ตรวจทานความถูกต้องโดย ศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์
บ้านไหนที่ทารกเป็นผื่นขึ้นหน้าตามตัวมามุงกันทางนี้เลยค่ะ เมื่อเห็นเจ้าตัวเล็กมีอาการคันไม่สบายตัว ยิ่งคันยิ่งเกา ยิ่งเกาก็ยิ่งคัน จนมีผดผื่น ตุ่มใสขึ้น คนเป็นแม่อย่างเราเห็นแล้วก็คงเป็นห่วง และกังวลใช่ไหมล่ะคะ ยิ่งในเด็กทารกที่ความสามารถในการปกป้องผิวหนังตามธรรมชาติยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ผิวไวต่อมลภาวะภายนอก และมีแนวโน้มที่จะสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย ก็มักจะมีอาการผื่นขึ้นหน้าทารก หรือผื่นที่ซอกคอ แม้จะดูเหมือนเป็นอาการเล็กน้อยและเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่คุณแม่ไม่ควรมองข้ามนะคะ เพราะอาการผื่นแพ้ในทารก อาจส่งผลต่อพัฒนาการและพฤติกรรมของลูกในระยะยาวได้ คุณแม่คนไหนยังไม่รู้ว่า หากผื่นขึ้นหน้าทารก ทำไงดี วันนี้เรามารู้จักสาเหตุและวิธีป้องกันอาการทารกเป็นผื่นแพ้กันเลย
สาเหตุที่ทำให้ทารกเป็นผื่น
- ผื่นในเด็ก สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านพันธุกรรม ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด โรคแพ้อากาศ ผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือปัจจัยอื่นที่พบบ่อยมักเกิดจาก การแพ้อาหาร เช่น โปรตีนจากนมวัว ไข่ ถั่ว แป้งสาลี
- ผื่นที่หน้าโดยเฉพาะบริเวณแก้มทั้งสองข้างและคาง จะเป็นผื่นแดง บางครั้งมีตุ่มน้ำใสและแตกออกมาเป็นน้ำแฉะๆ ทำให้คัน โดยมากเกิดจากการแพ้สัมผัสกับนมที่เด็กอาจจะแหวะออกมาเลอะตามบริเวณดังกล่าว เพราะในนมที่เด็กแหวะออกมาก็จะมีน้ำย่อยในกระเพาะออกมาด้วย หรือเด็กที่ชอบเล่นน้ำลาย ซึ่งในน้ำลายก็จะมีน้ำย่อยอยู่เช่นกัน ทำให้เกิดการระคายเคืองและกลายเป็นผื่นขึ้นมาได้ มักจะรู้จักกันดีที่เรียกว่าขี้กลากน้ำนม แท้ที่จริงแล้วไม่ได้เกิดจากเชื้อรา กลาก เกลื่อนแต่อย่างไร
- การแพ้สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อม เช่น ตัวไรฝุ่น ซากแมลงสาบ และละอองเกสร
- การแพ้สารซาลิไซเลตในผลไม้และผัก และวัตถุเจือปนในอาหาร เช่น สารแต่งรสในอาหารแปรรูป
- การแพ้สารที่มีกลิ่น เช่น น้ำหอม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
- ผื่นแพ้ในทารก อาการอาจรุนแรงขึ้น เมื่อสวมเสื้อผ้าที่มีเนื้อหยาบ เสื้อผ้าที่คับ การสัมผัสกับทราย อากาศที่แห้ง และฝุ่นละออง โดยเฉพาะฝุ่นจิ๋ว
วิธีป้องกันให้ลูกน้อยห่างไกลจากการเกิดผื่นในเด็กหรือผื่นแพ้ในทารก
การดูแลผิวพรรณของลูกน้อยเป็นเรื่องที่สำคัญและละเอียดอ่อนมาก ๆ เพราะหากลูกเป็นผื่นเพียงนิดเดียวก็อาจลุกลามกลายเป็นผิวหนังอักเสบติดเชื้อได้ คุณแม่จึงต้องดูแลเขาด้วยความอ่อนโยนที่สุดด้วยวิธีดังนี้
- ทุกครั้งที่เด็กแหวะนมออกมาเลอะบริเวณแก้มและคาง ควรใช้สำลีชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดทุกครั้ง
- ให้ลูกสวมใส่เสื้อผ้าเบาสบายที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เพื่อป้องกันทารกเป็นผื่น
- ซักผ้าปูที่นอนและเสื้อผ้าในน้ำยาซักผ้าที่ปราศจากสารเคมีและน้ำหอม และล้างออกด้วยน้ำจนสะอาด ไม่ควรใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่อุ่นจนเกินไป ใช้ครีมอาบน้ำหรือสบู่อ่อนที่ไม่มีน้ำหอมในตอนเย็นครั้งเดียว หลีกเลี่ยงสารสกัดธรรมชาติที่ทำมาจากอาหาร เช่น นม ข้าวโอ๊ต แป้งสาลี และใช้แค่น้ำในการทำความสะอาดร่างกายลูกน้อยในตอนเช้า
- ปกป้องผิวของลูกน้อย เพื่อป้องกันทารกเป็นผื่น โดยการทาโลชั่นทาผิวสูตรเฉพาะสำหรับเด็ก ชนิดปราศจากน้ำหอมและหลีกเลี่ยงสารสกัดธรรมชาติที่ทำมาจากอาหาร เช่น นม ข้าวโอ๊ต แป้งสาลี หลังอาบน้ำแล้วซับตัวให้หมาด ๆ และทาภายใน 3 นาทีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
- ควรวางผ้าปูเมื่อให้ลูกน้อยเล่นบนพื้นหรือพื้นดิน และหลีกเลี่ยงการวางลูกไว้บนพรม หญ้าหรือทรายโดยตรง และควรใช้ผ้าอ้อมของเด็กวางพาดไว้บนบ่าของคนอุ้มทุกครั้ง เพราะเวลาเด็กง่วงก็มักจะเอาแก้มมาวางซบไว้บริเวณบ่าของคนอุ้ม เป็นการป้องกันบริเวณใบหน้าและแก้มของเด็กมาสัมผัสกับเสื้อผ้าของคนอุ้มด้วย
- ให้ลูกดื่มนมแม่ให้นานที่สุด
ที่สำคัญคุณแม่ต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่มากระตุ้นให้ทารกเป็นผื่นแดงตามตัว มีผดผื่นแดงบนหน้าทารก หรือผื่นที่คอทารกรวมทั้งฝุ่นจิ๋วด้วย สำหรับเรื่องอาหารก็ควรทานอาหารตามวัยตามขั้นตอน เพื่อจะได้สังเกตได้ว่าลูกมีผื่นหลังทานอาหารตัวใหม่ตัวไหน ซึ่งผื่นจากการแพ้อาหารในเด็กส่วนใหญ่มักเกิดจากการแพ้โปรตีนนมวัว ไข่โดยเฉพาะไข่ขาว พบได้บ่อยในเด็กวัยทารก เพราะระบบภูมิคุ้มกันของลูกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จึงแสดงอาการแพ้ออกมาทางระบบผิวหนัง แต่คุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าทารกเป็นผื่นแดงทั้งตัวเกิดจากอาการแพ้อาหารหรือเปล่า?
วิธีทดสอบเบื้องต้น คือ ลองสังเกตอาการลูก โดยการให้ลูกงดทานอาหารต้องสงสัย ประมาณ 1- 2 สัปดาห์ เมื่ออาการผื่นคันหายไป จากนั้นลองให้ลูกกินใหม่อีกครั้ง ถ้าผื่นขึ้นหน้าทารกหรือทารกเป็นผื่นแดงที่หน้าอีก ก็อาจเป็นไปได้ว่าทารกเป็นผื่น เพราะจะเเพ้อาหารชนิดนั้น หากสงสัยว่าลูกมีอาการเเพ้อาหารควรพาไปพบกุมารแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้เพื่อวินิจฉัยอีกครั้ง เพื่อความแม่นยำนะคะ แต่ในกรณีที่เป็นผื่นลมพิษ ไม่ควรลองทานอาหารต้องสงสัยเองที่บ้านนะคะ
การป้องกันผื่นคันตามลำตัวหรือผื่นแพ้ในทารก ที่อาจเกิดจากการแพ้นมวัว
นมแม่มีสารอาหารกว่า 200 ชนิด รวมทั้งโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน และ 2’FL ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่พบในนมแม่ ที่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภูมิแพ้ได้ เพราะ
- มีการศึกษาที่พบว่านมแม่มีเอนไซม์ที่ช่วยย่อยโปรตีน จึงอาจกล่าวได้ว่า โปรตีนในนมแม่บางส่วนมี PHP (Partially Hydrolyze Protein : โปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน ) และนมแม่มีเวย์โปรตีนสูงซึ่งย่อยง่าย จึงทำให้ดูดซึมได้ดีกว่า เนื่องจากลูกในช่วง 6 เดือนแรก เยื่อบุทางเดินอาหารยังไม่แข็งแรง รวมถึงน้ำย่อยอาหารยังมีไม่มาก และสารภูมิคุ้มกันที่จะคอยดักจับสิ่งแปลกปลอมยังมีไม่มากพออีกด้วย ดังนั้นการได้รับนมแม่จึงช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ได้ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมที่แข็งแกร่งให้กับร่างกายลูกด้วยค่ะ
- โปรตีนนมแม่เป็นชนิดที่ไม่แปลกปลอม จึงไม่ก่อให้เกิดการแพ้ เมื่อลูกกินนมแม่ก็จะทำให้ได้รับโปรตีนชนิดดี ย่อยง่าย และมีสารภูมิคุ้มกันที่จะไปเคลือบเยื่อบุลำไส้ เปรียบเหมือนเป็นการสร้างเกราะป้องกันลำไส้ให้กับลูกน้อยเพื่อลดอาการผื่นแพ้ในทารก ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
- นอกจากนี้ยังพบว่าในนมแม่มี 2’FL โอลิโกแซคคาไรด์ซึ่งเป็นพรีไบโอติกส์ชนิดที่พบมากที่สุดในนมแม่และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลายสายพันธุ์ เช่น บิฟิดัส บีแอล ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ โดยสังเกตได้จากทารกที่ได้รับนมแม่จะมีการเกิดภูมิแพ้น้อยกว่า และมีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า
ดังนั้น การได้รับนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดผื่นแพ้ในทารกที่อาจเกิดจากการแพ้นมวัว เพราะการได้รับนมแม่ทำให้ลดการสัมผัส โปรตีนแปลกปลอม เพิ่มปริมาณ secretory IgA
นมแม่จะกระตุ้นให้ระบบทางเดินอาหารมีกลไกการป้องกันโรคและช่วยให้ภูมิคุ้มกันมีการพัฒนาจนสมบูรณ์ได้รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามหากในครอบครัวมีประวัติภูมิแพ้ ควรให้นมแม่อย่างน้อยที่สุด 6 เดือนหรือนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อการดูแลที่เหมาะสมต่อไป