ร่างกายต้องการพลังงานในปริมาณมากพอสำหรับกิจกรรมทางกายและสมองที่เพิ่มขึ้น การเลือกเมนูที่มีสารอาหารเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับลูกน้อยวัยเจริญเติบโต ควรเน้นให้ลูกได้รับสารอาหารหลากหลายในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการทางโภชนาการในแต่ละวัน คำแนะนำสำหรับอาหารลูกน้อยวัยนี้ ได้แก่
• ให้ลูกกินอาหารปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยๆ เพราะเด็กมีความจุของกระเพาะอาหารจำกัด จำนวนมื้ออาหารที่เหมาะสมคืออาหารหลัก 3 มื้อ และอาหารว่างระหว่างมื้ออีก 2-3 มื้อ
• อย่ากังวลกับปริมาณอาหารมากนัก คุณแม่ควรเน้นที่คุณภาพของอาหารเป็นสำคัญ
• เลือกอาหารที่มีความหลากหลาย มีปริมาณน้ำและใยอาหารอย่างเพียงพอ
• พิจารณาความชอบของลูกน้อยด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิเสธอาหาร
• อาหารควรมีวิตามินและแร่ธาตุที่พอเหมาะ
• ส่งเสริมให้ลูกกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม กีวี ฝรั่ง เมลอน และวิตามินเอ เช่น มันหวาน ฟักทอง และมะละกอ
ธงโภชนาการสำหรับวัยเด็ก
คำแนะนำด้านโภชนาการอาหารที่วัยเด็กต้องการในแต่ละวัน
• นมและผลิตภัณฑ์จากนม 2 แก้ว (500 มล.) อย่าลืมว่าอาหารที่คุณแม่เลือกให้ลูกน้อยจะกำหนดความชอบของอาหารให้ลูกน้อยได้
• คาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงาน เช่น โฮลเกรน หรือธัญพืช 2-5 ส่วน โดย 1 ส่วน เทียบเท่ากับซีเรียลอาหารเช้าหรือเส้นก๋วยเตี๋ยว หรือขนมปัง 2 แผ่น หรือ แครกกอร์ 6 ชิ้น
• อาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน 2-3 ส่วน โดย 1 ส่วน เทียบเท่ากับ น่องไก่ขนาดเล็ก 1 น่อง หรือไข่ 2 ฟอง หรือเนื้อปลาขนาดกลาง 1 ชิ้น หรือถั่ว 1 ถั่ว หรือเต้าหู้ 1 ชิ้น พยายามเลือกให้มีทั้งโปรตีนจากพืชและจากสัตว์
• ผักและผลไม้ 4-5 ส่วน โดย 1 ส่วน เทียบเท่ากับ ผักสุกครึ่งถ้วย หรือ ผลไม้ 1 ลูก (เช่น แอปเปิล หรือส้ม) ควรเน้นให้ลูกกินผักใบเขียว และผลไม้สีเหลืองส้ม
• น้ำมันและไขมัน ใช้ปริมาณน้อยๆ ในการปรุงประกอบอาหาร รวมทั้งเนย มาร์การีนที้ใช้ทาบนขนมปัง
การดื่มนม
เด็กวัยเจริญเติบโตควรดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว หากลูกสามารถดื่มนมได้โดยไม่เกิดปัญหาใดๆ คุณแม่ควรให้เขาดื่มต่อไปได้เรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เพราะนมเป็นแหล่งอาหารที่ดีเยี่ยมสำหรับเด็ก ให้โปรตีนที่ดีสำหรับสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งแคลเซียมที่จำเป็นสำหรับกระดูกและฟันที่แข็งแรง
หากลูกน้อยเริ่มดื่มนมลดลง ลองเลือกนมที่มีสารอาหารเข้มข้นให้เขาแทน โดยนมสำหรับเด็กวัยเจริญเติบโตมักมีการเสริมสารอาหารจำเป็นต่างๆ เช่น วิตามิน และแร่ธาตุหลากหลายชนิด ที่สำคัญการให้ลูกดื่มนมที่มีโพรไบโอติกส์หรือแบคทีเรียที่มีประโยชน์อย่าง “บิฟิโดแบคทีเรีย” สามารถช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้ได้ ควรให้ลูกดื่มนมต่อเนื่องตามที่เขาต้องการ ถึงแม้จะลดปริมาณลงเหลือวันละ 1 แก้วก็ตาม ทางเลือกอื่นนอกจากนม ได้แก่ การให้ลูกรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมอื่นๆ เช่น ชีส โยเกิร์ต และนมเปรี้ยว
อาหารที่สมดุลสำหรับลูกน้อย
ลูกน้อยเริ่มทำกิจกรรมมากขึ้น จึงต้องได้รับสารอาหารที่หลากหลายเพื่อช่วยในการทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันได้อย่างดี พร้อมให้พลังงานและส่งเสริมการเจริญเติบโตที่รวดเร็วของเด็กวัยเตาะแตะ คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ลูกน้อย คุณสามารถเริ่มให้ลูกกินขนมปัง ข้าว มันฝรั่ง พาสต้า และอาหารประเภทแป้งอื่นๆ ได้ หรือจะเป็นอาหารเสริมธัญพืชสำหรับเด็ก ซึ่งคิดค้นขึ้นเพื่อให้เหมาะสมต่อระบบการย่อยอาหารของลูกน้อย อาหารอีกกลุ่มที่คุณแม่ควรมีในอาหารของลูกคือ ผักและผลไม้ ซึ่งให้วิตามินและแร่ธาตุมากมายที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อย เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี และวิตามินต่างๆ
อาหารกลุ่มถัดไปคือ “นม” และ “โยเกิร์ต” อาหารกลุ่มนี้ให้แคลเซียม ส่วนสารอาหารประเภทโปรตีน ลูกน้อยสามารถได้จากอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ และถั่วต่างๆ คุณแม่สามารถให้ลูกกินอาหารว่างหรือขนมได้ในบางโอกาส เช่น เค้ก บิสกิต เพื่อให้ลูกน้อยมีความสุขกับความอร่อยของขนมบ้าง การได้รับสารอาหารสำคัญ เช่น ธาตุเหล็ก ในปริมาณที่มากพอจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่เต็มศักยภาพของลูกน้อย หากลูกน้อยได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ เขาอาจเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ธาตุเหล็กสามารถได้จากผัก เช่น ผักปวยเล้ง และอาหารเสริมธัญพืชสำหรับเด็กที่มีการเสริมสารอาหารต่างๆ
ชวนให้รู้
• ถึงแม้ว่าคุณแม่จะมีความตั้งใจที่ดี แต่คุณแม่ไม่ควรบังคับลูกน้อยมากเกินไป หรือเข้มงวดกับการกินอาหาร คุณอาจแปลกใจว่าความจริงแล้วลูกน้อยมีความสามารถในการปรับการกินอาหารให้เหมาะกับความต้องการพลังงานของตัวเอง
• อาหารที่คุณแม่เลือกให้ลูกน้อยรับประทานส่งผลต่อความชอบของอาหารของลูกน้อยในอนาคต
• อย่าให้รางวัลด้วยขนมหวาน การให้รางวัลควรเป็นการให้กำลังใจหรือการให้ความรัก เช่น การกอด หรือการหอมแก้ม
References
1. FAO/WHO RNIs 12-36 months
2. FAO/WHO Vitamin and Mineral Requirements in Human Nutrition-Report of a Joint FAO/WHO Expert Consultation Second edition. WHO/FAO. 2004
3. Guidelines on Formulated Supplementary Foods for Older Infants and Young Children (CAC/GL08-1991) [update in process in 2013], in the absence of references values I the related standard for processed cereal-based foods for infants and children