MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: “ปาปา ดาดา” พัฒนาการด้านภาษาของลูกน้อย

Add this post to favorites

“ปาปา ดาดา” พัฒนาการด้านภาษาของลูกน้อย

ลูกน้อยจะเริ่มพูดคำแรกเมื่อไหร่? มาดูพัฒนาการด้านภาษาของลูกน้อย ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 3 ปี พร้อมวิธีการช่วยฝึกทักษะด้านภาษาให้ลูกในเเต่ละช่วงวัย

1นาที อ่าน

โดยปกติคุณจะใช้เวลาราว 3 ปีในการส่งเสริมพัฒนาการด้านการสื่อสารของลูกน้อย ตั้งแต่เริ่มออกเสียงคล้ายสระ เช่น “อู อู อือ อือ” และการประสมคำเป็นคำพูด เช่น “อะไร” จนไปถึงการพูดเป็นประโยคง่ายๆ ที่มีประธานและกริยา ระหว่างนั้นลูกน้อยจะเรียนรู้ทุกคำพูดที่พ่อแม่สื่อสารออกมา แม้คุณแม่อาจจะไม่เข้าใจการสื่อสารบางคำอย่าง อู…อู…ที่เป็นภาษาของเด็กๆ แต่ในที่สุดลูกน้อยจะเรียนรู้ด้านภาษาได้อย่างรวดเร็ว บรรทัดต่อจากนี้เป็นระยะสำคัญต่างๆ ของการเรียนรู้ด้านภาษาของลูกน้อย

 

“ปาปา ดาดา” พัฒนาการด้านภาษาของลูกน้อย

 

อู.. ปาปา.. ดาดา… มะ… แม่..พ่อ!

 

แรกเกิด ลูกน้อยส่งเสียงดังตั้งแต่แรกเกิด โดย “เสียงร้องไห้” เป็นเสียงแรกของเด็กทั่วโลกที่เปล่งออกมาเหมือนๆ กัน ในช่วงแรกเด็กจะรู้จักแค่เสียงสระเท่านั้น จากนั้นลูกน้อยจะเริ่มคุ้นเคยกับภาษาของคุณแม่ ดังนั้นคุณแม่จึงควรพูดคุยกับลูกน้อยอย่างชัดเจนตั้งแต่แรกเกิด

อายุ 3 เดือน ลูกน้อยเริ่มค้นพบความสนุกในการส่งเสียงอ้อแอ้ตามธรรมชาติ เพราะสมองของลูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การสื่อสารด้วยคำพูด และการสื่อสารด้วยท่าทาง ดังนั้น คำพูดแรกของลูกน้อยมักเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเลียนแบบท่าทางของคุณ ภาษากายเป็นสิ่งที่ช่วยสื่อความหมายได้มาก เช่น “เสียงหัวเราะ” ที่ร่าเริงมักจะเกิดขึ้นพร้อมกับรอยยิ้มที่สดใส “เสียงแอะ” เกิดขึ้นพร้อมกับการเบะปากเตรียมจะร้องไห้ ดังนั้นคุณแม่ควรแสดงท่าทาง หรือสิ่งของให้สอดคล้องกับคำพูดเมื่อสื่อสารกับลูกน้อยด้วย

อายุ 6-8 เดือน ลูกน้อยเริ่มเข้าใจความสำคัญของการสื่อสาร เช่น คุณพ่อ-คุณแม่มักจะตอบรับเมื่อลูกพูด ลูกมีการเรียนรู้หลักการของการสื่อสาร และกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการส่งเสียงอ้อแอ้เป็นที่เรียบร้อย ถึงแม้ลูกน้อยจะยังไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่พูดออกมาได้ก็ตาม สมองของลูกน้อยค่อยๆ เริ่มสังเกตความแตกต่างของคำพูดกับความหมายของคำเหล่านั้น

อายุ 8-12 เดือน ลูกน้อยสามารถแสดงความเห็นและมีพัฒนาการสื่อสารที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ระยะนี้ลูกน้อยอาจเริ่มเรียก “แม่” หรือ “พ่อ” ก็ต้องมาลุ้นกันว่าลูกจะเรียกพ่อหรือแม่ก่อนกัน เคล็ดลับง่ายๆ ในการกระตุ้นให้ลูกพูดได้เร็วขึ้น คือคุณแม่ควรชี้สิ่งของต่างๆ ที่กำลังพูดถึง ความใส่ใจของคุณแม่จะช่วยให้ลูกมีความจำที่ดี และสามารถจดจำทุกสิ่งได้อย่างน่าทึ่งเลยล่ะ

 

“ปาปา ดาดา” พัฒนาการด้านภาษาของลูกน้อย

 

จาก 5 คำ 12 คำ...จนถึงตอนนี้ ลูกน้อยสามารถพูดได้ 100 คำแล้ว!

 

อายุ 12-20 เดือน คำพูดแรกของลูกน้อยมักเป็นคำง่ายๆ ที่ใช้บอกการเปลี่ยนแปลง เช่น พอ ไม่ อีก เป็นต้น ลูกน้อยเริ่มจดจำ และพูดคำที่เขาชอบซ้ำๆ เช่น บรำๆ เหมียวๆ คุณแม่อาจเริ่มได้ยินลูกน้อยพูด 2 พยางค์ได้อีกด้วย ขณะเดียวกันลูกสามารถเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูดได้มากกว่าการพูดด้วยตัวเอง คุณแม่สามารถกระตุ้นการพูดได้ด้วยการเล่นการ์ดรูปภาพ หรือการร้องเพลงสำหรับเด็กๆ แล้วอย่าลืมพูดคุยกับลูกน้อยอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการเพิ่มคำศัพท์และกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น และความสงสัยให้ลูกน้อยเกิดการเรียนรู้

 

จากคำพูด...เป็น ประโยค..และบทสนทนา

 

อายุ 2 ขวบ ลูกน้อยสามารถพูดได้ดี (ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน เพราะเด็กบางคนอาจต้องการเวลาที่มากกว่า) ในช่วงนี้เขาจะเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ทุกวัน และอาจมีบางช่วงที่ลูกน้อยไม่สามารถเลือกใช้คำในการสื่อสารได้ ลูกสามารถเรียกชื่อสิ่งของต่างๆ และเริ่มสนุกกับการนึกถึงผู้คนต่างๆ มากกว่าการนึกถึงแต่ตัวเอง ลูกน้อยเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นและเริ่มรู้วิธีการพูดเพื่อสื่อสารบอกสิ่งที่ตัวเองต้องการได้แล้ว คุณแม่ควรให้เวลาในการอ่านหนังสือกับลูกน้อย หรือเล่าเรื่องต่างๆ รอบตัวให้ลูกน้อยฟัง เพราะลูกน้อยกำลังเป็นนักสำรวจและเรียนรู้การใช้ภาษาด้วยความตื่นเต้น

อายุ 2-3 ขวบ คุณแม่จะพบว่าคำต่างๆ ที่ลูกน้อยใช้มักมีการเชื่อมโยงกัน เขาจะใช้คำกิริยาบอกการกระทำต่างๆ ก่อนจะเริ่มพูดเป็นประโยคที่จะต้องมีประธาน ช่วงนี้ลูกน้อยสามารถเข้าใจและใช้คำว่า “ลูก” หรือ ”หนู” ได้ถูกต้อง นั่นเป็นสิ่งที่ลูกเข้าใจนานแล้วว่าเป็นคำที่หมายถึงตนเอง