ข้อมูลจากโรงพยาบาลพญาไทได้แนะนำไว้ว่า หลังอายุ 1 เดือน ให้ใช้สูตร 4 ออนซ์/กก./วัน แบ่ง 6 มื้อ/วัน ( ระยะห่างระหว่างมื้อประมาณ 4 ชั่วโมง ) เช่น ลูกน้ำหนัก 7 กิโลกรัม ควรได้รับนม 4 x 7 = 28 ออนซ์ ต่อวัน แบ่งได้ มื้อละ 4.6 ออนซ์ ทุก 4 ชั่วโมง ต่อวัน วันละ 6 มื้อ หรือจะปัดเศษลงระดับครึ่งออนซ์ เป็น มื้อละ 4.5 ออนซ์ ทุก 4 ชั่วโมง ต่อวัน วันละ 6 มื้อ เป็นต้น

ซึ่งต้องชงให้ถูกอัตราส่วนตามอัตราส่วนที่ระบุข้างบรรจุภัณฑ์ พร้อมคำนึงถึงโภชนาการในนมผงดัดแปลง ให้มีสารอาหารที่ครบตามความต้องการของร่างกายลูก เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี และการเจริญเติบโตที่แข็งแรง

พัฒนาการเด็ก 5 เดือน ด้านโภชนาการ

เคล็ดลับส่งเสริมพัฒนาการเด็กทารก 5 เดือน

การกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 5 เดือน คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ง่ายๆ ตามคำแนะนำของ คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ดังนี้

1. ส่งเสริมกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหว

ควรจัดลูกให้อยู่ในท่านอนคว่ำ คุณพ่อคุณแม่ถือของเล่นที่มีสีสันหรือมีเสียงกรุ๋งกริ๋งไว้ด้านหน้าเหนือศีรษะลูก เรียกชื่อลูกให้เขามองมาที่ของเล่น แล้วค่อยๆ เคลื่อนของเล่นขึ้น เพื่อให้ลูกสนใจ ยกศีรษะและลำตัวตามจนพ้นพื้น และแขนเหยียดตรงมือยันพื้นไว้ หรือกระตุ้นให้ลูกเอื้อมมือมาจับของเล่น โดยการวางของเล่นไว้ใกล้ๆ ให้เขาพยายามไขว่คว้าหยิบไปเล่น
เด็ก 5 เดือน สามารถหยิบจับสิ่งของได้บ้างแล้ว ดังนั้น ของเล่นที่นำมาให้ลูกเล่นไม่ควรเป็นของมีคม แนะนำเป็นพวกตุ๊กตาผ้าที่มีเสียงกรุ๋งกริ๋ง และควรนำของเล่นลูกไปทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

2. ส่งเสริมการเรียนรู้ และให้ลูกอารมณ์ดี

คุณพ่อคุณแม่ควร ยิ้มแย้ม พูดคุยโต้ตอบกับลูก เพื่อให้เขาเลียนแบบการพูดเป็นการช่วยฝึกให้เขาพูดได้ เรียกชื่อลูกในทิศทางต่างๆ เพื่อให้เขาหันตาม โอบกอดลูกพร้อมอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น เพราะได้รับความรัก หรือเปิดเพลงให้ลูกฟัง เป็นต้น

กิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการวัยเด็ก 5 เดือน นี้ บางอย่างแม้ลูกอาจจะทำไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรบังคับนะคะ ค่อยๆ เล่นกับลูกไปเรื่อยๆ นอกจากเรื่องพัฒนาการของลูกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจแล้ว เรื่องอาการผิดปกติก็ห้ามละเลยเช่นกัน ทั้งนี้หากคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการ หรือเกิดความผิดปกติใดๆ ขึ้นกับลูก ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาที่เหมาะสมต่อไป

อ้างอิง
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, รู้เท่าทันน้ำหนัก-ส่วนสูง แนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จากโครงการพัฒนาเเหล่งน้ำ : ด้านโภชนาการ, 4 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/files/AW-WeightHeight.PDF
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, ตารางพัฒนาการเด็กปฐมวัย, 4 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/617
โรงพยาบาลพญาไท, ให้นมแม่อย่างปลอดภัย สบายใจยิ่งขึ้น ด้วยหลัก “1 2 3”, 4 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3eIEaz0