MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
โภชนาการน่ารู้

PLAYING: เมนูอาหารเด็ก 10 เดือน ตารางอาหารลูก 10 เดือน ช่วยแม่แก้ปัญหาลูกทานยาก

Add this post to favorites

เมนูอาหารเด็ก 10 เดือน ตารางอาหารลูก 10 เดือน ช่วยแม่แก้ปัญหาลูกทานยาก

ลูกน้อยอาจเริ่มเลือกกิน กินยาก มาดูอาหารสำหรับเด็ก 10 เดือน ซึ่งคุณแม่ควรทำเมนูให้หลากหลาย ผสมผสานเนื้อสัมผัสของอาหารให้ลูกน้อยไม่เบื่อ และตกแต่งจานให้น่าดึงดูดใจ 

2นาที อ่าน

เข้าสู่เดือนที่ 10 ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เชื่อว่าคุณแม่คงให้ลูกได้ลองกินอาหารที่หลากหลาย และรู้แล้วว่าลูกน้อยชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ในเดือนที่ 10 นี้ นับเป็นช่วงการเสริมอาหารระยะสุดท้ายให้ลูกน้อย ก่อนที่จะครบขวบปีแรก ในเดือนนี้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่มากขึ้น เริ่มคลานได้คล่อง เริ่มหาที่จับหรือเกาะเพื่อเริ่มยืน และมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงมากขึ้น

ในเดือนนี้ ลูกน้อยสามารถนั่งบนเก้าอี้สูง และกินอาหารร่วมกับครอบครัวได้แล้ว มาดูกันดีกว่าว่า อาหารเด็ก 10 เดือน คุณแม่ควรเสริมลูกด้วยโภชนาการประเภทใดบ้าง และเมนูอาหารเด็ก 10 เดือน ที่เรามีมาแนะนำคุณแม่จะมีอะไรบ้าง ไปอ่านกันค่ะ

 

พัฒนาการและโภชนาการอาหารเด็ก 10 เดือน

 

จากพัฒนาการที่เพิ่มมากขึ้น ลูกน้อยคลานเก่งไปรอบๆ บ้าน เริ่มหัดยืน เล่นของเล่น มีการเริ่มขว้างข้าวของ นอกจากคุณแม่ต้องคอยระวังและปกป้องลูกน้อยจากอาการบาดเจ็บจากการเล่นแล้ว เนื่องจากลูกน้อยต้องใช้พลังงานเพื่อเล่นและเรียนรู้มากขึ้น ดังนั้นอาหารสำหรับเด็ก 10 เดือน คุณแม่ควรเสริมให้เป็นจำนวน 3 มื้อหลัก และมีมื้อว่างช่วงบ่ายอีก 1 มื้อ ควบคู่ไปกับการดื่มนมแม่

สำหรับอาหารเด็ก 10 เดือน แนะนำให้คุณแม่เพิ่มความหยาบให้มากขึ้น เพื่อให้ลูกฝึกการเคี้ยว และการใช้ฟันที่เริ่มขึ้นมา โภชนาการควรมีให้ครบทั้ง 5 หมู่ ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานสูง เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชจากธรรมชาติ ข้าวโอ๊ต เป็นต้น อาหารประเภทโปรตีนและธาตุเหล็ก ช่วยสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดเสี่ยงโรคโลหิตจางในเด็ก เช่น ไก่ ปลา ไข่ ตับ เป็นต้น อาหารที่มีแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ ช่วยในการรักษาสมดุลให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วยง่าย โดยเฉพาะผักและผลไม้ เช่น แครอท ฟักทอง กล้วยน้ำว้า ส้ม แก้วมังกร เป็นต้น

 

พัฒนาการและโภชนาการอาหารเด็ก 10 เดือน

 

ลูกกินยาก รับมืออย่างไรดีนะ?

 

จากการที่คุณแม่ได้เสริมอาหารให้ลูกมาเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว จึงทำให้ลูกเริ่มเรียนรู้แล้วว่า เขาชอบหรือไม่ชอบอะไร พฤติกรรมการเลือกกินจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายให้คุณแม่ต้องรับมือ มาดูกันดีกว่าว่า การเสริมอาหารเด็ก 10 เดือน มีอุปสรรคอะไรที่คุณแม่ต้องเจอ พร้อมวิธีรับมือปัญหาลูกไม่กินข้าว ที่เรานำมาแนะนำกันค่ะ

 

1. ลูกน้อยไม่ยอมกินผัก คุณแม่หนักใจ

 

เมนูอาหารเด็ก 10 เดือน คุณหมอหลายท่านจะแนะนำว่า ให้คุณแม่หัดให้ลูกกินเป็นชิ้นๆ เพื่อฝึกการใช้ฟันเคี้ยวและการหยิบจับ จึงมักจะแนะนำผักต้มหั่นเป็นแท่งๆ แล้วให้ลูกหยิบกินเลย ในเด็กบางคนอาจไม่ชอบ กลิ่นเหม็นเขียว หรือรสสัมผัสของผัก เช่น แตงกวา ผักกาด กะหล่ำปลี ลูกจึงปฏิเสธที่จะกินอาหาร แต่คุณแม่ไม่ต้องหนักใจไปนะคะ สำหรับลูกน้อยที่ไม่ยอมกินผัก ขอแนะนำให้คุณแม่ ซ่อนรูปผักผสมลงไปในข้าว และเนื้อสัตว์ เช่น หั่นใส่ลงไปในไข่ตุ๋น บดผสมกับเนื้อปลาแล้วนำไปนึ่ง หรือใส่ลงไปในไข่เจียว เป็นต้น ก็จะช่วยให้ลูกไม่เห็น และทอนรสชาติหรือความเหม็นเขียวที่ลูกน้อยไม่ชอบได้

 

2. ลูกปฏิเสธอาหาร อาจเป็นเพราะเหงือกบวม

 

เพราะฟันน้ำนมที่เริ่มขึ้นมา ประกอบกับอาหารเด็ก 10 เดือน ที่คุณแม่เริ่มให้กินอาหารมักมีเนื้อสัมผัสหยาบขึ้นจนถึงเป็นชิ้นๆ การเคี้ยวมากๆ ในขณะที่ฟันของเขาเพิ่งขึ้นและยังไม่แข็งแรงพอ อาจส่งผลให้ลูกเหงือกบวมได้ คุณแม่ไม่ต้องตกใจไปค่ะ แนะนำให้คุณแม่สลับให้ลูกน้อยกินอาหารบดละเอียดเพื่อลดการเคี้ยวในบางช่วง หรือให้กินของเย็นๆ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บได้ค่ะ

 

3. ‘ขนม’ เป็นเรื่องที่ต้องยอมบ้าง

 

ในการเสริมอาหารเด็ก 10 เดือน คุณแม่บางคนไม่ยอมให้ลูกกินขนม เพราะเกรงว่าลูกจะอิ่มจนไม่ยอมกินข้าว ซึ่งไม่ได้ผิดนะคะ แต่เมื่อลูกปฏิเสธข้าวบ่อยครั้ง อาจต้องยอมให้ลูกได้กินขนมเพื่อสัมผัสรสชาติใหม่ๆ สร้างความตื่นเต้นให้เขาบ้าง 

ควรเลือกขนมที่ดีต่อสุขภาพ ไม่หวานจัดจนเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะลูกติดหวาน แนะนำเป็น ขนมปังอบกรอบ มันฝรั่งอบกรอบ คัสตาร์ด ที่ไม่ผ่านการปรุงรสมาก หรือขนมไทยเช่น ขนมกล้วย วุ้น ขนมตาล (เลือกที่หวานน้อย ลักษณะเนื้อสัมผัสอ่อนนิ่ม) เป็นต้น สำหรับขนมคุณแม่อาจมีการกำหนดเวลาที่จะให้กิน เช่น 1 ครั้ง ต่อวัน

 

4. สร้างบรรยากาศบนโต๊ะอาหาร สนุกสนานกับการกิน

 

เด็กจะมีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ เมื่อเห็นพ่อแม่กิน ก็จะอยากกินตาม การสร้างบรรยากาศที่ดีบนโต๊ะอาหาร พร้อมหน้าพร้อมตา ร่วมกินอาหารด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม การพูดคุย เสียงหัวเราะ เอ่ยชมเมื่อลูกหยิบอาหารเข้าปาก ก็จะยิ่งกระตุ้นให้ลูกสนุกกับการกินมากขึ้น

หากลูกไม่ยอมกิน เราไม่ควรพยายามเอาช้อนไปจ่อที่ปากของลูกเชิงบีบบังคับ ควรพูดเชียร์ให้เด็กอยากกินเอง นอกจากนี้เมนูอาหารเด็ก 10 เดือน ควรตกแต่งจานอาหารให้น่ารัก เช่น ตกแต่งด้วยสีสันหลากหลาย ทำเป็นรูปสัตว์ หรือตัวการ์ตูน ก็จะสร้างความน่าสนใจให้เด็กอยากหยิบขึ้นมากินได้ด้วย
 

เมนูอาหารเด็ก 10 เดือน
 

อาหารเด็ก 10 เดือน สามารถเสริมเป็นอาหารประเภทบดหยาบ ผสมกับอาหารที่หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ ให้ลูกได้ฝึกทักษะการเคี้ยว และการใช้ฟันน้ำนมที่เริ่มขึ้นมาหลายซี่แล้ว ยังคงเน้นให้มีสารอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ คุณแม่ควรหมั่นทำเมนูให้หลากหลาย เพื่อให้ลูกได้ลองลิ้มรสอาหารใหม่ๆ อยู่เสมอ เรามีเมนูอาหารเด็ก 10 เดือน มาฝากคุณแม่ ดังนี้

 

3 เมนูอาหารเด็ก 10 เดือน ให้โภชนาการที่ดีให้ลูกน้อย

 

ข้าวต้มฟักทองเสริมการมองเห็น

วัตถุดิบ
- ข้าวหุงสุก 
- ฟ้กทองต้มสุก ทั้งบด และ หั่นเป็นชิ้น 
- น้ำซุป
วิธีทำ
- ต้มน้ำซุปจนเดือด 
- ใส่ฟักทอง และข้าวลงไป 
- เคี่ยวจนข้น โรยผักชีและต้นหอม พร้อมเสิร์ฟ

 

ซุปมักกะโรนีน่าหม่ำ

วัตถุดิบ
- มักกะนีรูปทรงต่างๆ เช่น รูปสัตว์ รูปโบว์ หรือรูป ABC 
- แครอท 
- หัวหอมใหญ่ 
- ไก่สับ 
- ผักชี ต้นหอม 
- น้ำซุป
วิธีทำ
- ต้มน้ำซุปจนเดือด ใส่แครอตลงไป 
- ใส่เส้นมักกะโรนีตาม 
- ต้มจนสุก ไม่ต้องปรุงเพราะมีความหวาน รสชาติกลมกล่อมจากผักและเนื้อสัตว์แล้ว

 

ไข่ตุ๋นคุณหนู

วัตถุดิบ
- ไข่ไก่ 
- เห็ด (ต้มให้สุกจนนิ่ม) 
- เนื้อปลา หรือ เนื้อไก่สับ 
- ผักชี ต้นหอม 
- น้ำซุปผัก
วิธีทำ
- ตีไข่ให้เข้ากัน กรองด้วยกระชอน จะทำให้เนื้อเนียนน่ากิน 
- ใส่เห็ด และเนื้อสัตว์ที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ลงไป ตีให้เข้ากัน 
- นำไปนึ่ง สุกแล้วก่อนเสิร์ฟโรยด้วยต้นหอม ผักชี

โดยสรุปแล้ว เพื่อเสริมให้ร่างกายของลูกแข็งแรง มีพัฒนาการให้ครบรอบด้าน คุณแม่ควรดูแลด้านโภชนาการตามวัยให้กับลูก ด้วยการคัดสรรเมนูที่หลากหลาย รวมทั้งอาหารเสริมธัญพืชที่ทำมาจากธัญพืชจากธรรมชาติ ที่มีธาตุเหล็กสูง ดีเอชเอ และวิตามินหลากหลายชนิด รวมทั้งมีหลากหลายรสชาติ  เช่น ผสมข้าวสาลี ปลา ผักโขม ข้าวบดไก่และแครอท ซึ่งช่วยเพิ่มการรับรู้รสชาติใหม่ๆให้แก่ลูกน้อย และยังนำมาปรุงเพิ่มใส่เนื้อสัตว์และผักเข้าไปได้อีกด้วย ทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายที่แข็งแรง และเสริมสร้างระบบประสาทและสมองให้ลูกเรียนรู้ได้ไวอีกด้วย

*** หมายเหตุ - ควรปรึกษาแพทย์หากคุณและครอบครัวมีประวัติโรคภูมิแพ้ การแพ้อาหาร โรค Celiac Disease หรือสงสัยว่าลูกน้อยมีปัญหาเรื่องการกิน เช่น ภาวะลิ้นติด มีความผิดปกติทางร่างกายหรือจิตใจ เป็นต้น ***

 

อ้างอิง
https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue010/surrounding
https://www.tmwa.or.th/new/lib/file/20170121162528.pdf