MyFeed Personalized Content
บทความ

PLAYING: ป้องกันโรคภูมิแพ้อย่างไรดี?

Add this post to favorites

ป้องกันโรคภูมิแพ้อย่างไรดี?

แม้ว่าพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูกจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าคุณจะไม่มีทางป้องกันลูกรักห่างไกลจากโรคภูมิแพ้ เรามีเทคนิคป้องกันโรคภูมิแพ้ในเด็กมาแนะนำ

2นาที อ่าน

ลูกบอบบางแค่ไหน... แม่ก็ปกป้องได้

 

เด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็กนั้น ระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการระคายเคืองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ง่าย เช่น มลภาวะ ฝุ่น ควัน หรือสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ อันเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ในเด็ก หรือลูกเป็นภูมิแพ้ไรฝุ่น แม้ว่าลูกจะบอบบางแค่ไหน หากคุณแม่รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ก็สามารถปกป้องลูกน้อยจากสาเหตุการแพ้ได้ค่ะ

 

รู้จักกับสารก่อภูมิแพ้สาเหตุของภูมิแพ้ในเด็ก

 

ภูมิแพ้ในเด็ก หรือโรคภูมิแพ้ในเด็ก เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งเป็นระบบกลไกที่มีหน้าที่ป้องกันร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมภายนอก เช่น เชื้อโรค สารเคมี ฝุ่น พืช ละอองเกสร ขนสัตว์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่มากระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ดังกล่าว เรียกว่า สารก่อภูมิแพ้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ และสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร

1. สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งพบทั้งในบ้านและนอกบ้าน โดยพบว่าสารก่อภูมิแพ้ในบ้านนั้นมีหลากหลายได้แก่ ไรฝุ่น เศษซากแมลงสาบ รังแคแมว และสุนัข ส่วนสารก่อภูมิแพ้นอกบ้าน ได้แก่ ละอองเกสรของดอกไม้ หรือ พืชต่างๆ สำหรับประเทศไทยไรฝุ่นเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ เศษซากแมลงสาบ รังแคแมวและสุนัข ตามลำดับ
2. สารก่อภูมิแพ้ในอาหาร คือ โปรตีนที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในอาหารชนิดนั้นๆ จะเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ นม ไข่ ถั่วลิสง ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วเหลือง แป้งสาลี อาหารทะเล งา เมล็ดพืช เป็นต้น โดยอาการแพ้จะมีการแสดงออกได้หลากหลายรูปแบบทั้งระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง และตา

 

Boy drinking milk

 

ทำอย่างไร? เมื่อลูกแพ้อาหาร

 

หากลูกอายุน้อยกว่า 6 เดือน และให้ลูกกินนมแม่ จะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เนื่องจากนมแม่มีสารที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับลูกน้อย แต่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ลูกแพ้ เช่น หากลูกแพ้ไข่ ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไข่ โดยพบว่าอาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไปจะไปสู่น้ำนมที่ให้ลูกน้อยรับประทานด้วย แต่ในกรณีที่คุณแม่ให้นมลูกน้อยไม่ได้ อาจมีสาเหตุมาจากภาวะร่างกายของคุณแม่ เช่น มีน้ำนมน้อย หรือคุณแม่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงอาหารที่ลูกแพ้ได้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที​

mother and baby playing together in living room

 

เมื่อลูกเป็นภูมิแพ้ไรฝุ่น

 

ไรฝุ่นเป็นสิ่งที่ก่อภูมิแพ้ในบ้านมากที่สุด ส่งผลให้ลูกเป็นภูมิแพ้ไรฝุ่น โดยห้องนอนเป็นบริเวณที่พบไรฝุ่นมากที่สุด โดยเฉพาะส่วนของเครื่องนอน ฟูก หมอน ผ้าห่ม พรม ผ้าทอต่างๆ เก้าอี้และโซฟา เมื่อพบว่าลูกเป็นภูมิแพ้ไรฝุ่น คุณแม่สามารถจัดการไรฝุ่นได้โดยวิธีการเหล่านี้ เช่น
- ทำความสะอาดห้องนอนเป็นประจำ ด้วยเครื่องดูดฝุ่นที่มีประสิทธิภาพสูง หรือ เช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด ร่วมกับคุมความชื้นในห้องนอน เปิดหน้าต่างสม่ำเสมอในพื้นที่ที่แห้ง หรือเปิดแอร์ในพื้นที่ที่มีความชื้น
- หลีกเลี่ยงแหล่งสะสมไรฝุ่นในห้องนอน เช่น หนังสือ ตุ๊กตามีขน พรม ฟูก
- เลือกผ้าใยสังเคราะห์ที่ทอแน่น ในการคลุมเครื่องนอน ห่อหุ้มหมอน ที่นอน ผ้าห่ม ผ้านวม
- ทำความสะอาดเครื่องนอนเป็นประจำด้วยน้ำเปล่าร่วมกับผงซักฟอก เป็นประจำทุก 1-2 สัปดาห์ และพบว่าการทำความสะอาดด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 60 องศาระยะเวลา 30 นาที ช่วยลดไรฝุ่นได้
- หากมีฟูกหนาๆ ให้นำไปตากแดดจัดนานกว่า 5 ชั่วโมง ทุก 2 สัปดาห์

เมื่อลูกน้อยยังบอบบาง อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ในเด็ก คือ ซากแมลงสาบพบมากสุดในห้องครัว นอกจากนี้สารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบมีความสัมพันธ์กับโรคหืดด้วย คุณแม่จึงต้องมีแผนควบคุมกำจัดอย่างเป็นระบบเพื่อประสิทธิภาพที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการใช้เหยื่อล่อแมลงสาบ การจัดการเศษอาหารหรือน้ำที่เป็นแหล่งอาหารของแมลงสาบ รวมไปถึงการทำความสะอาดบ้านเช็ดถูฝุ่นเพื่อขจัดสารก่อภูมิแพ้ ควรดูแลพื้นผิวของห้องน้ำหรือห้องครัวให้แห้งไม่มีน้ำขัง และปิดจุดช่องต่างๆ ภายในบ้านเพื่อปิดทางเข้าของแมลงสาบ หากลูกน้อยมีอาการเป็นโรคหืด การใช้สเปรย์เพื่อฆ่าแมลงสาบอาจทำให้ลูกน้อยมีอาการระคายเคืองจากกลิ่นของสารระเหยได้
และสาเหตุสุดท้ายที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ในเด็ก คือ รังแคของสัตว์เลี้ยง พบว่าแมวและสุนัข เป็นสัตว์เลี้ยงที่ก่อภูมิแพ้หลัก ซึ่งมาจาก ขน รังแค ปัสสาวะ หรือน้ำลายของสัตว์ ซึ่งมักลอยอยู่ในอากาศนานกว่าสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่น วิธีการจัดการที่มีประสิทธิภาพคือต้องนำสัตว์เลี้ยงออกจากบ้านหรือห้องที่ลูกน้อยอยู่เป็นประจำ หากสมาชิกในบ้านยังมีการเล่นกับสัตว์เลี้ยงอยู่บ้างก็จะมีโอกาสนำสารก่อภูมิแพ้เข้ามาในบ้านได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้พรม และจัดห้องให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก ใช้เครื่องกรองอากาศ ร่วมกับอาบน้ำสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
การดูแลลูกที่เป็นโรคภูมิแพ้ในเด็กนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่คุณพ่อจะต้องดูแลให้ครบองค์รวม นอกจากหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้แล้ว ก็ควรรับประทานยาตามคำสั่งของคุณหมอให้ครบถ้วน ดูแลสุขอนามัยของลูกน้อยให้ดี สนับสนุนให้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่เมื่อถึงวัยที่เหมาะสม คอยสังเกตอาการผิดปกติของลูกน้อยเพื่อให้บรรเทาอาการแพ้ของลูกน้อยนั่นเอง มีงานวิจัยพบว่าโรคภูมิแพ้บางประเภท สามารถหายได้เมื่อลูกน้อยโตขึ้น เช่น โดยส่วนใหญ่การแพ้ไข่จะหายไปเมื่อลูกอายุประมาณ 2-3 ปี หรือการแพ้นมวัวจะหายไปเมื่ออายุประมาณ 3-5 ปี ขณะที่การแพ้บางประเภทก็อาจจะเป็นไปตลอดชีวิต เช่น ถั่วประเภทต่างๆ หรือแป้งสาลี ซึ่งจะต้องดูแลและเฝ้าระวังติดตามไปตลอด
 

ตรวจทานความถูกต้องโดย ศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์

 

เอกสารอ้างอิง
- ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. Allergy. สืบค้นจาก http://www.thaipediatrics.org/pages/Doctor/Detail/44/198
- ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย (2555). แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษา โรคแพ้โปรตีนนมวัว (Cow milk Protein Allergy). ตีพิมพ์เมื่อ มีนาคม 2555
- สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย (2563) . แนวทางปฏิบัติในการป้องกันโรคภูมิแพ้ของประเทศไทย. สืบค้น จาก http://allergy.or.th/2016/pdf/AAIAT_Thai_Allergy_Prevention_Guideline_2…
- รศ.ดร. วิมล ศรีศุช (2554) .การแพ้อาหารในเด็ก...ข้อมูลสรุปสำหรับพ่อแม่มือใหม่. สืบค้นจาก https://bit.ly/3aRR89l