MyFeed Personalized Content
บทความ

PLAYING: 5 ผื่นในเด็ก พร้อมวิธีดูแลเมื่อลูกมีผื่นแดงทั้งตัว

Add this post to favorites

5 ผื่นในเด็ก พร้อมวิธีดูแลเมื่อลูกมีผื่นแดงทั้งตัว

เมื่อผิวของลูกไวต่อภาวะภายนอก จนเกิดผื่นขึ้นตามตัวหรือผื่นแดงที่ใบหน้า คุณแม่ควรใส่ใจดูแลอย่างถูกวิธี เพราะผื่นในเด็กอาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกในระยะยาวได้

2นาที อ่าน

ตรวจทานความถูกต้องโดย ศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์

ผื่นในเด็ก ปัญหาที่สร้างความกังวลใจของพ่อแม่อันดับต้น ๆ หากไม่รีบรักษาตั้งแต่ต้น มีโอกาสที่จะลุกลามจากผื่นจุดเล็ก ๆ จนลูกเป็นผื่นแดงทั้งตัว คุณแม่ควรใส่ใจดูแลอย่างถูกวิธี เพราะผื่นในเด็กอาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกในระยะยาวได้ ซึ่งผื่นมีหลายชนิด ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับอาการเหล่านี้ พร้อมวิธีการดูแลกันค่ะ
 

ลักษณะลูกเป็นผื่นแดงตามตัวในเด็กที่มักพบบ่อย

ลูกเป็นผื่นบนผิวหนัง เป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่สามารถรักษาความสะอาดของผิวหนัง และผิวหนังของเด็กมีความบอบบาง ซึ่งง่ายต่อการเกิดอาการแพ้ เมื่อสัมผัสกับสารเคมีและวัสดุอื่น ๆ รวมทั้งแมลงกัดต่อย โดยทั่วไป ผื่นที่ผิวหนังมักมีลักษณะเป็นผื่นราบ ตุ่มนูน ตุ่มใส หรือผื่นลมพิษ หากลูกเป็นผื่นแดงทั้งตัวหรือลูกเป็นผื่นที่มีอาการคันและเด็กเกา อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา ทำให้ผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มหนองที่เรียกว่า "พุพอง" หรือเกิดเป็นฝีหนองได้ ผื่นคันในเด็กมีหลากหลายชนิด ได้แก่
 

1. ผดผื่นในเด็ก ที่เกิดจากต่อมเหงื่อ

เมื่อลูกเป็นผื่นแดงทั้งตัว อาจเกิดจากต่อมเหงื่อของเด็กเล็กยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ จึงเกิดการอุดตัน กลายเป็นผดผื่นได้ง่าย ซึ่งได้แก่ ผดใส ผดแดง และผดลึก ที่มักเกิดในฤดูร้อน ผดแต่ละชนิดจะขึ้นอยู่กับ ความลึกของการอุดตันของต่อมเหงื่อที่ชั้นผิวหนัง ถ้าอุดตันที่ผิวหนังตื้น ก็จะเห็นเป็นผดใส ถ้าอุดตันที่ผิวหนังระดับกลางก็จะเห็นเป็นผดแดง และถ้าอุดตันที่ผิวหนังระดับล่าง ก็จะเป็นผดสีขุ่น
 

2. ผื่นในเด็ก ที่เกิดจากการอักเสบของผิวหนังบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก

อาการลูกเป็นผื่นโดยเฉพาะทารกอายุ 2 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากต่อมไขมันมีการทำงานมากจากฮอร์โมนของมารดาที่ส่งผ่านมายังทารกในครรภ์ บริเวณใบหน้าร่วมกับเชื้อยีสต์บางชนิดบนผิวหนังทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบ แก้ม ตามซอกข้อพับ ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ หน้าอก และแผ่นหลังช่วงบน โดยเฉพาะที่ ศีรษะ บริเวณคิ้ว ใบหู หลังหู จะมีต่อมไขมันมากกว่าส่วนอื่น ทำให้เห็นคราบไขมันเหลืองหนา แห้งเป็นเกร็ดติดอยู่ และจะผลิตออกมาเรื่อย ๆ ของเก่าแห้งไป ของใหม่มาอีก แต่จะไม่ค่อยมีอาการคัน ทารกจึงไม่หงุดหงิด
 

3. ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นผื่นแพ้เรื้อรัง ที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก ในช่วงวัยทารก เมื่อมีผื่นแดงขึ้นตามลำดับ โดยผื่นจะมีลักษณะเป็นตุ่ม แดงคัน หรือ ตุ่มน้ำใส โดยผื่นในเด็กจะขึ้นบ่อย บริเวณใบหน้า คอ ด้านนอกของแขนขาและอาจมีน้ำเหลืองไหลได้ ในเด็กโต ผื่นจะขึ้นเป็นตุ่ม หรือปื้นแดงหนาที่ คอ ข้อพับต่าง ๆ ในรายที่เป็นมาก ผื่นสามารถขึ้นได้ทั่วร่างกายและมีอาการคันมาก เด็กบางคนมีอาการลูกเป็นผื่นแดงทั้งตัว สาเหตุเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน พันธุกรรมจากคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นภูมิแพ้ ทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าและไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าเด็กทั่วไป หากเด็กเล็กมีพันธุกรรมผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมา ผิวหนังก็จะไวและแพ้ได้ ง่ายต่อสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือ พ่อแม่มักอาบน้ำอุ่นมากให้ลูก จึงทำให้ผิวแห้งและคันได้ หรืออาจเกิดจากการแพ้อาหาร หรือแม้แต่เหงื่อของตัวเอง จึงทำให้เกิดผื่นขึ้นมา
 

4. ผื่นแพ้ผ้าอ้อม

ผื่นในเด็ก สาเหตุเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน พันธุกรรมจากคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นภูมิแพ้ ทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าและไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งผื่นที่เกิดขึ้นจากการแพ้สัมผัสกับปัสสาวะหรืออุจจาระที่อยู่ในผ้าอ้อมเป็นเวลานาน ในปัจจุบันมีการใช้ผ้าอ้อมน้อยลงมาก ส่วนใหญ่นิยมใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปแทน เพราะสะดวก สะอาดและไม่ทำให้เปื้อนเสื้อผ้าหรือที่นอนเหมือนหุ้มด้วยพลาสติกเอาไว้ ข้อเสียคือราคาแพง ถ้าจะต้องมีการเปลี่ยนทุกครั้งที่เด็กปัสสาวะหรืออุจจาระออกมาจะทำให้สิ้นเปลืองมาก โดยปกติไม่ควรปล่อยให้เด็กแช่แบบนั้นอยู่เป็นเวลานาน ต้องรีบล้างทำความสะอาดด้วยน้ำ เช็ดให้แห้งและเปลี่ยนผืนใหม่ทันที ในเด็กที่แพ้สัมผัสจะเกิดผื่นแดงบริเวณอวัยวะเพศและก้น อาจลามไปถึงขาหนีบและเกิดเป็นเชื้อราขึ้นมาได้ง่ายด้วย เด็กมักมีอาการแสบและคัน ทำให้มีอาการร้องกวน
 

5. ผื่นลมพิษ

ผื่นในเด็กอีกชนิด ที่มักทำให้ลูกเป็นผื่นแดงทั้งตัว จะมีลักษณะเป็นผื่นบวมแดง มีขอบนูนชัดเจน จะเป็น ๆ หาย ๆ มีอาการคันมาก ยิ่งถ้าลูกเกาก็จะยิ่งกระตุ้นให้มีผื่นมากขึ้นและคันมากขึ้น สาเหตุของ ลมพิษ นั้นเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น แพ้ยา การติดเชื้อ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการแพ้อาหาร ในกรณีที่มีอาการแพ้แบบรุนแรงเฉียบพลัน อาจพบว่าจะมีอาการทางระบบอื่น ๆ ร่วมด้วยได้ คือ

  1. ผื่นในเด็กหรืออาการทางผิวหนัง เป็นผื่น ลมพิษ มีอาการเป็นผื่นนูนแดง คัน ยิ่งเกายิ่งเห่อขึ้น อาจจะขึ้นทั้งตัว มีปากบวม ตาบวมร่วมด้วย หรือบวมตามมือและเท้า
  2. ระบบทางเดินอาหาร มีอาการคือ ริมฝีปากบวม เยื่อบุช่องปากบวม หรือระบบทางเดินอาหารมีความผิดปกติ เช่น เด็กอาจแสดงอาการปวดท้อง อาเจียนและท้องเสียได้
  3. ระบบทางเดินหายใจ มีอาการ ไอ หลอดลมจะบวมและตีบ ทำให้ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หมดสติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันการ อาจถึงขั้นช็อก และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
     

วิธีการดูแลเบื้องต้นเมื่อลูกเป็นผื่นแดงทั้งตัวจนทำให้เกิดอาการคัน

วิธีการดูแลเบื้องต้นเมื่อลูกเป็นผื่นแดงทั้งตัวจนทำให้เกิดอาการคัน

กรณีที่ลูกเป็นผื่นและมีอาการคันมาก โดยเฉพาะผื่นลมพิษ สามารถทานยาแก้แพ้ได้ และควรถ่ายรูปลักษณะผื่นเก็บไว้ด้วยเพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง หากทราบหรือคาดเดาถึงสาเหตุการแพ้ได้ ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุเหล่านั้น กรณีลูกเป็นผื่นที่ผิวหนังไม่หายหรือไม่ดีขึ้นภายใน 1 วัน ผื่นลมพิษที่มีอาการบวม หรือมีอาการหายใจลำบากร่วมด้วย หรือเป็นโรคลมพิษชนิดเรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางโดยทันที

นอกจากนี้ควรดูแลรักษาความสะอาดของผิวเด็กเล็กและเสื้อผ้าเครื่องใช้ เพราะอาจทำให้เกิดการอับชื้น หลีกเลี่ยงการอยู่บริเวณยุงชุมและระวังแมลงกัดต่อย หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้อักเสบหากไม่จำเป็น บันทึกชื่อยาที่เด็กแพ้หรือสิ่งที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นผื่นคันทั้งตัว และแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นไข้ออกผื่น
 

การป้องกันผื่นคันตามลำตัวหรืออาการผื่นแพ้ในเด็กที่อาจเกิดจากการแพ้นมวัว

นมแม่มีสารอาหารกว่า 200 ชนิด รวมทั้งโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน และ 2’FL ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่พบในนมแม่ ที่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภูมิแพ้ได้และช่วยลดอาการผื่นในเด็ก เพราะ

  • มีการศึกษาที่พบว่านมแม่มีเอนไซม์ที่ช่วยย่อยโปรตีน จึงอาจกล่าวได้ว่า โปรตีนในนมแม่บางส่วนมี PHP (Partially Hydrolyze Protein : โปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน ) และนมแม่มีเวย์โปรตีนสูงซึ่งย่อยง่าย จึงทำให้ดูดซึมได้ดีกว่า เนื่องจากลูกในช่วง 6 เดือนแรก เยื่อบุทางเดินอาหารยังไม่แข็งแรง รวมถึงน้ำย่อยอาหารยังมีไม่มาก และสารภูมิคุ้มกันที่จะคอยดักจับสิ่งแปลกปลอมยังมีไม่มากพออีกด้วย ดังนั้นการได้รับนมแม่จึงช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ได้ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมที่แข็งแกร่งให้กับร่างกายลูกด้วยค่ะ
  • โปรตีนนมแม่เป็นชนิดที่ไม่แปลกปลอม จึงไม่ก่อให้เกิดการแพ้ เมื่อลูกกินนมแม่ก็จะทำให้ได้รับโปรตีนชนิดดี ย่อยง่าย และมีสารภูมิคุ้มกันที่จะไปเคลือบเยื่อบุลำไส้ เปรียบเหมือนเป็นการสร้างเกราะป้องกันลำไส้ให้กับลูกน้อย เพื่อลดอาการแพ้ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือทำให้ลูกเป็นผื่นได้
  • นอกจากนี้ยังพบว่าในนมแม่มี 2’FL โอลิโกแซคคาไรด์ซึ่งเป็นพรีไบโอติกส์ชนิดที่พบมากที่สุดในนมแม่และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลายสายพันธุ์ เช่น บิฟิดัส บีแอล ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ โดยสังเกตได้จากทารกที่ได้รับนมแม่จะมีการเกิดภูมิแพ้น้อยกว่า และมีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า


ดังนั้น การได้รับนมแม่จะช่วยป้องกันผื่นในเด็กและการเกิดผื่นแพ้ ที่อาจเกิดจากการแพ้นมวัว เพราะการได้รับนมแม่ทำให้ลดการสัมผัส โปรตีนแปลกปลอม เพิ่มปริมาณ secretory IgA

นมแม่จะกระตุ้นให้ระบบทางเดินอาหารมีกลไกการป้องกันโรคและช่วยให้ภูมิคุ้มกันมีการพัฒนาจนสมบูรณ์ได้รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามหากในครอบครัวมีประวัติภูมิแพ้ ควรให้นมแม่อย่างน้อยที่สุด 6 เดือนหรือนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อการดูแลที่เหมาะสมต่อไป