MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: ปริมาณนมที่ทารกต้องการ ของเด็กแต่ละช่วงวัย

Add this post to favorites

ปริมาณนมที่ทารกต้องการ ของเด็กแต่ละช่วงวัย

นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดของลูก ควรได้รับในปริมาณที่เพียงพอ มาดูปริมาณน้ำนมที่ทารกแต่ละวัยต้องการ พร้อมวิธีคำนวณน้ำนมให้เพียงพอเพื่อการเติบโตที่ดีของลูกน้อย

2นาที อ่าน

ปริมาณนมที่ทารกต้องการ ของเด็กแต่ละช่วงวัย

 

นมแม่ คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก เพราะในน้ำนมแม่ทุกหยดนั้นให้ทั้งคุณค่าด้านโภชนาการและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อลูกน้อยมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง โดยทั่วไปน้ำนมแม่จะผลิตจากเต้าประมาณ 600-900 ซีซี/ วัน ซึ่ง คุณแม่ทุกคนจึงทำทุกวิถีทางให้น้ำนมแม่มีเพียงพอต่อความต้องการของลูก หากคุณแม่วิตกกังวลว่าน้ำนมน้อยเกินไป ไม่ต้องเป็นกังวลจนเกินไปนะคะ เพราะเรามีวิธีง่ายๆ ในการกระตุ้นน้ำนมให้ไหลเพียงพอต่อความต้องการของเจ้าตัวเล็กอย่างแน่นอน ทำอย่างไรบ้างมาดูค่ะ

 

3 วิธีกระตุ้นน้ำนมแม่ให้ไหลเพียงพอต่อปริมาณนมที่ทารกต้องการ

 

1. นวดเต้านมกระตุ้นการไหลเวียนบริเวณเต้านม
คุณแม่ล้างมือและเต้านมให้สะอาดแล้วใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้าไว้ 3-5 นาทีก่อนการให้นม จะช่วยลดการเกิดท่อน้ำนมตันหรือเต้านมเป็นไตและยังทำให้คุณแม่มีน้ำนมเพิ่มขึ้นด้วย


2. การดื่มน้ำให้มากๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
น้ำช่วยในการรักษาสมดุลต่างๆ ในร่างกาย รวมไปถึงการผลิตน้ำนมให้ลูกน้อยในแต่ละวัน คุณแม่จึงควรดื่มน้ำเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นน้ำเปล่า น้ำขิง น้ำเต้าหู้ หรือน้ำแกงเลียงหัวปลี ก็ยิ่งช่วยกระตุ้นให้น้ำนมมาเยอะขึ้น นอกเหนือจากน้ำ การรับประทานอาหารก็สำคัญเช่นกัน เพราะร่างกายจะดึงสารอาหารเพื่อไปผลิตน้ำนมให้ลูก คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย และครบ 5 หมู่ เน้นไปทางผักสด ผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ ปลา และธัญพืชต่างๆ ควรรับประทานสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อนบ้างซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้ร่างกายอบอุ่น เลือดไหลเวียนดีขึ้นส่งผลให้มีน้ำนมมากด้วย


3. การพักผ่อนให้เพียงพอ
คุณแม่ต้องหาช่วงเวลางีบในตอนกลางวัน และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น พร้อมผลิตน้ำนมได้เต็มที่และที่สำคัญ คุณแม่ต้องพยายามคิดบวก ไม่เครียด เพราะความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำนมน้อยลง คุณแม่ต้องพยายามหาวิธีผ่อนคลายให้ตัวเอง ทำจิตใจให้สบาย ฟังเพลง หรือนึกถึงแต่สิ่งดีๆ

เมื่อคุณแม่มีน้ำนมแล้ว คำถามต่อมาที่คุณแม่ส่วนใหญ่มักสงสัย คือ “ถ้าให้นมลูกไปเรื่อยๆ จะรู้ได้ไงว่าลูกได้รับนมแม่เพียงพอ” บทความนี้มีข้อสังเกตหลักๆ 4 ข้อจากศ.พญ.วันดี วราวิทย์ มาฝาก เพื่อให้คุณแม่สังเกตตนเองได้ค่ะ

 

4 วิธีสังเกตว่าปริมาณนมที่ลูกดื่มเพียงพอหรือไม่

 

1. สังเกตได้จากการกลืนของลูก
คุณแม่สามารถสังเกตดูว่าลูกอิ่มไหมได้จากการกลืน เมื่อลูกคาบหัวนมแม่ และเริ่มดูดที่หัวนม น้ำนมแม่เริ่มไหลออกมา ลูกจะอมหัวนมเข้าไว้ในปากลึกขึ้น เวลาที่ลูกกลืนนมให้สังเกตได้จากขากรรไกรล่างเคลื่อนลงล่างขณะที่กลืน หากลูกได้รับน้ำนมไม่พอ จะเห็นว่าลูกดูดนมอย่างเร็ว และแรง ไม่กลืนตามจังหวะการกลืนตามปกติ เมื่อดูดไปสักพักลูกจะหยุดดูดนมไประยะหนึ่ง เมื่อหายเหนื่อยแล้วจะดูดใหม่จนเหนื่อยหลับคาเต้า หากเป็นเช่นนี้หลายๆ มื้อนม แสดงว่าดูดนมจนเหนื่อยหลับไปโดยที่ลูกอาจจะยังไม่อิ่ม


2. สังเกตปฏิกิริยาหลังดูดนม
จะรู้ได้ไงว่าลูกอิ่มให้สังเกตหลังดูดนมหรือขณะกินนม จะพบว่าบางคนกระดิกเท้า เพื่อแสดงความพอใจ และอารมณ์ดี ยิ้มแย้ม เล่นได้ เพราะลูกอิ่มท้องจะมีความสุข แต่ถ้าลูกมีอาการซึม หรือแสดงออกในทางตรงข้าม เช่น หลังมื้อนม มีอาการงอแง ร้องเสียงดัง แม้ว่าเพิ่งดูดนมไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ร้องกินอีกแล้ว และหน้าท้องของลูกแฟบ เพราะกระเพาะว่าง แสดงว่าลูกกินไม่อิ่ม


3. ผ้าอ้อมบอกอาการ
ผ้าอ้อม ก็สามารถบอกอาการอิ่มหรือไม่อิ่มนมของลูกได้นะคะ เช่น เมื่อแม่มีน้ำนมให้ลูกได้อิ่มนมเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เขาจะต้องระบายน้ำออกจากร่างกายทางปัสสาวะจึงเปียกผ้าอ้อมบ่อย 6 -10 ครั้ง และมีการขับถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 3 ครั้งต่อวัน แต่ถ้าหากได้รับน้ำนมแม่น้อย ลูกจะไม่ค่อยถ่ายปัสสาวะหรือขับถ่ายอุจจาระ อีกทั้งเวลาถ่าย อุจจาระจะมีลักษณะเหนียวสีเขียวเข้มเพราะมีน้ำย่อยออกมาทางอุจจาระด้วย


4. น้ำหนักตัวของลูกสำคัญที่สุด
จะรู้ได้ไงว่าลูกอิ่มนมไหม และน้ำนมเพียงพอสำหรับการเติบโตของลูกหรือไม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ดูที่น้ำหนักตัว เมื่อลูกได้รับน้ำนมเพียงพอ น้ำหนักตัวจะขึ้นเร็ว หากน้ำหนักตัวลูกลดเกินร้อยละ 10 หลังเกิดในสัปดาห์แรก อาจมีสาเหตุมาจากการได้รับน้ำนมแม่ไม่พอต่อความต้องการ ซึ่งศ.พญ.วันดี วราวิทย์ ได้อธิบายไว้ว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของชีวิตน้ำหนักตัวจะเพิ่ม 600-1,200 กรัมต่อเดือน หลังจากนั้นจะขึ้นวันละ ประมาณ 20 กรัม หากน้ำหนักตัวขึ้นไม่ถึง 600 กรัมต่อเดือน ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์ปกติควรปรึกษาแพทย์

 

ปริมาณนมที่ทารกต้องการในแต่ละช่วงวัย แพทย์หญิงศศิวรรณ แพโรจน์ กุมารแพทย์

 

ความต้องการนมของลูกแต่ละคนไม่เท่ากัน หากลูกมีระบบเผาผลาญที่ดีก็อาจจะหิวเร็ว แล้วลูกในแต่ละช่วงวัยต้องกินนมเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมกันล่ะ? ทางการแพทย์แนะนำให้คำนวนจากช่วงอายุ และน้ำหนักตัวของลูก ก็จะได้เป็นปริมาณนมที่ร่างกายของลูกต้องการ ลองมาดูวิธีคำนวณปริมาณนมที่ทารกต้องการในแต่ละช่วงวัยกันค่ะ

 

ปริมาณนมสำหรับทารกแรกเกิด 0-30 วัน

 

น้ำหนักลูก (กิโลกรัม) x 150 ซีซี แล้วหาร 30 เป็นปริมาณนมใน 1 วัน แบ่ง 6 มื้อ
(น้ำหนักลูก (กิโลกรัม) x 150 )/30 = ปริมาณนมเป็นออนซ์ต่อวัน

ตัวอย่าง ลูกหนัก 3 กิโลกรัม
( 3 x 150 )/30 = 15 ออนซ์ / วัน
ทารกแรกเกิดอายุ 0-30 วัน ควรได้รับปริมาณนม 15 ออนซ์ / วัน บวกลบได้ไม่เกิน 4 ออนซ์ คุณแม่ควรเเบ่งมื้อนม ออกเป็น 6 มื้อ/วัน นะคะ

 

ปริมาณนมสำหรับทารกอายุ 1 – 6 เดือน

 

น้ำหนักลูก (กิโลกรัม) x 120 ซีซี แล้วหาร 30 เป็นปริมาณนมใน 1 วัน แบ่ง 6-8 มื้อ
(น้ำหนักลูก (กิโลกรัม) x 120 )/30= ปริมาณนมเป็นออนซ์ต่อวัน

ตัวอย่าง ลูกหนัก 5 กิโลกรัม
( 5 x 120 )/30 = 20 ออนซ์ / วัน
ทารกอายุ 1-6 เดือนควรได้รับปริมาณนม 20 ออนซ์ / วัน และแบ่งเป็น 6-8 มื้อ

 

ปริมาณนมสำหรับทารกอายุ 6-12 เดือน

 

น้ำหนักลูก (กิโลกรัม) x 110 ซีซี แล้วหาร 30
(น้ำหนักลูก (กิโลกรัม) x 110 )/30= ปริมาณนมเป็นออนซ์ต่อวัน

ตัวอย่าง ลูกหนัก 7 กิโลกรัม
(7 x 110 )/30 = 25.6 ออนซ์ / วัน
ทารกอายุ 6-12 เดือน ควรได้รับปริมาณนม 25.6 ออนซ์ / วัน โดยแบ่งเป็นมื้อดังนี้
ลูกอายุ 6 เดือน ควรแบ่งมื้อนมเป็น 5 – 6 มื้อ สลับกับอาหารเด็กตามวัย 1 มื้อ
ลูกอายุ 9-11 เดือน ควรแบ่งมื้อนมเป็น 4 – 5 มื้อ สลับกับอาหารเด็กตามวัย 2 มื้อ
ลูกอายุ 12 เดือน ควรแบ่งมื้อนมเป็น 4 – 5 มื้อ สลับกับอาหารเด็กตามวัย 3 มื้อ

 

ปริมาณนมสำหรับลูกอายุ 1 ปีขึ้นไป

 

ในวัยนี้ลูกจะรับประทานอาหารเด็กตามวัยมีส่วนประกอบอาหารครบ 5 หมู่เป็นอาหารหลัก ส่วนนมจะเป็นเพียงอาหารเสริมเพื่อให้ได้แคลเซียมเป็นหลัก ซึ่งเด็กช่วงวัยนี้จะต้องการแคลเซียม วันละ 500 มก. หรือเทียบเท่ากับนมปริมาณ 500 ซีซี หรือประมาณ 2 กล่องหรือ 2 ถ้วย / วันนั่นเอง

คุณเเม่หลายท่านอาจ จะมีความกังวลในการให้นมลูก จากหลายๆ ปัจจัย เช่น คุณแม่ต้องกลับไปทำงานประจำ ทำให้ไม่สะดวกในการเอาลูกเข้าเต้าทุกมื้อ หรือมีปัญหาน้ำนมน้อยกว่าความต้องการของลูกน้อย ทางที่ดีที่สุด คือควรปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และให้คำแนะนำที่เหมาะสมเพื่อภาวะโภชนาการที่ดีของลูกต่อไปค่ะ
 

ข้อมูลอ้างอิง : แพทย์หญิงศศิวรรณ แพโรจน์ กุมารแพทย์
https://www.youtube.com/watch?v=U85b-xPTlOo&feature=youtu.be&fbclid=IwA…