คุณแม่มือใหม่ที่ให้นมลูกแล้วเกิดอาการผิดปกติ อาจจะมาจากหลายสาเหตุที่แตกต่างกัน คุณแม่สามารถแก้ปัญหาตามคำแนะนำดังนี้ แต่หากมีอาการรุนแรง ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ค่ะ
1. อาการเจ็บหัวนม
อาการเจ็บหัวนมในขณะให้นมหรือหลังจากการให้นมลูกนั้นเป็นเรื่องปกติทั่วไปค่ะ เนื่องจากลูกอาจยังดูดหัวนมได้ไม่ลึกพอถึงลานนม ลูกจึงดูดเพียงบริเวณหัวนมเท่านั้นจึงทำให้แม่รู้สึกเจ็บ วิธีแก้ไขโดย ลองเปลี่ยนท่าให้นมใหม่ ให้เหมาะสมกับตำแหน่งปากของลูก และหลังการให้นมลูกควรปล่อยให้หัวนมแห้งเอง หรือใช้น้ำนมทาบริเวณหัวนม และสวมใส่เสื้อผ้าที่เป็นผ้าฝ้าย หรือผ้าที่มีเนื้อบางเบา เพื่อความสบายตัวของแม่ให้มากที่สุดค่ะ
2. เต้านมคัดตึง และปวดบวมช่วงให้นมลูก
เป็นอาการที่มักจะเกิดกับคุณแม่มือใหม่ เนื่องจากการที่เต้านมผลิตน้ำนมสะสมไว้มากขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของลูกน้อย ทำให้มีน้ำนมคั่งในเต้านม ส่งผลให้เต้าตึงจึงเกิดการบวม ลูกน้อยจึงไม่สามารถดูดนมจนหมดเต้าของคุณแม่ ดังนั้นทางแก้ไขคือแม่ควรให้ลูกดูดนมจากเต้าทุกๆ 1-2 ชั่วโมง แต่ถ้ายังมีอาการคัดมาก ให้ประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นจัด หรือ กระเป๋าน้ำร้อนก็ได้ค่ะ แล้วค่อยปั๊มหรือบีบออก แต่ที่จริงแล้ววิธีที่ดีที่สุดนั้นคือ การให้นมลูกดูดบ่อยๆนั่นเองค่ะ
3. รู้สึกเจ็บจี๊ดที่เต้านม
คุณแม่บางคนอาจรู้สึกเจ็บหัวนมหลังจากการให้นมลูกทุกครั้ง และบางคนอาจมีอาการเจ็บจี๊ด หรือปวดเต้านมเวลาที่ลูกเริ่มดูดนม อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณปกติที่แสดงถึงการที่เต้านมของคุณแม่กำลังปรับตัวสำหรับการให้นมลูกค่ะ แต่หากคุณแม่มีไข้ หรือรู้สึกเจ็บและแสบร้อนบริเวณเต้านมข้างใดข้างหนึ่งมากผิดปกติ ก็ควรปรึกษาแพทย์ เพราะนั้นอาจแสดงถึงภาวะการติดเชื้อที่เต้านมซึ่งจำเป็นต้องได้รับยารักษาอย่างถูกต้องค่ะ
4. ท่อน้ำนมถูกอุดตัน
สำหรับคุณแม่มือใหม่ หากพบว่าเต้านมของคุณแม่มีก้อนแข็งเป็นไต คุณแม่ไม่ต้องตกใจนะคะ เพราะก้อนดังกล่าวจะ หายไปเองภายในสองสามวัน ทางแก้ไขคือ ก่อนที่แม่คุณจะให้นมลูก ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบตรงบริเวณที่เป็นไต จากนั้นใช้มือนวดบริเวณที่เป็นไตเบาๆ และเริ่มให้ลูกกินนมจากข้างที่มีอาการเป็นไตนานขึ้นกว่าปกติค่ะ
5. น้ำนมหยด
การที่มีน้ำนมหยดจากเต้านมของแม่นั้นเป็นอาการปกติทั่วไปก่อนการให้นมค่ะ เช่น เมื่อคุณได้ยินเสียงลูกร้องไห้ ก็จะไปกระตุ้นให้น้ำนมไหลออกมา หรือให้นมลูกข้างซ้าย ข้างขวาก็อาจจะมีน้ำนมหยดออกมาด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วให้คุณแม่ ใช้แผ่นซับน้ำนมสอดไว้ในเสื้อชั้นใน และให้หมั่นเปลี่ยนแผ่นซับน้ำนมบ่อยๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวค่ะ
6. นมน้อย หรือ นมไม่พอ
คุณแม่ที่กำลังคิดว่าตัวเอง ให้แม่พักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ค่ะ และความเหนื่อยล้าจากการทำงานประจำวันก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้น้ำนมของแม่ลดลง ซึ่งวิธีที่จะเร่งให้น้ำนมมาเร็วๆ คือ ต้องพยายามนำน้ำนมออกจากร่างกายให้มากที่สุด ด้วยการให้นมลูกบ่อยๆ ที่สำคัญคุณแม่ควรทำใจให้สบาย และดื่มน้ำในปริมาณที่มากขึ้นด้วยค่ะ
7. ลูกอมหัวนมลำบาก
หากมีปัญหาในการให้นมลูก คุณแม่อาจลองเปลี่ยนท่าให้นมเพื่อเหมาะสมกับลูก เมื่อลูกดูดนมถูกวิธี ลูกจะอ้าปากได้กว้างและอมได้ลึกถึงลานนมโดยอัตโนมัติค่ะ